Novo Nordisk เป็นบริษัทใหญ่สุดในยุโรป แซงหน้า เจ้าของหลุยส์ วิตตอง

Novo Nordisk เป็นบริษัทใหญ่สุดในยุโรป แซงหน้า เจ้าของหลุยส์ วิตตอง

4 ก.ย. 2023
Novo Nordisk เป็นบริษัทใหญ่สุดในยุโรป แซงหน้า เจ้าของหลุยส์ วิตตอง /โดย ลงทุนแมน
วันนี้ Novo Nordisk บริษัทจากประเทศเดนมาร์ก มีมูลค่าแซงหน้า LVMH เจ้าของแบรนด์หรู เช่น หลุยส์ วิตตอง และซีลีน ขึ้นมาเป็นบริษัท มูลค่ามากสุดในยุโรปได้สำเร็จ
ถ้าถามว่า Novo Nordisk ทำธุรกิจอะไร ?
คำตอบก็คือ ยา โดยเฉพาะยาเบาหวาน ที่ผู้ใช้ยารักษาโรคเบาหวานกว่า 4 ใน 10 ใช้จากบริษัทแห่งนี้
Novo Nordisk เป็นมาอย่างไร
และโมเดลธุรกิจยา น่าสนใจขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Novo Nordisk เป็นบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก ถูกก่อตั้งโดยคุณ August และคุณ Marie Krogh
ก่อนที่จะมาก่อตั้งบริษัท หนึ่งในสองคนนี้ เป็นโรคเบาหวานมาก่อน
แต่เมื่อทั้งสองคนได้ยิน เรื่องการรักษาโรคเบาหวานด้วยการใช้อินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
โดยหลักการทำงาน คือ ใช้อินซูลินเข้าไปลดน้ำตาลในเลือด ช่วยแก้ปัญหากับผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเกินไป
เมื่อได้ยินเรื่องนี้ ทั้งคู่เลยเข้าไปหาคุณ Frederick Banting และคุณ Charles ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการใช้อินซูลินรักษาโรคเบาหวาน เพื่อขอวิธีรักษา
จนในที่สุด ผู้คิดค้นก็ยินยอมมอบวิธีการรักษาให้ คุณ August และคุณ Marie Krogh จึงกลับมาเปิดบริษัทยา ที่เดนมาร์กบ้านเกิด ในปี 1923
ซึ่งบริษัทที่ว่านั้น คือ
“Novo Nordisk” ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน Novo Nordisk เป็นบริษัทผู้ผลิตและคิดค้น ยารักษาโรคต่าง ๆ โดยมีสินค้าตัวชูโรงเป็นยารักษาโรคเบาหวาน
หากเราแบ่งตามสัดส่วนรายได้ปี 2022 แล้ว จะพบว่า
- รายได้จาก ยารักษาโรคเบาหวาน 79%
- รายได้จาก ยารักษาโรคหายาก 12%
- รายได้จาก ยารักษาโรคอ้วน 9%
โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา
บริษัทมีรายได้ 901,818 ล้านบาท
กำไร 283,551 ล้านบาท
จะเห็นว่า อัตรากำไรของบริษัทมากถึง 31% ซึ่งมากกว่า อัตรากำไรของบริษัทแบรนด์หรูอย่าง LVMH ที่ 18%
แล้วทำไม Novo Nordisk สามารถทำกำไร ได้สูงขนาดนี้ ?
1. โมเดลธุรกิจของบริษัท
โดยโมเดลธุรกิจของ Novo Nordisk คือ
หลังจากที่บริษัทวิจัยและพัฒนายาเสร็จ
ก็จะได้รับ “สิทธิบัตรยา”
“สิทธิบัตร” ที่ว่านี้ จะเป็นการคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญา รูปแบบหนึ่ง ป้องกันไม่ให้คู่แข่งอื่นมาลอกเลียนแบบสูตรยา
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คิดค้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
บริษัทยาจึงมีความสามารถในการตั้งราคา หารายได้จากยาที่คิดค้นขึ้นมาได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่า สิทธิบัตรยาก็มีอายุที่จำกัดเช่นกัน ในระยะยาว บริษัทยาจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนา ยาตัวใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเติบโต
2. อุตสาหกรรมผู้ผลิตยา มีคู่แข่งน้อยราย
ต้องบอกว่า บริษัทยาแต่ละเจ้า จะมีความเชี่ยวชาญต่างกัน และยังต้องลงทุนวิจัยยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจนี้จำเป็นต้องใช้งบลงทุนสูง ยากแก่การเข้ามาแข่งขัน
ด้วยกำแพงกั้นนี้ ทำให้บริษัทเล็ก ๆ เข้าสู่ตลาดได้ยาก หรือถ้ามีแววว่าจะพัฒนายาได้สำเร็จ ก็มักจะถูกบริษัทยารายใหญ่ซื้อกิจการ
3. ลงทุนการตลาดไม่สูง
ก็ต้องบอกว่า บริษัทมีช่องทางในการจำหน่ายยากับลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการขายแบบ B2B หรือ ธุรกิจขายให้ธุรกิจ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดไม่ต้องลงทุนสูง
แตกต่างจากสินค้าแบรนด์หรูอย่าง LVMH หรือแบรนด์อย่าง Apple ที่ขายให้กับคนทั่วไปโดยตรง
ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดจึงสูง
พอเป็นแบบนี้ ทำให้บริษัทนำเงินส่วนใหญ่ไป
ลงทุนวิจัยและพัฒนายาได้อย่างเต็มที่
หากเราไปดูผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี จะพบว่า
- ปี 2020
รายได้ 648,279 ล้านบาท
กำไร 215,187 ล้านบาท
- ปี 2021
รายได้ 719,028 ล้านบาท
กำไร 243,882 ล้านบาท
- ปี 2022
รายได้ 901,818 ล้านบาท
กำไร 283,551 ล้านบาท
รายได้ คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 17.9% ต่อปี
กำไร คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 14.8% ต่อปี
ที่น่าสนใจไปกว่าการเติบโต ก็คือ “ส่วนแบ่งตลาด”
ในตอนนี้ Novo Nordisk ถือเป็นเจ้าตลาด ยารักษาโรคเบาหวาน โดยบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 41%
โดยอันดับ 2 คือ Eli Lilly มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 23%
เรียกได้ว่า Novo Nordisk มีส่วนแบ่งตลาด ทิ้งห่างจากคู่แข่งอันดับ 2 เป็นอย่างมาก
อีกเรื่องที่น่าจับตามองคือ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หุ้นของ Novo Nordisk ปรับตัวขึ้นมามากถึง 38%
ซึ่งมีเหตุผลหลัก ๆ มาจาก บริษัทประสบความสำเร็จในการขายยารักษาโรคอ้วนตัวใหม่ ที่ชื่อ “Wegovy”
และในปี 2022 กำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจกลุ่มนี้ เพิ่มขึ้นถึง 84% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเลยทีเดียว
ปัจจุบัน มูลค่าบริษัทของ Novo Nordisk เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านล้านบาท นับเป็นบริษัทมูลค่ามากสุดในยุโรป แซงหน้า LVMH ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงไม่แปลกใจแล้วว่า ทำไม Novo Nordisk บริษัทยาจากเดนมาร์กถึงมีกำไรสูง และเติบโตมาได้อย่างสม่ำเสมอ
และในวันที่ยังมีคนป่วยจากโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหายากอยู่ Novo Nordisk ก็ยังได้ประโยชน์ต่อไป
ซึ่งถ้าถามว่าความเสี่ยงของธุรกิจนี้คืออะไร
คำตอบก็คือ โลกที่ไม่มีผู้ป่วย ทุกคนแข็งแรง สุขภาพดี และไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาโรค ซึ่งก็คงเป็นเรื่อง ที่เป็นไปได้ยากเลยทีเดียว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.novonordisk.com/content/dam/nncorp/global/en/investors/irmaterial/annual_report/2023/novo-nordisk-annual-report-2022.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/Novo_Nordisk
-https://companiesmarketcap.com/
-Who is Novo Nordisk by Novo Nordisk Canada
-https://en.wikipedia.org/wiki/Phases_of_clinical_research
-https://academic.oup.com/jlb/article/7/1/lsaa061/5918811
-https://www.blueoceanstrategy.com/tools/six-paths-framework/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.