กรณีศึกษา การเอาตัวรอดของ Walmart ในจีน ตลาดปราบเซียนธุรกิจต่างชาติ

กรณีศึกษา การเอาตัวรอดของ Walmart ในจีน ตลาดปราบเซียนธุรกิจต่างชาติ

8 ก.พ. 2024
กรณีศึกษา การเอาตัวรอดของ Walmart ในจีน ตลาดปราบเซียนธุรกิจต่างชาติ /โดย ลงทุนแมน
ประเทศจีน นับเป็นหนึ่งในตลาดที่แข่งขันได้ยาก สำหรับผู้เล่นต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเทคโนโลยี, สื่อ รวมถึงร้านค้าปลีกเอง
เพราะนอกจากมีการแข่งขันสูง และมีผู้เล่นท้องถิ่นจำนวนมากแล้ว ยังต้องเผชิญกับเทรนด์การซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าประเทศอื่น ๆ ด้วย
แต่ที่น่าสนใจคือ ร้านค้าปลีกชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาอย่าง “Walmart” กลับสามารถเอาตัวรอดจากปัจจัยกดดันเหล่านั้นในจีน และทำยอดขายสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศได้
แล้วที่ผ่านมา Walmart ใช้กลยุทธ์การดำเนินงานอย่างไรในจีน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Walmart เปิดสาขาแรกในประเทศจีน เมื่อปี 1996 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีร้านค้าปลีกต่างชาติรายอื่นเข้ามาทำตลาดเหมือนกัน อย่างเช่น Carrefour จากฝรั่งเศส
โดยห้างร้านค้าปลีกต่างชาตินั้น ได้รับความนิยมจากชาวจีนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากลักษณะความแปลกใหม่ของบริการ ที่ร้านเน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ และวางขายสินค้าราคาถูก หลากหลายประเภท
ส่งผลให้ทั้ง Walmart และ Carrefour มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในจีน
โดยปี 2017 ถือเป็นจุดพีกในแง่ของจำนวนสาขา
ทาง Walmart มีสาขาอยู่ที่ 424 แห่ง ส่วน Carrefour มีสาขาอยู่ที่ 249 แห่ง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรม เพราะการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีน ได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปจากร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม
ซึ่งส่งผลกระทบหนักต่อบริษัทต่างชาติ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Carrefour ที่ผลประกอบการพลิกมาเป็นขาดทุนต่อเนื่อง จนต้องทยอยปิดสาขา เพื่อลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่าย

สุดท้าย Carrefour จึงตัดสินใจถอยทัพ ยอมขายหุ้น 80% ของกิจการในจีน คิดเป็นเงินมูลค่า 25,000 ล้านบาท ให้กับ Suning.com บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของจีน ในปี 2019
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่า Walmart ก็น่าจะประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน
แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า กิจการ Walmart ในจีนยังคงเติบโตดี และครองส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับ 2 ไม่ห่างจากผู้นำตลาดอย่าง Suning.com มากนัก
ผลประกอบการของสาขา Walmart ในจีน (งบการเงินสิ้นสุดเดือนมกราคมของปี)
- ปี 2022 ยอดขาย 496,000 ล้านบาท
- ปี 2023 ยอดขาย 527,000 ล้านบาท
คำถามก็คือ ทำไม Walmart ยังคงอยู่รอด ?
เหตุผลหลักข้อแรก ก็เพราะว่า Walmart มีอีกธุรกิจที่ชื่อว่า “Sam’s Club”
Sam’s Club เป็นธุรกิจคลังสินค้าขายส่งที่เก็บค่าสมาชิกแบบรายปี คล้ายโมเดลธุรกิจของห้าง Costco ที่หลายคนรู้จัก
โดย Walmart ได้นำเอาธุรกิจ Sam’s Club เข้ามาเปิดตัวในจีนพร้อมกันตั้งแต่ตอนแรก และเดินเกมจัดหาสินค้าจากผู้ผลิตท้องถิ่นทั้งหมด
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้บริษัทมีความคุ้นเคยกับตลาดจีน และสามารถสร้างเครือข่ายซัปพลายเชน ที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกของตนเอง
และต้องบอกว่า วิกฤติการแพร่ระบาดที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสทองของร้าน Sam’s Club เพราะผู้คนหันมานิยมซื้อของราคาถูกจากคลังสินค้า มาตุนเอาไว้จำนวนมาก เพื่อเตรียมตัวสำหรับช่วงล็อกดาวน์
ด้วยเหตุนี้ แม้หน้าร้านค้าปลีก Walmart จะมีจำนวนลดลงตามแนวโน้มอุตสาหกรรม จนตอนนี้เหลือสาขาอยู่ 322 แห่งในจีน
แต่ร้านค้าส่งอย่าง Sam’s Club กลับขยายสาขาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีสาขาอยู่ 43 แห่งในจีน และมีจำนวนสมาชิกประมาณ 4 ล้านราย
และอีกกลยุทธ์สำคัญของ Walmart คือ การวางแผนปรับตัวเข้าหาเทรนด์อีคอมเมิร์ซในจีน
โดย Walmart ได้เข้าซื้อกิจการของ Yihaodian แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน ในปี 2015 ก่อนที่อีก 1 ปีต่อมา จะตกลงขายกิจการให้กับ JD.com แทน เพื่อแลกกับการเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจกัน
ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวนั้น Walmart จะมีการโอนบัญชีสมาชิกของ Sam’s Club ไปอยู่บนฐานข้อมูลของ JD.com จึงทำให้บริษัทมีช่องทางในการแข่งขันบนเวทีอีคอมเมิร์ซจีนได้
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผลประกอบการของตลาดประเทศจีน ในไตรมาส 4 ปี 2023 (สิ้นสุดเดือนมกราคม ปี 2023) Walmart มียอดขายสินค้าทางออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วน 48% ของยอดขายทั้งหมด เติบโตขึ้น 70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า การขยายธุรกิจในประเทศจีน Walmart ไม่ได้แค่นำเอาโมเดลธุรกิจเดิมไปใช้เพียงอย่างเดียว
แต่มีการวางแผนในรายละเอียด เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้ดีขึ้น ตั้งแต่การสร้างเครือข่ายซัปพลายเชน ไปจนถึงการจับมือกับพันธมิตรเพื่อเจาะตลาดอีคอมเมิร์ซ
ซึ่งนี่ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ในเรื่องกลยุทธ์การเอาตัวรอดของ Walmart ในตลาดจีน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสมรภูมิสุดหินสำหรับธุรกิจต่างชาติ..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://thechinaproject.com/2023/03/02/walmart-is-a-china-survivor-thanks-to-its-wholesale-chain-sams-club/
-https://thechinaproject.com/2023/02/09/big-box-stores-are-dying-and-carrefour-china-is-on-its-last-legs/
-https://www.statista.com/statistics/269416/sales-of-walmart-international-by-country/
-https://www.statista.com/statistics/752119/china-walmart-store-number/
-https://www.statista.com/statistics/289214/china-top-10-retail-chain-operators/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.