ทำไม IPO อาจเป็นดาบ 2 คม ของเจ้าของกิจการ

ทำไม IPO อาจเป็นดาบ 2 คม ของเจ้าของกิจการ

21 ก.พ. 2023
ทำไม IPO อาจเป็นดาบ 2 คม ของเจ้าของกิจการ /โดย ลงทุนแมน
หลายคนอาจจะมองว่าการที่เราปลุกปั้นธุรกิจให้เติบโต จนสามารถจดทะเบียนเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้นได้สำเร็จ จะเป็นเส้นชัย
แต่หากจะเทียบให้ตรงกว่านั้น มันก็จะเป็นเพียงเส้นชัยแรก ที่ยังมีอีกหลายเส้นชัยให้เราได้วิ่งต่อ ไม่ต่างอะไรไปจาก การวิ่งมาราธอน
เพราะแม้ว่าเราจะได้นามสกุลมหาชน และได้รับเงินระดมทุนมาแล้ว แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เราต้องแลกออกไปคือ “ความเป็นเจ้าของ” หรือสัดส่วนหุ้นในบริษัทของเราด้วย
วันนี้เรามาดูกันว่าทำไม
การ IPO อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อกิจการเสมอไป ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เหตุผลที่การ IPO ไม่ได้ดีเสมอไป ข้อแรกเลยก็คือ “เราจะสูญเสียความเป็นเจ้าของและกำไร”
การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น มีสิ่งที่ต้องแลกกับเงินทุนที่ได้รับก็คือ สัดส่วนความเป็นเจ้าของ
โดยความเป็นเจ้าของนั้น ก็อิงกับจำนวนหุ้นที่ถือ เท่ากับว่ากำไรต่อหุ้นที่เดิมทีเจ้าของกิจการมีสัดส่วนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะถูกลดทอนลงตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ถือเท่านั้น
หากเจ้าของเดิมต้องการได้ส่วนแบ่งกำไรมูลค่าเท่าเดิม กิจการก็จะต้องทำกำไรให้เติบโตขึ้น หรือก็คือ บริษัทต้องนำเงินที่ได้จากการระดมทุน มาขยายกิจการ เพื่อทำกำไรให้ได้มากขึ้น
แต่หากไม่สามารถสร้างผลกำไรให้เพิ่มมากขึ้นได้ เจ้าของเดิมก็จะได้ส่วนแบ่งกำไรน้อยลงกว่าที่เคยได้
อีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ “อำนาจในการบริหาร และกำหนดทิศทางของบริษัท”
จากเดิมที่เคยมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของกิจการได้อย่างเต็มที่ ก็ต้องเปลี่ยนระบบ และทำตามความคิดเห็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็จะอิงจากจำนวนสัดส่วนหุ้นที่ถือ
ในบางครั้ง ทิศทางของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ก็อาจไม่เป็นไปตามที่ผู้บริหารตั้งเอาไว้ เพราะจำเป็นต้องทำตาม “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจมากสุดในบริษัท
ต่อมาอีกข้อ ก็คือ “เราต้องเปิดเผยข้อมูลของกิจการ”
เดิมที หากเราเป็นกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย เราก็มีหน้าที่แค่รายงานงบการเงินเพียงปีละครั้งเท่านั้น
แต่หลังจากที่กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไปแล้ว กิจการจะต้องนำส่งงบการเงินทุกไตรมาส อีกทั้งข้อมูลที่ส่งไปก็มีมากขึ้น ลงรายละเอียดมากขึ้น
อย่างในตลาดหุ้นไทย เราก็จะมีเอกสารที่ต้องเผยแพร่หลายแบบ ทั้งต้องเล่าถึงโครงสร้างทั้งบริษัท
ต้องเล่าถึงความเสี่ยงของธุรกิจ คู่ค้ารายสำคัญ ไปจนถึงผลประกอบการของบริษัทว่ามีรายได้และกำไร แบ่งแยกตามธุรกิจเป็นอย่างไร มีต้นทุนจากการกู้ยืมเท่าไร
ทั้งยังต้องรายงาน คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า MD&A ทุกไตรมาสเพื่ออัปเดตต่อผู้ถือหุ้น และนักลงทุนว่าในช่วงไตรมาสนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง
แล้วถ้าบริษัทเติบโต ก็ต้องให้เหตุผลว่าเติบโตเพราะอะไร หรือถ้าบริษัทมีรายได้ลดลงมาก ก็ต้องอธิบายว่าเป็นเพราะอะไร
นอกจากนี้ เวลากิจการจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เช่น จะไปเข้าซื้อกิจการอะไร มูลค่าเท่าไร หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอะไร ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะทั้งหมด..
นั่นเท่ากับว่าคู่แข่งของเรา ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทของเรามากขึ้น รู้ไส้รู้พุงเราหมด เรื่องนี้ก็อาจจะทำให้ความได้เปรียบเดิมที่บริษัทเคยมี ลดลงได้ เมื่อเทียบกับตอนก่อนที่เราจะเข้าตลาดหุ้น
นอกเหนือจากที่เล่าไปแล้ว ก็ยังจะมีเรื่องของ “ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น” เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์
การ IPO ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะสามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้มากมาย เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
การปฏิบัติตามกฎของตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ค่าจ้างตรวจสอบภายใน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อปรับปรุงองค์กรให้เป็นไปตามมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์
ตัวอย่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน เช่น ค่าตรวจสอบบัญชีที่จากเดิมอาจอยู่เพียงหลักหมื่นบาท แต่เมื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็จะเพิ่มมาเป็นหลักล้านบาท..
ข้อสุดท้าย ก็คือ “ความเสี่ยงต่อการโดนเข้าครอบงำกิจการ”
การ IPO ก็เหมือนกับการเปิดบ้านให้หลายคนเข้ามาอยู่อาศัย และในบางครั้งอาจมีผู้อาศัยบางคน ที่คิดการใหญ่ อยากเป็นเจ้าของบ้านแทนเจ้าของเดิม หรือที่เรียกว่า อยากเข้าครอบงำกิจการ
ถ้าเป็นการพยายามเข้าครอบงำกิจการด้วยความเป็นมิตร มีกระบวนการเจรจา ขอความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นเดิม ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล
แต่ที่น่าเป็นกังวลคือ กรณีที่เป็นการพยายามเข้าครอบงำกิจการด้วยความไม่เป็นมิตร เช่น การทยอยซื้อหุ้นของบริษัทไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีใครสังเกตเห็น
และในวันที่ถือหุ้นมากพอในระดับหนึ่ง ก็อาจทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป จนกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางของบริษัทแทนที่ผู้ถือหุ้นเดิม
ซึ่งก็เปรียบเหมือนว่าเจ้าของบ้านเดิมนั้น ถูกลิดรอนสิทธิ์ในบ้าน และอาจถึงขั้นเปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้อยู่อาศัยแทนก็ได้
ดังนั้น ก่อนเข้า IPO เจ้าของเดิมควรกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นให้ดี ว่าต้องถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไร ถึงจะยังสามารถครองอำนาจการบริหารในบริษัทของตัวเองต่อไปได้
สรุปแล้ว แม้การ IPO จะเป็นท่าประจำของหลายธุรกิจ ที่ต้องการเติบโตต่อไปในอนาคต แต่มันก็อาจจะไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป
ดังนั้น เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเดิมจึงต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของการนำธุรกิจเข้าตลาดหุ้น คืออะไร
หากคำตอบของเรา มีอยู่ชัดเจน เราก็ไม่ต้องกังวลอะไร
แต่หากเรายังตอบตัวเราเองไม่ได้ การ IPO ก็อาจกลายมาเป็นดาบสองคมที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา ให้เรากังวลใจในภายหลัง
ซึ่งปัญหานี้มันอาจรุนแรงในระดับที่เราถูกครอบงำกิจการจากผู้อื่น ทั้งที่บริษัทนี้ เราสร้างมันขึ้นมา ด้วยตัวเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.longtunman.com/37924
-https://www.brandcase.co/30638
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_30Apr2022.aspx
-https://www.setsustainability.com/download/4ad56bri2ywlug3
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.