รู้จัก “ค่าความพร้อมจ่าย” ต้นทุนค่าไฟ แม้ไม่ใช้ ก็ต้องช่วยจ่าย

รู้จัก “ค่าความพร้อมจ่าย” ต้นทุนค่าไฟ แม้ไม่ใช้ ก็ต้องช่วยจ่าย

19 เม.ย. 2023
รู้จัก “ค่าความพร้อมจ่าย” ต้นทุนค่าไฟ แม้ไม่ใช้ ก็ต้องช่วยจ่าย /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า ค่าไฟฟ้าในบิลของเราทุกวันนี้ มีค่าใช้จ่ายรายการหนึ่ง เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่เราต้องจ่ายเพิ่มเข้าไป เป็นประจำทุกเดือน
วันนี้ เรามาดูกันว่า ค่าใช้จ่ายนี้คืออะไร
ทำไม เราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เริ่มกันที่ผู้เล่นหลักในการจัดจำหน่ายไฟฟ้าในบ้านเรา ก็จะมี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT เป็นผู้ผลิต และรับซื้อไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่
- การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าได้เอง ราว 34% ส่วนที่เหลือก็จะรับมาจาก
- ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ 34%
- ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก 19%
- นำเข้าจากต่างประเทศ 13%
หลังจากนั้น ก็จะจำหน่ายให้กับ กฟน. และ กฟภ. โดยทั้ง 2 องค์กรนี้ ก็จะจำหน่ายไฟฟ้า และเรียกเก็บบิลจากเรา
โดยค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายนั้น ก็จะประกอบไปด้วย 4 ส่วน แบ่งออกเป็น
1. ค่าไฟฐาน
คือ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า เช่น
ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบ สายส่ง สายจำหน่าย และการผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมถึงเงินสมทบกองทุน
2. ค่าบริการ
คือ ต้นทุนในการอ่านและจดหน่วย การจัดทำและส่งบิลค่าไฟฟ้า ระบบรับชำระค่าไฟฟ้า
3. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า FT
คือ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของการไฟฟ้า ซึ่งจะมีการปรับทุก ๆ 4 เดือน
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจ่ายให้ กฟน. และ กฟภ.
อย่างไรก็ตาม กฟน. และ กฟภ. ต้องไปรับซื้อไฟจาก กฟผ. ซึ่ง กฟผ. จ่ายเงินให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าอีกที
เราหลายคนอาจจะคิดว่า กฟผ. จะมีการจ่ายเพียงแค่ค่าไฟฟ้าตามปริมาณ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น
เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่ง ที่แม้โรงไฟฟ้าบางแห่งจะไม่มีการผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบ แต่ กฟผ. ก็ต้องจ่ายให้ นั่นก็คือ “ค่าความพร้อมจ่าย”
แล้วมันคืออะไร ?
ค่าความพร้อมจ่าย เป็นค่าใช้จ่ายที่ กฟผ. จะจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ที่ประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากับ กฟผ. ในการเตรียมความพร้อม สำหรับส่งไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. ซึ่งทั้งหมดจะถูกนับเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ
โดยค่าความพร้อมจ่าย จะครอบคลุมตั้งแต่
- ค่าก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงการชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย
- เงินกู้ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายคงที่อื่น ๆ
- ค่าใช้จ่ายในการบริหาร
- ผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้น
ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายส่วนนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในค่าไฟฟ้าของเรา เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับการที่เรา เช่ารถยนต์มาใช้งาน โดยมีสิ่งที่เราต้องจ่าย คือ ค่าเช่ารถรายเดือน และค่าน้ำมัน
ซึ่งค่าน้ำมันจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน แต่ค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียแน่ ๆ แม้จะไม่ได้ขับขี่ไปไหนเลย ก็คือ ค่าเช่ารถ หรือค่าความพร้อมจ่ายนั่นเอง
ประเด็นของเรื่องนี้ ก็คือ ค่าความพร้อมจ่ายที่เสียไปในแต่ละเดือน คุ้มค่าหรือไม่
โดยหากเราไปดูกำลังการผลิตไฟฟ้าคงเหลือของประเทศไทย ใน 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละปี ย้อนหลัง 3 ปี
- ปี 2563 28,637 เมกะวัตต์
- ปี 2564 30,135 เมกะวัตต์
- ปี 2565 32,255 เมกะวัตต์
กำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ย้อนหลัง 3 ปี
- ปี 2563 46,480 เมกะวัตต์
- ปี 2564 46,682 เมกะวัตต์
- ปี 2565 49,099 เมกะวัตต์
ถ้าดูจากความต้องการใช้พลังงานสูงสุดในแต่ละปีแล้ว จะเห็นว่า ประเทศเรายังมีกำลังการผลิตเหลือใช้ในระดับหนึ่ง
คนส่วนใหญ่จึงกลับมาตั้งคำถามว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่เตรียมไว้ เหมาะสมหรือไม่
แม้ว่าโรงไฟฟ้าบางแห่งที่เป็นคู่สัญญา จะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบ แต่ กฟผ. ก็ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้อยู่ดี
ถ้ากำลังการผลิตเหลือใช้มากเกินไป ก็จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น จากต้นทุนแฝงที่มาในรูปของค่าความพร้อมจ่าย
อย่างเช่นในปี 2563 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งหมด เดินเครื่องเฉลี่ยเพียง 35% ของเวลาทั้งปี แต่ กฟผ. ยังต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายดังกล่าว ให้กับผู้ผลิตกว่า 9,166 ล้านบาท
ซึ่งถ้าประเทศไทยมีการควบคุมกำลังการผลิตส่วนเกินให้เหมาะสม ก็อาจจะช่วยลดค่าไฟฟ้าของประชาชนให้ถูกลงได้
ซึ่งก็ต้องทำให้สมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน กับการเผื่อกำลังการผลิตไว้เยอะเกินไป
แล้วทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาสูง ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามากเท่าที่ผลิตได้ ก็ตาม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.egat.co.th/home/statistics-all-latest/
-https://www.eppo.go.th/images/Power/pdf/FT-history/FiT_2558.pdf
-https://www.egat.co.th/home/wp-content/uploads/2022/06/EGAT-Annual-2021_2022-06-22.pdf
-https://www.egat.co.th/home/statistics-demand-annual/
-https://www.egat.co.th/home/20220723-pre01/
-https://www.facebook.com/355457518354837/posts/895295124371071/
-https://www.mea.or.th/content/detail/2985/2987/471
-https://www.egat.co.th/home/statistics-all-annual/
-https://www.mea.or.th/upload/download/file_d08ca0f19da6e000bfddbfb1d0761698.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.