“ปาล์มน้ำมัน” ส่งออก 50,000 ล้าน กระดูกสันหลังประเทศไทย

“ปาล์มน้ำมัน” ส่งออก 50,000 ล้าน กระดูกสันหลังประเทศไทย

1 พ.ย. 2023
“ปาล์มน้ำมัน” ส่งออก 50,000 ล้าน กระดูกสันหลังประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
ปีที่ผ่านมา ปาล์มน้ำมัน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ มากถึง 52,511 ล้านบาท
ปาล์มน้ำมัน เรียกได้ว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญ ที่ช่วยผลักดันการผลิตสินค้ามากมาย ทั้งสบู่ เครื่องสำอาง หรือแม้แต่ไอศกรีม
แล้วอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ แล้ว ปาล์มน้ำมันไม่ได้เป็นพืชหลัก ในประเทศแถวอาเซียน เพราะต้นกำเนิดของปาล์มน้ำมันอยู่แถวทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้
จนกระทั่งในช่วงล่าอาณานิคม ชาวโปรตุเกสก็ได้นำต้นปาล์มน้ำมัน มาทดลองปลูกที่ประเทศอินโดนีเซีย
ก่อนที่ชาวดัตช์จะเข้ามาต่อยอดด้วยการปลูก เพื่อเน้นส่งออกในฐานะเจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซีย
หลังจากนั้นไม่นาน ปาล์มน้ำมันก็ได้ถูกนำมาปลูกครั้งแรกบริเวณ “ภาคใต้ของประเทศไทย” โดยเข้ามาทางประเทศมาเลเซีย ที่ได้เริ่มปลูกตามอินโดนีเซีย
ส่งผลให้ปัจจุบัน 3 จังหวัดที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากสุด อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ได้แก่
- สุราษฎร์ธานี 1.3 ล้านไร่
- กระบี่ 1.1 ล้านไร่
- ชุมพร 1.0 ล้านไร่
ซึ่งผลผลิตของทั้ง 3 จังหวัดนี้ คิดเป็น 50% ของผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งหมดในประเทศเลยทีเดียว
โดยหากเราไปดูสถิติการส่งออกปาล์มน้ำมันทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า
- ปี 2563 มูลค่าการส่งออก 6,699 ล้านบาท
- ปี 2564 มูลค่าการส่งออก 31,318 ล้านบาท
- ปี 2565 มูลค่าการส่งออก 52,511 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า การส่งออกปาล์มน้ำมันของไทย โตระเบิด
สาเหตุหลักมาจากในช่วงที่ผ่านมา ในอินโดนีเซียมีเหตุแบนการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพราะน้ำมันถั่วเหลืองในอินโดนีเซียมีราคาสูงขึ้น
จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงทำให้มีการบริโภคน้ำมันปาล์ม ทดแทนน้ำมันชนิดอื่น ๆ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทย
ก็มีจุดแข็งของตัวเอง ไม่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ที่ทำให้สามารถส่งออกปาล์มน้ำมันได้อย่างต่อเนื่อง
เหตุผลแรกเลย ก็เพราะว่า
“ปาล์มน้ำมันในประเทศต่อยอดได้หลากหลาย”
ปัจจุบัน ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศ ถูกใช้ไปกับ..
- อุตสาหกรรมอาหาร เช่น ไอศกรีม นมข้นหวาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 39%
- อุตสาหกรรมไบโอดีเซล 29%
ที่เหลืออีก 32% จะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ
เช่น น้ำมันปาล์ม กากปาล์มน้ำมัน หรือเมล็ดปาล์มเหลือทิ้ง เป็นต้น
ผลผลิตปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่ จึงถูกใช้ในประเทศ เพราะสามารถต่อยอดเป็นวัตถุดิบ ให้กับหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
เหตุผลต่อมา คือ
“โครงสร้างอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ครบวงจร”
ปาล์มน้ำมันจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ถึงจะสามารถนำไปใช้ต่อได้ เช่น
- น้ำมันปาล์มดิบ เกิดจากการนำผลปาล์มมาบีบอัดให้เป็นน้ำมันปาล์ม นำไปผลิตเป็นน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค หรือผสมในน้ำมันไบโอดีเซล
- น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เกิดจากการนำน้ำมันปาล์มดิบ มาสกัดให้บริสุทธิ์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง และสบู่ เป็นต้น
ปัจจุบัน ไทยมีโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบกว่า 131 โรงงาน และยังมีโรงสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์อีกกว่า 21 โรงงาน
โดยโรงงานเหล่านี้อยู่ในพื้นที่บริเวณภาคใต้ ใกล้กับแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่ของไทย ตัวอย่างเช่น
- บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ในจังหวัดกระบี่ เน้นการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ
ซึ่งมีมูลค่าตลาด 7,896 ล้านบาท
- บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ในจังหวัดชุมพร มีการขายทั้งน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งมีมูลค่าตลาด 1,733 ล้านบาท
ด้วยอุตสาหกรรม ที่มีตั้งแต่ต้นน้ำอย่างเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้แปรรูปสินค้าขั้นกลางอย่างน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ทำให้ไทยมีวัตถุดิบปาล์มน้ำมันแปรรูปต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโรงงานผลิตไบโอดีเซล โรงงานผลิตไอศกรีม ครีมเทียม เครื่องสำอาง และสบู่
จึงทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศ มีตลาดรองรับอยู่มาก
และเหตุผลสุดท้าย คือ
“ปาล์มน้ำมันคุ้มค่ากว่าพืชน้ำมันอื่น ๆ”
ปัจจุบัน น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่ใช้บริโภคมากที่สุดในโลกกว่า 56%
รองลงมาเป็นน้ำมันถั่วเหลือง 16%
ส่วนน้ำมันทานตะวันมีเพียง 14% เท่านั้น
สาเหตุก็เพราะว่า น้ำมันปาล์มให้ผลผลิตต่อตันที่สูงมาก
ในขณะที่ ถั่วเหลืองส่วนใหญ่ก็มักนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มากกว่า
พอเป็นแบบนี้ ทำให้น้ำมันปาล์มยังมีพื้นที่ให้เติบโตต่อไปได้ มากกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่นนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงสรุปได้ว่าปาล์มน้ำมันคือพืชเศรษฐกิจ ที่เป็นจุดแข็งสำคัญให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ของไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก
ไม่ว่าจะเป็น การเป็นวัตถุดิบให้กับไอศกรีม ซึ่งทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับ 4 ของโลก
รวมถึงสินค้าอื่น ๆ เช่น เครื่องสำอาง ที่สามารถส่งออกได้มากถึง 100,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ของเหลือทิ้งอย่างกากน้ำมันปาล์ม ก็สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าหรือปุ๋ยชีวภาพ ต่อยอดได้อีกด้วย
และอาจเรียกได้ว่า ปาล์มน้ำมันไทย กลายเป็น
กระดูกสันหลัง ให้กับการส่งออกสินค้าอีกหลายประเภทของบ้านเรา ก็คงไม่ผิดมากนัก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.oae.go.th/assets/portals/1/files/oilpalm%2064
-https://www.doa.go.th/share/attachment.php?aid=3126
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/agriculture/palm-oil/io/oil-palm-industry-2022-2024
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomRecode&ImExType=1&Lang=Th
-https://univanich.com/th/
-https://www.worldstopexports.com/palm-oil-exports-by-country/?expand_article=1
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.