“The Echo Nest” การลงทุนระบบแนะนำเพลง 3,000 ล้าน ของ Spotify

“The Echo Nest” การลงทุนระบบแนะนำเพลง 3,000 ล้าน ของ Spotify

31 พ.ค. 2023
“The Echo Nest” การลงทุนระบบแนะนำเพลง 3,000 ล้าน ของ Spotify /โดย ลงทุนแมน
แม้ว่าสงคราม แอปสตรีมเพลง จะดูเป็นอีกทะเลเลือด ที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ทั้ง Apple, Amazon, Tencent และ YouTube ต่างเข้ามาแข่งขัน
แต่ Spotify บริษัทที่ก่อตั้งมาเพื่อทำเพียงแอปสตรีมมิงเพลงยังคงอยู่รอด แถมปัจจุบัน มียอดผู้ใช้งาน ทะลุ 500 ล้านบัญชี และยังครองส่วนแบ่ง มากสุดในโลก
วันนี้เรามาดูกันว่า เพราะอะไร Spotify ถึงยังคงแข่งขันกับรายใหญ่ได้อย่างสูสี ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ข้อได้เปรียบของ Spotify นอกจากจะเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสตรีมเพลง การนำระบบ Freemium มาให้บริการ และคลังเพลงหลากหลาย บวกกับคอนเทนต์พิเศษแล้ว
อีกสิ่งสำคัญที่แอปนี้ ยังคงดึงดูดผู้ใช้งานได้ดีมาโดยตลอดเลย ก็คือ “ระบบแนะนำ” ที่สามารถทำได้ตรงใจผู้ใช้งาน
โดยระบบแนะนำดังกล่าว เกิดจากการเอาข้อมูลผู้ใช้งานมาวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งาน ซึ่งมีเบื้องหลัง ก็คือ The Echo Nest บริษัทที่สามารถตีค่าอารมณ์ของเพลงออกมาเป็นตัวเลข เพื่อนำมาวิเคราะห์
แล้วบริษัทนี้ เกี่ยวอะไรกับ Spotify ?
ก็ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว Spotify ได้เข้าซื้อกิจการ The Echo Nest ไปตั้งแต่ในปี 2014 หรือราว 9 ปีก่อน ด้วยมูลค่าราว 3,500 ล้านบาท
โดยจุดเด่นของ The Echo Nest จะเป็นการวิเคราะห์ตั้งแต่อารมณ์เพลง ไปจนถึงพฤติกรรมของคนฟัง
- ด้านของอารมณ์เพลง
The Echo Nest มีตัวคัดกรองที่เรียกว่า Content-based Filtering หรือการวิเคราะห์ในเชิงเนื้อหาของเพลง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเพลง ไปจนถึงการวิเคราะห์เสียง
โดยการวิเคราะห์เนื้อเพลงนั้น The Echo Nest จะนำคำหรือประโยคในเพลง ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื้อหานั้นให้ความรู้สึกแบบไหน ผ่านบทความและบล็อกต่าง ๆ
- ด้านการวิเคราะห์เสียง
The Echo Nest ก็ลงลึกไปในทุก ๆ ส่วน และมีการให้คะแนน ตั้งแต่ 0 ถึง 1 ผ่าน 3 หมวดหลัก แบ่งออกเป็น
- Valence ใช้วัดว่าเพลงนั้นเป็นเพลงเศร้าหรือสนุก
- Danceability ใช้วัดจังหวะของเพลงว่าเหมาะสำหรับการเต้นมากแค่ไหน
- Energy ใช้วัดว่าเพลงมีความตื่นตัว หนักแน่นมากแค่ไหน
โดยคะแนนในแต่ละหมวดก็จะถูกนำมาสรุปว่า เพลงนั้น ๆ ให้อารมณ์แบบไหนในการฟัง
ซึ่งถ้าเราฟังเพลงนั้นซ้ำ ๆ หรือชอบฟังเพลงแนวไหน ระบบก็จะเข้าใจได้โดยอัตโนมัติว่า เราเป็นคนชอบแนวเพลงเร็ว ช้า เศร้า หรือสนุก ในระดับไหน
นอกจาก Content-based Filtering แล้ว The Echo Nest ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Collaborative Filtering ที่ใช้วิเคราะห์เพลงที่มักจะถูกนำไปใส่ในเพลย์ลิสต์ด้วยกัน เช่น
คนที่เพิ่มเพลง A ในเพลย์ลิสต์ มักจะเพิ่มเพลง B เข้าไปด้วย ซึ่งก็หมายความว่า คนที่ฟังเพลง A ก็มีแนวโน้มที่จะชอบฟังเพลง B เหมือนกัน
นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ เช่น วันที่ปล่อยเพลง ซึ่งก็จะเห็นได้ผ่านหมวด New Releases ไปจนถึงค่ายเพลงว่าเป็นค่ายไหน ชื่อเสียงเป็นอย่างไรเลยทีเดียว
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเคล็ดลับในการเลือกเพลงให้ตรงใจคนฟังของ Spotify
อย่างไรก็ตาม การแนะนำเพลงของ Spotify ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง
เรื่องแรกก็คือ ศิลปินหน้าใหม่จะยังไม่มีประวัติข้อมูลให้อัลกอริทึมของ Spotify นำมาวิเคราะห์ได้
แม้ว่าศิลปินหน้าใหม่นี้จะเป็นศิลปินที่ทำเพลงได้ดี เริ่มเป็นกระแส และกำลังฮิตก็ตาม ซึ่งจุดนี้ Spotify ก็มองว่าเป็นจุดบอด และยังต้องใช้คนมาช่วยเลือกอยู่ดี
นอกจากนั้น ก็ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมดนตรีที่แตกต่าง ซึ่งอาจทำให้อัลกอริทึมที่ถูกออกแบบ บนฐานข้อมูลของชาวตะวันตกจับทางได้ไม่ถูก
สุดท้าย อัลกอริทึมของ Spotify ยังไม่ได้ออกแบบมาให้วิเคราะห์เพลงคลาสสิก ซึ่งมีการตั้งชื่อเพลงแบบเฉพาะตัว
ซึ่งชื่อของเพลงคลาสสิกก็อาจจะมีได้ทั้ง ชื่อคนแต่ง ชื่อผลงาน ตัวเลขบอกลำดับงานของศิลปิน รวมถึงชื่อของคอนดักเตอร์
จะเห็นว่า สิ่งที่ The Echo Nest ทำ คือการเปลี่ยนสิ่งที่วัดผลไม่ได้ ให้วัดผลได้ และนำมาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน
แล้วถ้าถามว่า The Echo Nest ทำให้ Spotify เติบโตมากแค่ไหน
ก็คงตอบได้ผ่านจำนวนผู้ใช้งานรายเดือน หรือ Monthly Active Users ที่เพิ่มจาก 68 ล้านบัญชีในปี 2015 เป็นเกินกว่า 500 ล้านบัญชีในปัจจุบัน เติบโตขึ้นเป็น 7 เท่า เลยทีเดียว
และที่เด็ดไปกว่านั้นเลย ก็คือ อัตราการเลิกใช้งาน Spotify เรียกได้ว่า อยู่ในระดับที่ต่ำ
สะท้อนให้เห็นจากตัวชี้วัด ที่เรียกว่า Churn Rate หรืออัตราการเลิกใช้ ที่อยู่แค่เพียง 3.9% อธิบายง่าย ๆ คือ
ผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลด Spotify ไปใช้แล้ว แทบจะไม่มีใครเลิกใช้แอปนี้ได้เลย
จะเห็นได้ว่า Spotify ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัท ที่รู้จุดแข็งของตัวเองเป็นอย่างดี รู้จักผู้ใช้งานว่าต้องการอะไร
ซึ่งบริษัท ก็ได้มีการลงทุนต่อยอดจุดแข็งของตัวเองมาโดยตลอด จนทุกวันนี้ ยอดสมาชิกแอปฟังเพลงสตรีมมิง ทุก ๆ 10 บัญชี จะเป็นของ Spotify มากถึง 3 บัญชี
มากกว่าคู่แข่งที่เป็นถึง บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ทั้ง Apple, Amazon, Tencent และ YouTube ที่เข้ามาร่วมวงแจม ทุกรายในโลก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://developer.spotify.com/documentation/web-api/reference/get-audio-features
-http://student.elon.edu/slichtenstein/SpotifyAnalysis/#:~:text=Spotify%20uses%20the%20word%20%E2%80%9Cvalence,a%20combination%20of%20musical%20elements.
-https://techcrunch.com/2014/03/07/spotify-echo-nest-100m/
-https://www.june.so/blog/reverse-engineering-spotifys-saas-metrics
-https://www.statista.com/statistics/241424/dau-and-mau-of-spotifys-facebook-app/
-https://www.youtube.com/watch?v=pGntmcy_HX8
-https://www.statista.com/statistics/367739/spotify-global-mau/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.