วิกฤติ Zoom แอปประชุม ที่กำไรลดลง 10 เท่า

วิกฤติ Zoom แอปประชุม ที่กำไรลดลง 10 เท่า

6 มิ.ย. 2023
วิกฤติ Zoom แอปประชุม ที่กำไรลดลง 10 เท่า /โดย ลงทุนแมน
ผลประกอบการของ Zoom แอปพลิเคชันประชุมชื่อดัง
ปี 2019 รายได้ 21,200 ล้านบาท กำไร 700 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 90,100 ล้านบาท กำไร 22,800 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 139,400 ล้านบาท กำไร 46,800 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 149,400 ล้านบาท กำไรลดลง เหลือเพียง 3,500 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า Zoom เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่กำไรเติบโตแบบก้าวกระโดด ในช่วงก่อนปี 2022 แต่พอมาเจอปี 2022 ก็พบปัญหา
หากพูดถึงแอปประชุมออนไลน์ ชื่อที่ใครหลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้น “Zoom”
รู้ไหมว่า ปี 2020 หรือ 3 ปีก่อน ในช่วงล็อกดาวน์ Zoom เป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง เคยมีมูลค่าบริษัทแตะ 5,600,000 ล้านบาท
ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน มูลค่าบริษัทของ Zoom กลับลดลงเหลือเพียง 640,000 ล้านบาท มูลค่าหายไป 5,000,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 89% ภายในไม่กี่ปี
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ Zoom กันแน่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Zoom ถูกก่อตั้งขึ้นโดยคุณ Eric Yuan วิศวกรซอฟต์แวร์ชาวจีน เพื่อมาแก้ปัญหาการติดต่อสื่อสารกับแฟนที่อาศัยอยู่กันคนละเมือง
โดยแอป Zoom เปิดให้บริการในปี 2013 และสามารถจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จในปี 2019
Zoom เป็นแอปประชุม ที่มีฟีเชอร์การใช้งานง่าย และให้บริการแบบฟรีเมียม ให้ลองใช้ก่อนได้ โดยจำกัดเวลา หากอยากได้ฟีเชอร์เสริม ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม
ด้วยโมเดลนี้เอง Zoom จึงกลายเป็นตัวเลือก แอปประชุมอันดับต้น ๆ
หลายคนจึงคาดการณ์กันว่า อนาคตของ Zoom คงจะสดใส และก็น่าจะกลายเป็นแอปสามัญ ประจำสมาร์ตโฟน ไว้ใช้สำหรับการประชุม หรือใช้เรียนกันต่อไปอีกในระยะยาว
นักลงทุนจึงแห่เข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัท จนมีมูลค่า ณ จุดสูงสุดถึง 5,600,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2020
แล้วคำถามคือ ทำไม Zoom ในวันนี้
กลับมีมูลค่าหายไป แบบน่าใจหาย ?
ปัจจัยแรก ก็คือ มาตรการล็อกดาวน์ที่คลี่คลายลง พนักงานเริ่มกลับไปทำงานที่ออฟฟิศตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้ ก็ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท ที่ไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนเดิม
ในปี 2022 Zoom มีฐานลูกค้าแบบองค์กร เหลือเพียง 213,000 ราย จากที่เคยสูงกว่า 470,000 ราย หรือหายไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง
ปัจจัยต่อมา คือ การต้องแข่งขันอย่างดุเดือดกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่มีเงินทุนหนากว่า ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Teams และ Google Meet
ยกตัวอย่างเช่น แพ็กเกจ Microsoft Teams Essentials สำหรับภาคธุรกิจ
- ค่าบริการ 140 บาทต่อเดือน
- รองรับผู้เข้าร่วมประชุม 300 คน
- มีคลังข้อมูลคลาวด์ขนาด 10 GB
เทียบกับแพ็กเกจ Zoom Business
- ค่าบริการ 690 บาทต่อเดือน
- รองรับผู้เข้าร่วมประชุม 300 คน
- มีคลังข้อมูลคลาวด์ขนาด 5 GB
จะเห็นได้ว่า Microsoft เสนอค่าบริการที่ต่ำกว่า บวกกับผู้ให้บริการรายใหญ่มี Ecosystem ครบ ธุรกิจองค์กรใช้กันอยู่แล้ว แบบสมาชิกรายเดือน เช่น Microsoft 365 และ Google Workspace ที่สามารถผูกกับตารางการประชุม และโปรแกรมการทำงาน เช่น Excel หรือ Sheets, Word หรือ Docs, PowerPoint หรือ Slides
พอทั้งคู่ หันมาเน้นบริการในด้านนี้ด้วย โดยเฉพาะฝั่ง Microsoft Teams ผู้ใช้งานต่างก็ไหลเข้าหา ทั้ง 2 บริษัท
ปัจจุบัน ส่วนแบ่งการตลาดแอปประชุมของ Microsoft ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 21% ของทั้งโลก ในเวลาไม่นาน
เทรนด์ดังกล่าว ก็ได้เริ่มสะท้อนให้เห็นผ่านผลประกอบการของ Zoom ปีที่แล้ว
Zoom มีรายได้ 149,400 ล้านบาท รายได้ไม่เติบโตจากเดิมเท่าไร
ในขณะที่ บริษัทมีกำไรลดลง เหลือเพียง 3,500 ล้านบาท ลดลงมากถึง 93% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยสาเหตุที่ทำให้กำไรหายไปเกือบหมด ก็เพราะว่า Zoom มีค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงาน สูงถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ AI มาใช้ในแอป เพื่อมาแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด
ในขณะที่ฝั่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะลงทุนอยู่แล้ว
อย่าง Microsoft ก็ได้เตรียมนำเอาบริการแช็ตบอต AI แบบ ChatGPT ไปเชื่อมต่อกับบริการต่าง ๆ ของบริษัท
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้ว Zoom แก้เกมอย่างไร ?
หนึ่งในทางเลือกที่ Zoom อาจใช้เพื่อตอบโต้กลับได้ คงเป็นการปรับลดราคาแพ็กเกจลง แต่มันก็จะกระทบต่อรายได้โดยตรง ซึ่ง Zoom ก็ไม่ได้เลือกทางนี้
จนเมื่อไม่นานมานี้ คุณ Eric Yuan ผู้บริหารของ Zoom ตัดสินใจประกาศปลดพนักงานในสัดส่วน 15% หรือราว 1,300 คน รวมทั้งลดเงินค่าตอบแทนของตัวเองลง 98% และขอไม่รับโบนัสในปี 2023 อีกด้วย เพื่อรักษากำไรของบริษัท ให้ยังคงแข่งขันต่อไปได้
เมื่ออนาคต ที่เคยดูเหมือนว่าจะสดใส แต่ท้ายที่สุดมาพบว่า บริษัทมาเจอการแข่งขัน และต้องลงทุนหนัก เพื่อแข่งขันต่อไป
นักลงทุน จึงเทขายหุ้น Zoom มาอย่างต่อเนื่อง จนมูลค่าบริษัทหายไปเกือบ 5,000,000 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี นั่นเอง
ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า Zoom จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ได้อย่างไร
หรือสุดท้าย หาก Zoom แข่งขันไม่ไหว เราก็อาจจะได้เห็น Zoom ถูกซื้อกิจการไปรวมเป็นส่วนหนึ่งในเครือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สักราย
เหมือนอย่างอดีตที่เคยเกิดขึ้น กับหลายธุรกิจเทคโนโลยีดาวรุ่ง ที่ยืนระยะได้ไม่นาน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://seekingalpha.com/article/4594488-zooms-pain-continue-to-be-microsoft-gain
-https://www.macrotrends.net/stocks/charts/ZM/zoom-video-communications/market-cap
-https://www.businessofapps.com/data/zoom-statistics/
-https://www.statista.com/statistics/1331323/videoconferencing-market-share/
-https://www.emailtooltester.com/en/blog/video-conferencing-market-share/
-https://www.investopedia.com/zoom-q1-fy2024-earnings-preview-7499632
-https://www.marketthink.co/36721
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.