ทำไม โรงไฟฟ้าไทย ถึงแห่ไปลงทุน ที่ญี่ปุ่น

ทำไม โรงไฟฟ้าไทย ถึงแห่ไปลงทุน ที่ญี่ปุ่น

8 ม.ค. 2024
ทำไม โรงไฟฟ้าไทย ถึงแห่ไปลงทุน ที่ญี่ปุ่น /โดย ลงทุนแมน
โรงไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนในระยะยาว เพราะไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้
แถมธรรมชาติของธุรกิจโรงไฟฟ้าเอง ก็มีอายุสัญญาขายไฟฟ้าให้ภาครัฐ ยาวประมาณ 20-30 ปี
จึงทำให้ธุรกิจนี้ เป็นที่ดึงดูดของเม็ดเงินลงทุน
ประกอบกับในประเทศไทยเอง ก็มีนโยบายด้านความมั่นคงทางพลังงาน ที่ต้องการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ทันกับการเจริญเติบโตของประเทศ
จึงทำให้มีบริษัทโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท ในบ้านเรา เช่น GUNKUL, SPCG, BGRIM, GPSC และ SSP
แต่รู้หรือไม่ว่า แม้ธุรกิจโรงไฟฟ้าในไทย จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีอยู่แล้ว และมีสัญญาจากภาครัฐที่คอยช่วยประกันรายได้นานหลายปี
บริษัทเหล่านี้ ก็ยังสนใจและได้ขยายการลงทุนเพิ่มเติม ไปยังโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น
แล้วเพราะอะไร ทำไมบริษัทโรงไฟฟ้าในไทย ถึงต้องไปลงทุนที่ญี่ปุ่น ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจโรงไฟฟ้าในไทยหลายบริษัท ต่างก็ไปลงทุนและเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นกันทั้งสิ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล
ซึ่งตัวอย่างบริษัทไทย ที่เคยเข้าไปลงทุน ทั้งลงทุนเองทั้งหมดและบางส่วน ก็เช่น
- โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เซนได โอคุระ ของบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ขนาด 31.75 เมกะวัตต์
- โครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ของบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ขนาด 480 เมกะวัตต์
สาเหตุที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ ต้องขยายการลงทุนไปเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ก็มีหลายสาเหตุด้วยกัน
1. กำลังการผลิตไฟฟ้าในไทยมีมากเกินพอ และอาจไม่คุ้มค่า หากจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก
โดยหากเราไปดูกำลังการผลิตไฟฟ้าคงเหลือของประเทศไทย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ย้อนหลัง 3 ปี คือ
- ปี 2563 28,637 เมกะวัตต์
- ปี 2564 30,135 เมกะวัตต์
- ปี 2565 32,255 เมกะวัตต์
ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้า ย้อนหลัง 3 ปี คือ
- ปี 2563 46,480 เมกะวัตต์
- ปี 2564 46,682 เมกะวัตต์
- ปี 2565 49,099 เมกะวัตต์
จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน บ้านเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ถึง 50% ทำให้การขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม จึงทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในไทย ที่ต้องแสวงหาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การทำธุรกิจแค่เฉพาะในประเทศ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป..
2. ญี่ปุ่น มีนโยบายสนับสนุนโรงไฟฟ้าในประเทศ ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเสรีโรงไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
และมีนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดมากขึ้น จากเหตุการณ์ภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอดีต ที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ญี่ปุ่นก็มีการรณรงค์ให้ใช้พลังงานสะอาด ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ จึงได้เปิดโอกาสและสนับสนุนให้ภาคเอกชน เข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้น
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในไทย เข้าไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น
3. การลงทุนโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับไทย
เพราะการประเมินการก่อสร้างในแต่ละครั้ง จะมีการประเมินมูลค่าโครงการ โดยใช้ค่า IRR หรือ Internal Rate of Return คือ การคำนวณหาอัตราผลตอบแทนต่อปีจากเงินลงทุน ซึ่งคำนวณจากกระแสเงินสดที่จ่ายออกไปในแต่ละโครงการ
โดยโครงการของโรงไฟฟ้าในไทยและญี่ปุ่น มีค่า IRR ใกล้เคียงกันที่ราว ๆ 7-10%
ส่วนหนึ่งที่ทำให้การลงทุนในญี่ปุ่น ให้ค่า IRR ที่น่าพอใจ เป็นเพราะญี่ปุ่นมีมาตรการสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Feed-in-Tariff (FiT) เหมือนกับประเทศไทย
เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชน เข้ามาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น
จึงทำให้โครงการที่ลงทุนไป มีผลตอบแทนเป็นบวกที่ค่อนข้างชัดเจน
จากทั้ง 3 ข้อที่กล่าวไป จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นบริษัทไทยจำนวนมาก เลือกที่จะเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่น
เพราะเมื่อแนวโน้มการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในไทยเริ่มหดตัวลง บริษัทเหล่านี้ก็ต้องหาทางรอดและสร้างการเติบโต ด้วยการหาตลาดใหม่ อย่างเช่น การเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bbc.com/thai/international-56344107
-http://www.gunsandgames.com/smf/index.php?topic=102819.0;wap2
-https://www.egat.co.th/home/statistics-demand-annual/
-https://www.egat.co.th/home/statistics-all-annual/
-https://www.ryt9.com/s/prg/3237113#google_vignette
-http://newsconnext.com/news1.php?id=22651
-https://mgronline.com/stockmarket/detail/9610000020244
-รายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน)
-รายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.