สินค้าเกษตรไทยเจอปัญหา เพราะทุกประเทศ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร

สินค้าเกษตรไทยเจอปัญหา เพราะทุกประเทศ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร

8 เม.ย. 2023
สินค้าเกษตรไทยเจอปัญหา เพราะทุกประเทศ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร /โดย ลงทุนแมน
ประเทศไทย สามารถผลิตสินค้าเกษตร ให้เพียงพอต่อความต้องการ และสามารถนำไปส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
แต่ในระยะหลัง หลายประเทศทั่วโลก ต่างพยายามสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยตนเองมากขึ้น จนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในบ้านเรา
แล้วการที่หลายประเทศ สร้างความมั่นคงด้านอาหารขึ้นมา ส่งผลกระทบต่อเราในมุมไหนบ้าง ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1. ด้านการส่งออก
เราทุกคนรู้ดีว่าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย
ในปีที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มนี้ มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท มากจนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในรายได้ที่สำคัญของประเทศ
แต่ในวันนี้ ผลจากการหยุดชะงักของการขนส่งในช่วงวิกฤติโรคระบาด
บวกกับราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้น จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ประเทศที่เคยนำเข้าสินค้าจากเราในราคาที่ไม่แพงเท่าไร ต้องจ่ายแพงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ หลายประเทศเลือกที่จะลดการนำเข้า และการส่งออกอาหาร
ยกตัวอย่าง จุดหมายปลายทางสำคัญ เรียกได้ว่าเป็นตลาดส่งออกหลักเลย ก็คือ “ประเทศจีน”
ประเทศจีน ได้เริ่มสนับสนุนการผลิตอาหารภายในประเทศ เพื่อบริโภคเองมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้า
โดย สี จิ้นผิง ก็ได้วางเป้าหมายไว้ว่าอาหารคนจีน ต้องอยู่ในมือของคนจีน บวกกับการใช้นโยบายในการกระจายการนำเข้าสินค้าเกษตรจากหลายประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
นอกจากจีนแล้ว อีกฟากหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ก็กำลังปฏิรูประบบอาหาร เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ เช่นกัน
แล้วเราส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง 2 ประเทศนี้ มากขนาดไหน ?
คำตอบก็คือ 600,000 ล้านบาท
มากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด ซึ่งก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่มีกำลังสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นของตัวเอง
เรียกได้ว่าเป็นอีกความท้าทาย และโจทย์ของภาคการเกษตรในบ้านเรา ที่จะต้องหาตลาดส่งออกใหม่ทดแทน หรือพัฒนาสินค้าของเราให้มีมูลค่ามากขึ้นให้ได้
ไม่เช่นนั้นรายได้ที่เราเคยได้ อาจจะหายไปอย่างถาวร
2. ความเสี่ยงในด้านการนำเข้า
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า นอกจากการส่งออกแล้ว ไทยเรายังมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าสินค้าเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวข้องหลายรายการ ในส่วนที่เราขาดแคลน
ทั้งเพื่อการนำมาบริโภค ตลอดจนเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าอื่นต่อไป
อย่างเช่น เมล็ดถั่วเหลือง ที่เราจำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อใช้ผลิตน้ำมันพืช หนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย
หรือแม้แต่ ปุ๋ยเคมี ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทำการเกษตรนั้น
เราก็ต้องนำเข้ามามากถึง 90% ของปริมาณปุ๋ยเคมีทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ
โดยในปีที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวข้องราว 640,000 ล้านบาทต่อปี
โดยความเสี่ยงที่เราต้องแบกรับไว้ คือ การที่หลายประเทศทั่วโลก เป็นไปได้ว่าจะมีมาตรการระงับ หรือชะลอการส่งออก เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนอาหารภายในประเทศ
ซึ่งได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ในช่วงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ผ่านมา ที่มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ระงับการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ
ผลที่ตามมาก็คือ ห่วงโซ่สินค้าเกษตรหยุดชะงัก จนราคาสินค้าอาหารแพงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารสูง
สรุปแล้ว ก็ดูเหมือนว่าหลายประเทศทั่วโลก นำโดยยักษ์ใหญ่สุดอย่าง สหรัฐอเมริกากับจีน เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร หรือเกษตรกรรมมากขึ้น
ซึ่งก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เราต้องปรับตัวตามเช่นกัน
เพราะที่ผ่านมาเรามีการพึ่งพา ทั้งการนำเข้าและการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม
หากเราไม่มีการปรับตัว หรือปรับตัวได้ไม่ทัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเรา ก็จะมีมูลค่ามหาศาล และจะส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคการเกษตร อีกหลายล้านชีวิต..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.