ญี่ปุ่น ดูดเงินเข้าประเทศ 300,000 ล้าน ด้วย อานิเมะ

ญี่ปุ่น ดูดเงินเข้าประเทศ 300,000 ล้าน ด้วย อานิเมะ

25 ม.ค. 2023
ญี่ปุ่น ดูดเงินเข้าประเทศ 300,000 ล้าน ด้วย อานิเมะ /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาวงการ “อานิเมะ” หรือ “การ์ตูนญี่ปุ่น” ในปี 1990 หรือระยะเวลาเพียง 30 กว่าปีเท่านั้นเอง
แต่มาในปี 2020 อานิเมะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับญี่ปุ่นมากถึง 316,000 ล้านบาท
โดยกว่า 9 ใน 10 เป็นรายได้มาจากต่างประเทศอีกด้วย
แล้วอานิเมะญี่ปุ่นมาถึงแสนล้านบาท ได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ต้องบอกอย่างนี้ว่า อานิเมะยังเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องที่มา ว่าเริ่มต้นจากในญี่ปุ่นเอง หรือได้รับวัฒนธรรมมาจากสหรัฐอเมริกาในภายหลัง
แต่ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน ยุคแรกของอานิเมะก็ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก เพราะเป็นช่วงเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นได้รับความเสียหายหนักมาก จากสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี

นั่นทำให้ ญี่ปุ่นจึงต้องไปเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยอุตสาหกรรมหนัก และการส่งออกก่อน
จนกระทั่งเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด
สามารถส่งออกสินค้าไปทั่วโลก สร้างแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของใช้ต่าง ๆ เครื่องจักร หรือสินค้าอุตสาหกรรม
ในปี 1960 การ์ตูนญี่ปุ่นถึงเริ่มมีชื่อเสียงในระดับโลกเป็นครั้งแรก และดังไกลไปถึงสหรัฐอเมริกา เช่น Astro Boy หรือเจ้าหนูอะตอม
ในเวลาต่อมา ก็มีบริษัทผลิตอานิเมะเกิดขึ้นอีกมากมาย อย่างเช่น Toei Animation ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง Dragon Ball, Sailor Moon หรือ One Piece
อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ญี่ปุ่นนั้นเกินดุลการค้าอย่างมหาศาล สร้างความไม่พอใจให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
จนในปี 1985 ญี่ปุ่นต้องยอมลงนามในข้อตกลง Plaza Accord กับสหรัฐอเมริกา เพื่อทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นนั้น แข่งขันในเวทีโลกได้น้อยลง จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่น ไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า
และอีกทางหนึ่ง ญี่ปุ่นต้องหาแหล่งทำเงินใหม่ เข้าประเทศ ซึ่งนั่นก็คือ “อานิเมะ”
โดยในช่วงปี 1990 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสนับสนุนอานิเมะอย่างเต็มที่ ด้วยการให้เงินพัฒนาคนในวงการ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
และยังส่งเสริมให้ใช้อานิเมะ เชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินตามรอยอีกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การจัดงานประกวดและงานจัดแสดงอานิเมะ เพื่อให้ธุรกิจในวงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน
ส่วนในฝั่งของธุรกิจเอง ก็มีการลดความเสี่ยงด้านการผลิตอานิเมะในแต่ละเรื่อง โดยใช้วิธีที่เรียกว่า “Production Committee”
โดยวิธีที่ว่านี้ เป็นการรวมเงินจากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงการ เช่น ธุรกิจผลิตอานิเมะ ธุรกิจเผยแพร่ ธุรกิจของเล่น เพื่อให้สามารถใช้ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ร่วมกันได้
ทำให้ต้นทุนของแต่ละธุรกิจลดลง และสามารถไปโฟกัสเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองถนัด นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างธุรกิจกันอีกด้วย
โดยปี 2020 ประเทศญี่ปุ่นสร้างรายได้จากอานิเมะสูงถึง 316,000 ล้านบาท และกว่า 9 ใน 10 เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ อานิเมะยังไม่ได้เป็นสินค้าหลักของญี่ปุ่น ที่ได้รับการสนับสนุนมากนัก
แต่พอญี่ปุ่นเจอปัญหาสินค้าส่งออกแข่งขันได้น้อยลง
อานิเมะจึงกลายมาเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นพยายามส่งเสริม ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ซึ่งก็เป็นบทเรียนที่น่าสนใจว่า หากเราพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากเพียงพอ ก็ยากที่คู่แข่งจะเข้ามาแย่งชิงไปได้อย่างง่าย ๆ
และเมื่อสินค้าอื่น ๆ ไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป การปรับตัวก็เป็นสิ่งจำเป็น ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.liveabout.com/early-origins-of-japanese-comics-2282750
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_manga
-http://yabai.com/p/2740
https://www.statista.com/statistics/1093754/japan-animation-industry-revenue-by-segment
-https://www.statista.com/statistics/1219242/japan-total-comics-market-size
-https://www.statista.com/statistics/1093754/japan-animation-industry-revenue-by-segment
-https://www.maximizemarketresearch.com/market-report/anime-market/124527/
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/view/13739/12393
-https://www.globenewswire.com/news-release
-http://isas.arts.su.ac.th/wp-content/uploads/2563/social/05600687.pdf
-http://facweb.cs.depaul.edu/noriko/JapanTrip08/JETRO-market_info_anime.pdf
-https://immortalliumblog.com/the-fascinating-world-of-anime-production-committees/
-http://anime-busience.jp/en/industry/index.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.