สรุปประเด็นสำคัญจากงาน Thailand Focus 2023 ภายใต้แนวคิด “The New Horizon”

สรุปประเด็นสำคัญจากงาน Thailand Focus 2023 ภายใต้แนวคิด “The New Horizon”

29 ส.ค. 2023
สรุปประเด็นสำคัญจากงาน Thailand Focus 2023 ภายใต้แนวคิด “The New Horizon”
SET x ลงทุนแมน
ภาครัฐและเอกชน มีกลยุทธ์และเห็นโอกาสอย่างไรในตลาดทุนไทย
ภายใต้ศักยภาพ และการเติบโตของอุตสาหกรรม ที่กำลังเป็นจุดขายใหม่ของประเทศ
ครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้จัดงาน Thailand Focus 2023 ภายใต้แนวคิด “The New Horizon” เมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา
มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่นโยบายการเงินเศรษฐกิจไทย ตลาดทุน และภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ไปจนถึงการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย ที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก
แล้วภายใต้ 7 ประเด็นสำคัญ มีอะไรที่เราควรรู้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
หัวข้อที่ 1 เป็นการกล่าวเปิดงาน และภาพรวมตลาดทุนไทย โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถือว่าฟื้นตัวและเติบโตได้ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ภาคบริการ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ในขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ถึงแม้ว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย หากเราลองมาดูการคาดการณ์ของหลายสถาบันบอกว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงมีการเติบโต ในระดับต่ำกว่า 3% เพียงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจมหาภาคยังคงมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
เมื่อเรายังต้องก้าวไปข้างหน้า ความท้าทายต่อไปคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเรา และให้ความสำคัญ กับภาคส่วนใหม่ ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน
หัวข้อที่ 2 เรื่อง Laying the foundations for sustainable recovery
โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- แนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ ถือว่าฟื้นตัวได้ดีขึ้นมาก ตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวเกือบขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว
นักท่องเที่ยวปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคม โดยมีเข้ามาแล้วประมาณ 15 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาด เช่น การส่งออก -4.5% จากเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว
สรุปแล้ว เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ที่ 3.6% แม้จะต่ำกว่าที่หวังไว้ แต่ถือว่ายังอยู่ในทิศทางที่ดี
สำหรับเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ตอนนี้ Headline Inflation อยู่ที่ 0.38% Core Inflation อยู่ที่ 0.86%
ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์เป็นอย่างมาก แต่ยังคงต้องติดตามในระยะยาวอย่างใกล้ชิด จากสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ เช่น เอลนีโญ
ส่วนเรื่อง Deflation หรือภาวะเงินฝืด ทางธนาคารกลางยังไม่เห็นปัจจัยอะไร ที่จะทำให้เกิด Deflation
ภาคการบริโภคยังอยู่ในระดับปกติ
- นโยบายเศรษฐกิจ และแนวโน้มในอนาคตแบ่งออกได้เป็น 3 ข้อ
1. ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาที่ 3% - 4% โดยรักษาอัตราเงินเฟ้อที่ 1% - 3%
2. นโยบายการคลัง โฟกัสระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
3. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะค่อย ๆ กลับเข้าสู่ระดับปกติ เพื่อการเติบโตอย่างมีศักยภาพ และยั่งยืน
- ความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือน สูงถึง 90.6% ของ GDP ธนาคารกลางเสนอ 3 แนวทางการจัดการบริหารหนี้ครัวเรือน ดังนี้
1. ระมัดระวัง และมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ให้กู้
2. ทดลองใช้หลักเกณฑ์ Risk-based Pricing หรือ การให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยตามความเสี่ยง
โดยมีจุดประสงค์คือ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการกู้ยืม และระบบสินเชื่อที่ดีขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกต้อง หรือสินเชื่อในระบบได้ ส่วนผู้กู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็จะสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยหลักเกณฑ์นี้ จะเริ่มทดลองใช้ในช่วงประมาณ กลางปีหน้าเป็นต้นไป
3. การกำหนดอัตราส่วนหนี้ เพื่อไม่ให้ครัวเรือนก่อหนี้มากเกินไป เทียบกับรายได้ของแต่ละครัวเรือน
แต่นโยบายนี้ถือเป็นยาแรง ทางธนาคารกลางอาจเริ่มใช้ในปี 2025 ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น
หัวข้อที่ 3 เรื่อง Thai capital market towards the new horizon
โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
และ คุณเชษฐ์ เบญจวิทย์วิไล Portfolio Manager บริษัท เจพี มอร์แกน แอสเสท แมเนจเม้นท์ จำกัด
และ คุณศุภโชค ศุภบัณฑิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
- ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า แม้หลายประเทศทั่วโลกเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไทย ยังถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนัก
เช่น การส่งออกของไทย ลดลงเพียง 5% เทียบกับบางประเทศที่ลดลงมากถึง 20% หรือประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนาม ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ในเรื่องเงินทุนสำรอง ธนาคารกลางยังคงมีเงินทุนสำรองที่มากพอ
รวมไปถึง ผลประกอบการ ของบริษัทต่าง ๆ ที่แม้จะชะลอตัวบ้าง แต่ยังอยู่ในทิศทางที่ดี
ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อ 0.38% ซึ่งถือว่าต่ำมาก หากเทียบกับประเทศอื่น
ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งเหมือนกับประเทศอื่นที่มีเงินเฟ้อสูงกว่าเรา
ที่น่าสนใจคือ ไทยมีโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์ จากเงินทุนที่ไหลออกจากประเทศจีน มายังอาเซียน
แม้ไทยจะไม่ได้เติบโตเร็ว แต่จากทำเลที่ได้เปรียบของไทยบวกกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีการเติบโต เช่น โครงการ EEC ทำให้ไทยมีโอกาสแน่นอน
ความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว คือ เราจะสามารถปรับตัวให้ทัน และคว้าโอกาสนั้นไว้ได้หรือไม่
- คุณเชษฐ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเจอกับความท้าทายหลายด้าน เช่น สังคมผู้สูงอายุ, หนี้ครัวเรือนสูง, การแข่งขันที่ดุเดือดในภาคการผลิต
เปรียบเสมือนนักกีฬารุ่นที่มีอายุ ที่ต้องแข่งขันกับนักกีฬารุ่นใหม่ซึ่งก็คือประเทศอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของเรา ถือว่าทำได้ดีอยู่แล้ว คือ ภาคการท่องเที่ยว ภาคสุขภาพ
สำหรับในมุมของการลงทุน “ผมมักจะย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ ถึงความท้าทาย 3 อย่าง”
1. ลงทุนแบบ Selective ไม่ใช่ลงทุนแบบกว้าง ๆ
จากโลกที่เปลี่ยนไปเร็ว เราจำเป็นต้องลงทุนแบบ “Selective” ไม่ลงทุนแบบกว้าง ๆ เหมือนที่เคยทำมา
Selective ในที่นี้ไม่เพียงแต่เลือกบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน แต่รวมถึง เป้าหมาย และทิศทางที่จะสามารถเติบโตในอนาคต
2. มองข้อมูลในอดีต แต่ให้โฟกัสไปที่อนาคต
ให้รู้ไว้เสมอว่า ข้อมูลในอดีต ไม่สามารถบ่งบอกอนาคตได้
อย่าลืมว่า ในวันนี้หลายอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนไปแล้ว เราอาจไม่สามารถเห็นตัวเลขเหล่านั้นได้อีกแล้ว
3. อย่าลืมเรื่อง Governance หรือธรรมาภิบาลที่ดี
บริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี มักจะมีการสื่อสาร และความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
- คุณศุภโชค กล่าวว่า ภาพของธุรกิจ และการลงทุนของประเทศไทยตอนนี้ กำลังเปลี่ยนไป
อัตราส่วนการไปลงทุนในต่างประเทศปี 2008 อยู่ที่ 5%
อัตราส่วนการไปลงทุนในต่างประเทศปี 2020 อยู่ที่ 30%
การที่เราลงทุนในวันนี้ ไม่ใช่เพียงลงทุนในบริษัทไทย ที่เติบโตในประเทศ แต่ต้องเป็นบริษัทที่ไปโตในเขตเศรษฐกิจอื่น
ในปี 2021 สัดส่วน 36% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการลงทุนขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ โดยหากมองในมุมของรายได้ ในตอนนี้รายได้ 32% มาจากต่างประเทศ
สำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เราต้องเลือกให้ดี เลือกให้เป็น ลองมาดูข้อมูลย้อนหลังช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา
- กลุ่มโรงพยาบาล ได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี
- กลุ่ม Healthcare ได้ผลตอบแทน 12% ต่อปี
- กลุ่มค้าปลีก ได้ผลตอบแทน 18% ต่อปี
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ปัญหาการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นจากการลงทุน และอยากให้มีความเข้มงวดมากขึ้น
ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์เองก็มีมาตรการที่ป้องกันและนำมาจัดการ เช่น การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทมากขึ้น การเปิดเผยข้อมูลการซื้อขาย หรือการเปลี่ยนมือของหุ้น
อย่างไรก็ตาม คุณศุภโชคได้ให้ความเห็นว่าอยากให้มีการดำเนินการให้เร็วขึ้น และให้จัดการกับคนที่กระทำความผิดจริง บทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด ควรมีความรุนแรง และรวดเร็วกว่านี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ยังถือว่าโทษเบามาก รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง ช่วยแก้ไขผลักดันให้มีการดำเนินคดีที่รวดเร็วขึ้น และเอาผิดผู้กระทำความผิดได้จริง


หัวข้อที่ 4 เรื่อง The next s-curve of Thai tourism
โดย ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
และ คุณลัชชิดา อาภาพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
และ ดร.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร BDMS Wellness Clinic
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า ในปี 2023 คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น จาก 25 ล้านคน เป็น 30 ล้านคน
มองว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในแต่ละครั้ง สำคัญกว่าจำนวนของนักท่องเที่ยว
ประเทศไทยควรดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และมีความรับผิดชอบสูง เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน ถือเป็นเทรนด์เติบโตระยะยาว เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 1 ในด้านการนำ Social Development Goal มาปฏิบัติในภูมิภาคอาเซียน เน้นการเกษตร อุตสาหกรรมนวัตกรรม การเป็นศูนย์รวมทางการแพทย์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
มากกว่านั้น ยังร่วมกับ 19 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างเครือข่ายความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสนับสนุนหลายจังหวัดขึ้นมามีบทบาทในภาคการท่องเที่ยว เช่น น่าน สุโขทัย เลย และตราด
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวก็อาจนำมาซึ่งปัญหามากมาย และเกิดความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้
เป็นอีกโจทย์สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องสร้างต้นแบบ หรือนำต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ มาแนะนำจังหวัดต่าง ๆ รวมถึง การกระจายรายได้ ไปสู่จังหวัดต่าง ๆ หรือในเมืองรองด้วย
- คุณลัชชิดา กล่าวว่าการท่าอากาศยานฯ เป็นด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปัจจุบันรับผิดชอบทั้งหมด 6 สนามบิน
หลังจากเผชิญการแพร่ระบาด เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ทำให้การท่าอากาศยานฯ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เช่น
สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะนี้ที่สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 60 ล้านคนต่อปี มีโครงการขยายอาคารผู้โดยสารและรันเวย์ ช่วงที่ผ่านมา
สนามบินดอนเมือง มีโครงการขยาย คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 4-5 ปีหลังจากนี้ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น จากปีละ 30 ล้านคน เป็น 40-45 ล้านคนต่อปี
ในช่วง Off Peak เราควรสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเร่งเฟ้นหาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
ซึ่งการท่าอากาศยานฯ เอง ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านการเงิน ที่ดิน รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนโดยรอบ เพื่อขยายสนามบิน หรือเพิ่มจำนวน ให้ครอบคลุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การเชื่อมต่อระหว่างสนามบิน หรือการเดินทางจากสนามบินไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น
และสุดท้ายนี้ ต้องการให้รัฐบาลตกลงกับนานาประเทศ เพิ่มโควตาวีซ่าเข้าประเทศไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น
- โดย ดร.ตนุพล พูดถึงเรื่อง Wellness ว่าเป็นประเด็นที่ประชากรโลกให้ความสำคัญมากขึ้น
โดยเฉพาะช่วงการเกิดโรคระบาดที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยสูงอายุ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง
ในปี 2019 ธุรกิจ Wellness มีมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มเติบโต ซึ่งคาดว่าจะเติบโตประมาณ 10% ในปี 2020-2025 ส่งผลให้ธุรกิจ Wellness ไม่ได้จำกัดแค่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว
แต่ยังขยายไปถึงการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โรงแรม Wellness เวชศาสตร์ชะลอวัย เป็นต้น
ประเทศไทย ถือว่าอยู่ในกลุ่มต้น ๆ ของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สามารถรองรับนักท่องเที่ยว 50 ล้านคนต่อปี ก่อนเหตุการณ์โรคระบาด โดยเป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 88% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ปัจจุบันเครือ BDMS ต่อยอดธุรกิจ โดยสร้างโรงแรม Wellness หลายพื้นที่ในประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี นครราชสีมา และเกาะสมุย เป็นต้น
ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใช้จ่ายราว 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
Wellness จึงไม่ใช่ส่วนเล็ก ๆ ในระบบเศรษฐกิจ แต่ขยายไปส่วนสำคัญอื่น ๆ เช่น โรงแรมบริการด้วยเครื่องมือทันสมัย บริการอาหารเพื่อสุขภาพ ขยายไปภาคธุรกิจอื่น ๆ นอกจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยว อีกด้วย
หัวข้อที่ 5 เรื่อง Benefits from supply chain relocation and renewed investments: EV industries
โดย คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
และ คุณประธานพร พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Rever Automotive
คุณนฤตม์ กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก มี Supply Chain ครบวงจรจากการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ถึง 50 ปี ขณะนี้มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และส่วนประกอบอื่น ๆ กว่า 2,000 บริษัท
ไทยกำลังมีนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV มาเป็นภาคการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ และหวังว่าจะสามารถเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ EV ระดับโลกได้ในไม่ช้า
สำหรับนโยบาย “30@30” ประเทศไทยมีแผนจะผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ราว 30% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศไทย ภายในปี 2030
ตอนนี้การลงทุนด้านอุตสาหกรรม เริ่มกลับเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยมีเงินลงทุนโดยตรง หรือ FDI เข้ามาถึง 3 แสนล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ จีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
หากเจาะเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า พบว่า การลงทุนเพิ่มขึ้น ตั้งแต่โครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงสถานีชาร์จไฟ ซึ่งก็เป็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างเช่น BYD, GWM รวมถึงยังมีอีกหลายบริษัทใหญ่ที่กำลังขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุน เช่น ฉางอันมอเตอร์
สำหรับสถานีชาร์จไฟ ก็มีแผนจะเพิ่มจาก 4,000 หน่วยในปัจจุบัน ให้เป็น 11,000 หน่วย
คุณนฤตม์ เชื่อว่า นักลงทุนจากต่างประเทศไม่น้อยมองว่า ประเทศไทยจะเป็นตัวเลือกที่ดี
เพราะมีตลาดขนาดใหญ่ เศรษฐกิจเปิดกว้าง มีเสถียรภาพ มีความมั่นคงยืนยาว และมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นประเทศที่มีความปลอดภัย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแทบทุกประเทศ เรียกว่า “Conflict-free Zone”
คุณประธานพร ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยในปี 2022 มียอดขายรถยนต์ EV 22,000 คัน และเพียงแค่ครึ่งปีนี้ ขายไปแล้ว 32,000 คัน และคาดว่าภายในปี 2023 นี้ ยอดขายรถยนต์ EV น่าจะเติบโตได้ถึง 400%
ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ได้ส่งมอบรถยนต์ BYD ไปแล้ว 18,000 คัน
ต่อไปทางบริษัทก็จะนำเอารถเพื่อการพาณิชย์เข้ามามากขึ้น รวมถึงเตรียมจะนำเอาโมเดลรถยนต์ส่วนบุคคลรุ่นใหม่ เข้ามาภายในสิ้นปีนี้อีกด้วย
คุณประธานพร ให้ความเห็นว่า คนไทยพร้อมรับรถยนต์ EV เข้ามาใช้มากขึ้น โรงงานผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ครบวงจรมากขึ้น
เพราะตอนที่บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ตั้งขึ้นในช่วงแรกนั้น ยังไม่มีแบรนด์รถยนต์ EV ในประเทศไทยมากนัก หากมีรายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ก็จะช่วยกระตุ้นความสนใจในรถยนต์ EV และอุตสาหกรรมนี้ได้มากขึ้น
การสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทย และทั่วโลก
เชื่อว่า เมื่อผู้เล่นรายใหญ่เข้ามามากขึ้น จะทำให้เกิดความคึกคักในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าของไทยมากขึ้น
หัวข้อที่ 6 เรื่อง The potential of Thailand’s thriving soft power
โดย คุณณรัล วิวรรธนไกร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด Siam Wellness Group
และ คุณเธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Global Sport Ventures
และ คุณวิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร S&P Syndicate
Soft Power ที่เป็นจุดแข็งของไทย มีตั้งแต่ อาหาร เทศกาลประเพณี แฟชั่น รวมไปถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรี และศิลปะการป้องกันตัวของไทย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า Soft Power มีศักยภาพขับเคลื่อนและเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจประเทศ
การวางยุทธศาสตร์ เพื่อใช้ประโยชน์จาก Soft Power จึงมีความสำคัญต่อการแข่งขันในตลาดโลก
- Siam Wellness Group ประกอบธุรกิจสปาในไทยมากว่า 25 ปี มีธุรกิจในเครือ เช่น Let’s Relax, ระรินจินดา เวลเนส สปา และบ้านสวนมาสสาจ
ปัจจุบันมีสัดส่วนลูกค้าชาวต่างชาติ 60% โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบริษัทกำลังขยายฐานลูกค้า ไปสู่ตลาดใหม่ ๆ อย่างนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ยุโรป และออสเตรเลีย
ความได้เปรียบของธุรกิจสปาไทย คือ ทักษะและองค์ความรู้ในการนวดไทยที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และการต้อนรับดูแลแบบไทย ๆ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ที่สำคัญคือ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน “การนวดแผนไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ก็ยิ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
อย่าง Siam Wellness Group เอง ก็มีการผสมผสานความรู้ความชำนาญในการนวดไทยและหลักวิชาการเรื่องสุขภาพเข้าด้วยกัน เช่น เปิดประสาทสัมผัสทั้งห้าผ่าน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่น การเปิดเพลงประกอบ และการปรุงกลิ่นในร้านที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย หรือการเสิร์ฟข้าวเหนียวมะม่วง ปิดท้ายหลังการนวด
ในอนาคต หวังว่าจะเกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการเผยแพร่การนวดแผนไทย ซึ่งเป็น Soft Power ที่สำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจเวลเนสและการท่องเที่ยวของไทย
- Global Sport Ventures หรือ GSV มีธุรกิจหลัก 2 ส่วน คือ ธุรกิจสถานที่จัดงาน (สนามมวยราชดำเนิน) มีผู้ชมชาวยุโรป 40% และชาวเอเชีย 35%
และธุรกิจสื่อ เช่น ศึกมวยไทย “RWS ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์” ออกอากาศกว่า 200 ประเทศทั่วโลก จากการเป็นพาร์ตเนอร์กับ DAZN แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคอนเทนต์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เป้าหมายของ GSV คือ การรักษาเอกลักษณ์ของศิลปะมวยไทย และสถาปัตยกรรมของสนามมวยราชดำเนิน ให้เป็นสถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมมวยไทย และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ เหมือนสนามกีฬา Madison Square Garden หรือโรงละครบรอดเวย์ ในนิวยอร์ก
อีกทั้ง อยากให้สนามมวยราชดำเนินเป็นสถานที่สุดคลาสสิก แต่ยังน่าดึงดูดใจต่อคนรุ่นใหม่ เช่น เป็นสถานที่ออกเดตในช่วงสุดสัปดาห์ เหมือนกับสนามกีฬา NBA ที่ต่างประเทศ
ซึ่งคุณเธียรชัยเชื่อว่า มวยไทยสามารถเป็น Soft Power ไปทั่วโลกได้ เช่นเดียวกับ K-Pop ของเกาหลีใต้ หากได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลส่งเสริมมวยไทย และปรับระบบการให้คะแนนให้มีความเป็นสากล เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น
- S&P Syndicate ก่อตั้งมาแล้ว 50 ปี ดำเนินธุรกิจในร้านอาหารและเบเกอรีเป็นหลัก โดยมีรายได้จากชาวต่างชาติ 20-25% ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย ยุโรป และอเมริกัน
การสนับสนุนให้อาหารไทยเป็น Soft Power คุณวิทูรอยากให้รัฐบาลสร้าง Eco-system ยกระดับมาตรฐาน เช่น การสร้างความรับรู้ถึงวิธีการปรุงอาหาร และคุณภาพวัตถุดิบชั้นเลิศของไทย รวมทั้งมีโรงเรียนสอนทำอาหาร ฝึกอบรมเชฟอายุยังน้อย ทำให้คนทั่วโลกมองว่า ถ้าอยากทานอาหารไทยที่ดีที่สุด ก็ต้องมาที่ประเทศไทยเท่านั้น
หัวข้อที่ 7 เรื่อง World class practices in sustainability
โดย คุณอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน Thai Union Group
และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร PTT Global Chemical
และ คุณชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน SCG Group
การทำ ESG หรือ Environment Social and corporate Governance เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
Thai Union เริ่มกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2016 ที่มีชื่อว่า SeaChange 2030 เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างยั่งยืน มีความน่าสนใจดังนี้
- ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เข้าใกล้ 0 มากที่สุดในปี 2030 โดยคาดว่าจะสามารถลดปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาได้ราว 40%
- การจับสัตว์ทะเลอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และยังคงสามารถรักษาความหลากทลายทางชีวภาพ ทางทะเลไว้ได้พร้อม ๆ กัน
ช่วงที่ผ่านมา Thai Union จับมือกับองค์กรระดับโลก เพื่อช่วยกันดูแลปกป้องสปีชีส์สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ โดยคิดค้นวิธีการคืนสัตว์น้ำเหล่านี้สู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย ในกรณีที่มีการพบเจอขณะจับปลา
ส่วน PTT Global Chemical หรือ PTTGC ผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ในไทย เริ่มดำเนินธุรกิจตามแบบแผน ESG มากว่า 10 ปี และยังเป็นผู้นำด้าน ESG ในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเคมี
คุณชญาน์ กล่าวว่า บริษัทจะต้องมีเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียวกัน และเดินไปในทิศทางเดียวกัน นับตั้งแต่ระดับคณะกรรมการ ระดับผู้บริหาร ไปจนถึงพนักงาน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ตามแผนคือ
- การควบคุมกระบวนการผลิต ต้องใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
- การปรับพอร์ตธุรกิจขององค์กร โดยมุ่งขยายในธุรกิจที่ลดการปล่อยมลพิษ
- การชดเชยต่าง ๆ เช่นการปลูกป่าทดแทน
โดยแผนทั้งหมดนี้ก็จะทำผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่คิดค้นขึ้น เช่น หากลงทุนโครงการใหม่ ๆ ต้องคำนวนต้นทุนทางด้านการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้สามารถลงทุนได้เหมาะสม
สุดท้าย SCG Group เครือบริษัท ที่ประกอบธุรกิจหลัก ๆ คือ ซีเมนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมี และบรรจุภัณฑ์
มีโครงการ ESG 4Plus เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยังยืน ไม่ว่าจะเป็น การตั้งเป้าหมาย Net Zero 2050, การปรับกระบวนการการผลิต และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงลงทุนยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน
ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจเช่น การออกผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง กรีนโพลิเมอร์
หรือการทำโครงการรักษ์ภูผามหานที เพื่อถ่ายทอดแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้ชุมชน
แหล่งเงินทุนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงเป้าหมาย Net Zero ได้เร็วขึ้น
ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญ คือ การเข้าถึง Green Fund ซึ่งจะช่วยให้หลาย ๆ บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของต่างประเทศได้มากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็ค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องนี้
โดยทั้งหมดนี้ ก็คือสรุปประเด็นสำคัญจากงาน Thailand Focus 2023 ที่ได้พูดคุยกันภายใต้แนวคิด “The New Horizon”
ซึ่งเราก็น่าจะได้รับข้อมูล และมุมมองที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญของภาครัฐและเอกชน สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกในบริบทใหม่ และปรับตัวกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา..
สำหรับใครที่ยังไม่ได้ไปรับชมแบบเต็ม ๆ กดไปได้เลยที่เพจ SET Thailand หรือดูวิดีโอ
SET Website : https://www.set.or.th/thailandfocus/2023/summary.html
Facebook & YouTube : SET Thailand
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.