สรุป รัฐบาลแจกเงิน ดีหรือเสีย ต่อเศรษฐกิจ

สรุป รัฐบาลแจกเงิน ดีหรือเสีย ต่อเศรษฐกิจ

13 เม.ย. 2023
สรุป รัฐบาลแจกเงิน ดีหรือเสีย ต่อเศรษฐกิจ /โดย ลงทุนแมน
ตอนนี้เป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ที่มีหลายพรรคการเมือง กำลังออกนโยบายที่เกี่ยวกับการแจกเงินให้กับประชาชน
บางพรรคจะแจกให้ประชาชนทุกคนที่อายุมากกว่า 16 ปี คนละ 10,000 บาท แต่จำกัดว่าต้องใช้ภายใน 4 กิโลเมตรรอบที่อยู่ตามบัตรประชาชน
บางพรรคเลือกแจกเฉพาะกลุ่ม ให้เดือนละ 1,000 บาท โดยไม่จำกัดระยะทาง
ตอนนี้คำถามที่หลายคนสงสัย ก็คงจะเป็น
1. รัฐแจกเงินแบบนี้ แจกได้ด้วยเหรอ รัฐจะมีต้นทุนที่ต้องชดใช้ตามมาหรือไม่ ?
2. ด้วยเงินก้อนเดียวกันนี้ ถ้านำไปทำอย่างอื่น จะได้ผลที่ดีกว่าการแจกเงินหรือไม่
3. เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างไร กับนโยบายเหล่านี้
เริ่มที่เรื่องแรก รัฐนำเงินที่ไหนมาแจก เงินนี้มีต้นทุนไหม ?
แน่นอนว่า รัฐต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย การที่รัฐเอาเงินมาแจก มันก็แปลว่ารายการนี้จะเป็นรายจ่ายของภาครัฐ
เรามาดูตัวเลขกัน ในปี 2565 รัฐบาลไทยมีรายรับสุทธิที่ 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากการเก็บภาษีอากร
สำหรับนโยบายการแจกเงินเหล่านี้จะใช้เงินประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าคิดง่าย ๆ  ก็ประมาณ 20% ของรายรับสุทธิของรัฐในปีที่แล้ว
ซึ่งถ้าถามว่าพอจะจ่ายได้ไหม ก็น่าจะทำได้ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้
1.รัฐต้องมีรายได้มากขึ้น
2.รัฐต้องนำงบประมาณจากส่วนอื่นมาจ่าย
3.รัฐต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อมาจ่าย ในกรณีที่รายได้ของรัฐไม่มากขึ้น และไม่ตัดงบประมาณส่วนอื่น
รัฐบาลสามารถหารายได้เพิ่ม เช่น การขึ้นอัตราภาษีได้ทั้งจากเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิต ที่เก็บจาก น้ำมัน รถยนต์ เหล้า เบียร์
หรือรัฐสามารถลดงบประมาณกระทรวงอื่น ๆ เพื่อมาจ่าย เช่น ลดงบกระทรวงกลาโหม 500,000 ล้าน เพื่อมาแจกเงินให้ทุกคนคนละ 10,000 บาท (แค่ยกตัวอย่างเท่านั้น)
นอกจากนั้น รัฐบาลก็สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ ตราบเท่าที่ยังต่ำกว่าเพดานหนี้ ปัจจุบันเพดานหนี้สาธารณะไทยถูกขยับขึ้นจาก 60% เป็น 70% ของ GDP ไปเมื่อ ปี 2021 เป็นการชั่วคราว 10 ปี
ซึ่งตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุดของไทยอยู่ที่ 61% และ GDP ไทยอยุ่ 17.4 ล้านล้านบาท
ถ้าให้คิดว่าไทยก่อหนี้เพิ่ม 5 แสนล้านบาทจากโครงการนี้ ก็จะทำให้ หนี้สาธารณะไทยขยับขึ้น 3% ของ GDP เป็น 64% ของ GDP ซึ่งก็ยังอยู่ต่ำกว่าเพดานหนี้
สรุปแล้ว รัฐสามารถหาเงิน 500,000 ล้านบาทมาแจกประชาชนได้ ตัวเลขนี้ถึงแม้จะดูมากก็จริง แต่เป็นตัวเลขที่สามารถจัดการได้ เมื่อเทียบกับฐานะทางการเงินของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน
แต่ทั้งนี้ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ว่าเป็นการ “แจกครั้งเดียว” เพราะถ้ารัฐบาลแจก รัว ๆ แจกแบบนี้อีกแค่ 2 ครั้ง ก็อาจทำให้ติดเพดานหนี้สาธารณะแล้ว
ดังนั้นต้องระวังไว้ว่า รัฐแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าแจกรัว ๆ จะทำให้ถังแตก ได้เหมือนกัน
และนอกจากนั้นการที่ให้ทุกคนมีอุปสงค์ (Demand) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถเพิ่มอุปทาน (Supply) ได้ทัน ก็จะทำให้ราคาสินค้าบริการปรับตัวสูงขึ้น และทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ
ดังนั้นการแจกเงิน ต้องระวังเงินเฟ้อด้วย เพราะถ้ามีเงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยตามมา ซึ่งมันจะทำให้ต้นทุนการเงินของทุกคนในประเทศสูงขึ้น
นอกจากเงินเฟ้อแล้ว การเพิ่มอุปสงค์เทียมเพียงชั่วคราว ก็อาจทำให้ผู้ผลิต ที่วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตต้องประสบปัญหาว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินหลังจากอุปสงค์เทียมหมดไป ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตขาดทุนได้
มาถึงคำถามข้อที่ 2
ด้วยเงินก้อนเดียวกันนี้ ถ้านำไปทำอย่างอื่น จะได้ผลที่ดีกว่าการแจกเงินหรือไม่
คำตอบของข้อนี้มีได้หลายรูปแบบ ซึ่งการวัดว่าดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับ “จุดประสงค์” ว่าเราต้องการอะไร ? และถามคำถามนี้กับใคร ?
จากข้อที่หนึ่งเราได้เข้าใจแล้วว่าการแจกเงิน ก็คือ การเอาเงินภาษีที่รัฐบาลเก็บได้มาแจก
ถ้าถามคนที่ไม่ได้จ่ายภาษี หรือคนที่อยู่นอกระบบ เขาก็อาจจะบอกว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะเขาจะได้เงินเพิ่ม
แต่ถ้าถามคนในระบบที่จ่ายภาษี ก็อาจจะรู้สึกว่า เงินภาษีที่เขาจ่ายไป มันถูกนำไปแจกให้กับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เสียภาษี ถึงแม้ว่าตัวเขาเองจะได้เงินที่แจกด้วย แต่ก็อาจคิดว่ารัฐน่าจะเอาเงินไปทำอย่างอื่น ที่ตัวเขาเองจะได้ประโยชน์มากกว่านี้
ต่อมาก็คือเรื่องจุดประสงค์
ถ้าวัดจากจุดประสงค์ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบให้ทุกคนได้เงินแบบเท่าเทียมกัน หรือความต้องการเป็นรัฐสวัสดิการ การแจกเงินก็อาจตอบจุดประสงค์นี้ มากกว่าการเอาเงินไปลงทุนในโครงการอื่น ๆ ที่จะเห็นผลช้า และไม่ตรงประเด็น
แต่สุดท้ายก็อาจทำให้หลายคนยังสงสัยอยู่ดีว่า จุดประสงค์เหล่านี้ มันยั่งยืนกว่าการนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการที่จะสร้างผลประโยชน์ที่มากกว่าในระยะยาวหรือไม่
ข้อสุดท้าย แล้วการแจกเงินจะได้ผลดีทางเศรษฐกิจแค่ไหน ?
เรื่องนี้คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับคนที่ได้รับเงิน ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ?
แน่นอนว่าถ้าคนรับเงินนำเงินไปเก็บไว้ในธนาคารเฉย ๆ มันจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อเศรษฐกิจ
ดังนั้นโดยทั่วไป รัฐก็มักกำหนดว่าต้องนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ
และถ้าถามว่าตัวชี้วัดเศรษฐกิจดีคืออะไร ตัวนั้นก็คือ GDP ซึ่งถ้าคนที่ได้รับเงินนำเงินไปทำสิ่งเหล่านี้ ก็จะส่งผลต่อ GDP ให้ปรับตัวขึ้นได้
1.นำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (ตัว C ใน GDP)
2.นำเงินไปลงทุนเพื่อการผลิต (ตัว I ใน GDP)
3.นำเงินไปลดภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นจ่ายน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือคืนหนี้ เพื่อให้มีเงินเหลือไปทำ 2 ข้อแรกมากขึ้น
ถ้าลองนึกภาพตาม เมื่อ คุณป้า คุณลุง ที่อยู่ทั่วประเทศไทย ได้เงิน เราคิดว่า จะเอาเงินนั้นไปทำอะไร
1.ถ้าคุณป้าเอาเงินไปคืนหนี้จนหมด พอคุณป้ามีรายได้ก็ไม่ต้องไปเสียดอกเบี้ยเงินกู้ แต่เอาเงินไปซื้อขนมให้ครอบครัวแทน แบบนี้คือเพิ่ม GDP ที่ตัว C
2.ถ้าคุณป้าเอาเงินไปลงทุนซื้ออุปกรณ์การทำส้มตำเพื่อเปิดร้านขาย แบบนี้คือเพิ่ม GDP ที่ตัว I
3.ถ้าคุณป้าเอาเงินไปซื้อหวย หรือเล่นการพนัน แบบนี้คือไม่เพิ่ม GDP
ดังนั้น สรุปแล้ว สิ่งสำคัญกว่าการแจกเงินของรัฐก็คือ การกำหนดเกณฑ์ และให้ความรู้กับคนที่ได้รับเงินว่า ควรนำเงินนั้นไปทำอะไร
เพราะถ้าเงินนั้นถูกนำไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วมันจะมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ Multiplier Effect ซึ่งก็คือ การที่เงินนั้นถูกนำไปใช้ต่อเป็นทอด ๆ เช่นคนขายอุปกรณ์ส้มตำให้ป้า ก็เอาเงินไปซื้อสินค้าอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐควรควบคุมก็คือ การควบคุมให้คนที่ได้ประโยชน์จากการแจกเงินครั้งนี้ ไม่กระจุกตัวอยู่แค่รายใหญ่คนใดคนหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น ถ้ากำหนดว่าใช้เงินเพื่อสินค้าในระยะทาง 4 กม. ภาพที่ทุกคนคิดขึ้นมาในหัวทันทีว่าใครได้ประโยชน์ที่สุด ก็คงหนี้ไม่พ้น 7-Eleven..
ถ้ารัฐไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ป้องกันเรื่องเหล่านี้ และทำให้คนที่ได้ประโยชน์มากสุดจากการแจกเงิน กลับเป็นบริษัทเพียงไม่กี่บริษัท ก็จะมีข้อสงสัยได้ว่าทำเพื่อนายทุนหรือไม่
แต่เรื่องนี้มันก็ซับซ้อน และน่าจะแก้ได้ยาก เช่นถ้ากำหนดว่าห้ามซื้อสินค้าจากบริษัทใหญ่ ให้ซื้อจากร้านขายของชำเท่านั้น แต่ร้านขายของชำเหล่านี้ก็ไปซื้อสินค้ามาจาก​ Makro ซึ่งมีเจ้าของเป็นบริษัทเดียวกับ 7-Eleven อยู่ดี..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.