“ARM” ผู้ออกแบบชิป ให้มือถือทุกเครื่องบนโลก วันนี้จะ IPO ด้วย P/E 100 เท่า

“ARM” ผู้ออกแบบชิป ให้มือถือทุกเครื่องบนโลก วันนี้จะ IPO ด้วย P/E 100 เท่า

14 ก.ย. 2023
“ARM” ผู้ออกแบบชิป ให้มือถือทุกเครื่องบนโลก วันนี้จะ IPO ด้วย P/E 100 เท่า /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า 99% ของสมาร์ตโฟนบนโลกนี้ มีการออกแบบชิป จากบริษัทที่ชื่อว่า ARM..
โดยคืนนี้ ARM กำลังจะ IPO เข้าตลาดหุ้น Nasdaq รับเงินระดมทุนราว 1.7 แสนล้านบาท มูลค่ากิจการ 2 ล้านล้านบาท นับเป็นการ IPO ใหญ่สุดในปีนี้
และเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ ตลาดหุ้น Nasdaq เป็นรองเพียง Facebook ในปี 2012 และ Rivian Automotive ในปี 2021
แล้วบริษัท ARM ทำไมจึงเป็นบริษัทที่น่าสนใจ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
บริษัท ARM Holdings plc หรือ ARM ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1990 หรือเมื่อประมาณ 33 ปีก่อน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 3 บริษัทด้วยกัน คือ
- Acorn Computers
เป็นผู้ให้ทรัพยากรด้านบุคคล ซึ่งก็คือ ทีมวิศวกร
- Apple
เป็นผู้ให้เงินทุน
- VLSI Technology
เป็นผู้จัดหาเครื่องจักร, เครื่องมือ และอุปกรณ์
โดยสินค้าตัวชูโรงของ ARM ในตอนนั้นคือ “ชิปเซตแบบ RISC” ซึ่งย่อมาจาก Reduced Instruction Set Computing
โดย RISC เป็นประเภทของ CPU ที่ออกแบบให้มีชุดคำสั่งจำนวนลดลง
ถึงแม้ว่าจะทำงานที่ซับซ้อนได้น้อยลง แต่จะชดเชยมาด้วยความสามารถที่ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น และใช้พลังงานน้อยกว่า
จะต่างจากแบบ CISC หรือ Complex Instruction Set Computing ซึ่งเป็นชิปที่มีความซับซ้อนมากกว่า จึงทำให้มีความสามารถในการประมวลผลสูงกว่า แต่ต้องแลกมากับการใช้พลังงานที่มากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี ก็เช่น CPU ในตระกูล x86 ทั้งหลายของ Intel
ตัดกลับมาที่ ARM บริษัทเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นลอนดอน ได้สำเร็จในปี 1998
ก่อนที่ต่อมาจะถูก SoftBank Group ของมาซาโยชิ ซน ซื้อกิจการทั้งหมด และนำกิจการออกจากตลาดหุ้น ในปี 2016 ซึ่งดีลที่ SoftBank ทำในตอนนั้นมีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท
แล้วทำไม ARM ถึงมีความสำคัญกับโลกในยุคปัจจุบัน ?
อธิบายธุรกิจของ ARM ให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ
ARM จะทำหน้าที่เป็นเหมือนสถาปนิก ที่ช่วยออกแบบ จัดการพื้นที่บนชิป เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จากนั้นจะนำไปขายให้กับบริษัทที่ต้องการทั่วโลก
บริษัทที่มีใบอนุญาตก็สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นชิ้นส่วนของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น Apple Silicon ชิปบน iPhone ก็พัฒนามาจากเทคโนโลยีของ ARM เช่นเดียวกัน
คำถามคือ แล้ว ARM ได้อะไร ?
รายได้หลัก ๆ ของบริษัท จะมาจากค่าลิขสิทธิ์ (Royalty Fees) ซึ่งมีทั้งแบบที่คิดเป็น
- เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่ง จากยอดขายของสินค้าที่ใช้ชิปของ ARM
- คิดเป็นมูลค่าคงที่ ต่อชิ้น ของสินค้าที่ใช้ชิปของ ARM
เราลองมาดูผลประกอบการช่วงที่ผ่านมาของบริษัทกัน
(รอบงบการเงินของบริษัทเริ่มวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคม)
- ปี 2021
รายได้ 72,100 ล้านบาท
กำไร 13,800 ล้านบาท
- ปี 2022
รายได้ 96,200 ล้านบาท
กำไร 19,500 ล้านบาท
- ปี 2023
รายได้ 95,300 ล้านบาท
กำไร 18,600 ล้านบาท
หากเราอ้างอิงจากแบบฟอร์ม F-1 ที่บริษัทยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ล่าสุด
จะพบว่า ในปี 2022 บริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ตโฟนมากถึง 99% หรือเรียกได้ว่า ชิปบนสมาร์ตโฟนทุกเครื่อง ใช้สถาปัตยกรรมของ ARM เกือบทั้งหมด
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นภาพคร่าว ๆ กันแล้วว่า บริษัท ARM ที่กำลังจะ IPO หน้าตาเป็นอย่างไร
และการที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 99% ก็คงต้องบอกว่า ARM มีอำนาจในการต่อรองสูงมาก
แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ราคา โดย Bloomberg คาดว่ามูลค่าหุ้น IPO ของ ARM จะอยู่ในช่วงระหว่าง 47 ถึง 51 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น
ณ ราคา นี้ มูลค่าทั้งกิจการ ARM จะเท่ากับ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ SoftBank Group ซื้อมา เมื่อ 7 ปีก่อน
แล้วถ้าถามว่า 2 ล้านล้านบาท
ถูก หรือ แพงขนาดไหน ?
หากเราเทียบกับ กำไรปีล่าสุดที่ 18,600 ล้านบาท
ก็จะมีอัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไร สูงถึง 107 เท่า เลยทีเดียว..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.