อุตสาหกรรมต่อเรือ ของเกาหลีใต้ เป็นอันดับ 1 ของโลก

อุตสาหกรรมต่อเรือ ของเกาหลีใต้ เป็นอันดับ 1 ของโลก

12 พ.ค. 2023
อุตสาหกรรมต่อเรือ ของเกาหลีใต้ เป็นอันดับ 1 ของโลก /โดย ลงทุนแมน
เรือตู้คอนเทนเนอร์ “Madrid Maersk” ของบริษัท Maersk สัญชาติเดนมาร์ก
ความยาว 399 เมตร ขนาดบรรทุก 210,000 ตัน
สร้างโดยบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering (DSME) ของเกาหลีใต้
เรือ “Ever Ace” ของบริษัท Evergreen จากไต้หวัน
ความยาว 400 เมตร ขนาดบรรทุก 230,000 ตัน
ก็สร้างโดยบริษัท Samsung Heavy Industries (SHI) ของเกาหลีใต้เช่นกัน
SHI ของเกาหลีใต้ ยังเป็นผู้สร้าง “Prelude FLNG” คลังเก็บก๊าซธรรมชาติกลางทะเล ของบริษัท Shell
ความยาว 488 เมตร สูง 105 เมตร ซึ่งถือเป็นสิ่งก่อสร้างลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกด้วย
รู้หรือไม่ว่า จากข้อมูลของ Clarkson Research Services ในปี 2020 เกาหลีใต้ถือเป็นอันดับ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมต่อเรือ โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ราว 44%
เกาหลีใต้ทำอย่างไร ถึงก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก ในอุตสาหกรรมนี้ได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ประเทศที่เป็นผู้นำในการต่อเรือ ได้ผลัดเปลี่ยนมือกันมาเรื่อย ๆ ไล่มาตั้งแต่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น จนมาเป็นเกาหลีใต้ในปัจจุบัน
สำหรับที่มาของอุตสาหกรรมต่อเรือของเกาหลีใต้
ต้องย้อนกลับไปในปี 1910
ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลียังไม่ได้แบ่งแยกประเทศ
และเป็นสมัยที่ญี่ปุ่นยังปกครองเกาหลีอยู่
ญี่ปุ่นได้พัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือขึ้นตามเมืองท่าสำคัญ เช่น ปูซาน และอินชอน
แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี 1945 ทำให้ประเทศเกาหลี ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ซึ่งก็คือเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้
โดยหลังจากเกาหลีใต้เป็นอิสระจากญี่ปุ่น ทำให้กิจการต่าง ๆ รวมถึงอู่ต่อเรือทั้งหลายในประเทศ กลับมาอยู่ในมือของชาวเกาหลีใต้อีกครั้ง
นอกจากนั้นเกาหลีใต้ยังได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและทางทหาร เพราะสหรัฐฯ เห็นว่าเกาหลีใต้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์
ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเติบโต รวมถึงกลุ่มแชโบล นำโดยบริษัทอย่าง Hyundai, Samsung และ Daewoo ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วย
หลังจาก ปัก ชอง-ฮี ทำรัฐประหาร ในปี 1961 และขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น
ซึ่ง ปัก ชอง-ฮี ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ที่นำพาเกาหลีใต้ไปสู่ยุคอุตสาหกรรม และเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้การส่งออกเป็นหลัก
มีนโยบายกระตุ้นอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท
ผ่านการจัดสรรเงินทุน จากเหล่าสถาบันการเงิน
โดยหนึ่งในนโยบายการกระตุ้นอุตสาหกรรม ก็รวมไปถึง “กฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือ” ที่บัญญัติขึ้นในปี 1967
ทำให้นับตั้งแต่ปี 1967 อุตสาหกรรมต่อเรือ
ก็มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเราสามารถสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
1. รัฐบาลผลักดันให้เปลี่ยนจากการต่อเรือไม้ เป็นการต่อเรือเหล็ก มากขึ้น
2. พัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ควบคู่ไปกับการต่อเรือ
จากที่ในระยะแรกเกาหลีใต้ต้องนำเข้าวัตถุดิบ และอุปกรณ์จากต่างประเทศทั้งหมด
แต่ภายหลังบริษัทอย่าง Hyundai ก็ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลรายใหญ่ของโลก
ขณะที่ Samsung ก็มีความชำนาญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบนำทางสำหรับใช้ในเรือ
ประกอบกับเกาหลีใต้ยังเป็นผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้ารายสำคัญของโลก จนทำให้ปัจจุบันอู่ต่อเรือของเกาหลีใต้ ใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์จากในประเทศ มากกว่า 80%
3. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการออกแบบเรือ โดยร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัย และบริษัทด้านวิศวกรรมการต่อเรือ
ทำให้เกาหลีใต้พัฒนาจาก การรับจ้างต่อเรือ จนมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และยังสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปจนถึงขั้นออกแบบเรือเองได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ ทำให้ในปี 1979 หรือเพียง 12 ปี นับจากออกกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือ
เกาหลีใต้ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ญี่ปุ่น และแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างเด็ดขาด ได้ในปี 2004
เราลองมาดู 3 บริษัทใหญ่สุด ในอุตสาหกรรมต่อเรือ ของเกาหลีใต้ หรือที่เรียกว่า “Big Three” กัน
1. Hyundai Heavy Industries (HHI)
ถือเป็นบริษัทใหญ่ของเกาหลีใต้เจ้าแรก ที่เข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเรือ ในปี 1972 และเป็นอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดพื้นที่ราว 7.2 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่เทียบเท่ากับเขตราชเทวี ในกรุงเทพฯ
2. Samsung Heavy Industries (SHI)
ตามเข้ามาในปี 1974 และจนถึงปัจจุบัน SHI ได้ส่งมอบเรือไปแล้วมากกว่า 1,200 ลำ
รวมถึงเป็นบริษัทผู้สร้าง “Prelude FLNG” คลังเก็บก๊าซธรรมชาติกลางทะเล ของบริษัท Shell ความยาว 488 เมตร สูง 105 เมตร ซึ่งถือเป็นสิ่งก่อสร้างลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
3. Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering (DSME) ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 โดยลูกค้าของ DSME ก็คือบริษัทเดินเรือสินค้าชื่อดังมากมาย เช่น Maersk, MSC, CMA CGM และ Hapag-Lloyd
นอกจากนี้ DSME ยังสร้างเรือรบและเรือดำน้ำ ให้กับกองทัพเรือของสหราชอาณาจักร และอินโดนีเซียเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การต่อเรือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าก็จะได้เปรียบ
ซึ่งในตอนนี้ ประเทศที่มีความพร้อม ทั้งด้านต้นทุนแรงงาน รวมถึงงบประมาณ, ภูมิศาสตร์, การค้า และเทคโนโลยี คงหนีไม่พ้นประเทศใหญ่อย่าง “จีน”
ซึ่งที่ผ่านมา จีนก็ได้รับคำสั่งต่อเรือใหม่ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนเราอาจพูดได้ว่า ในวันนี้
จีนกำลังเบียดแย่งอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมต่อเรือกับเกาหลีใต้ เหมือนกับที่เกาหลีใต้เคยเบียดญี่ปุ่นในอดีตนั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Evergreen_A-class_container_ship
-https://en.wikipedia.org/wiki/Madrid_Maersk
-https://en.wikipedia.org/wiki/Prelude_FLNG
-https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/12/Shipbuilding_Industry_in_South_Korea.pdf
-https://kmc.exim.go.th/detail/knowledge-exim/20190702185436659
-https://mgronline.com/daily/detail/9480000006994
-https://www.manifoldtimes.com/news/feature-the-amazing-founding-story-of-hyundai-heavy-industries/
-https://overseas.mofa.go.kr/no-en/brd/m_21237/view.do?seq=135&srchFr=&srchTo=&srchWord=&srchTp=&multi_itm_seq=0&itm_seq_1=0&itm_seq_2=0&company_cd=&company_nm=
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.