“App Store” แหล่งเศรษฐกิจ 40 ล้านล้าน ใหญ่เป็น 2 เท่า GDP ประเทศไทย

“App Store” แหล่งเศรษฐกิจ 40 ล้านล้าน ใหญ่เป็น 2 เท่า GDP ประเทศไทย

6 มี.ค. 2024
“App Store” แหล่งเศรษฐกิจ 40 ล้านล้าน ใหญ่เป็น 2 เท่า GDP ประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า แอปสามัญประจำอุปกรณ์ Apple แบบ App Store มีเงินหมุนเวียนอยู่ มากถึง 40 ล้านล้านบาทต่อปี
ถ้าถามว่ามูลค่าระดับนี้ มาจากไหน ?
คำตอบก็คือ จากกิจกรรมสแกนหน้า เช่น เติมเกม, ซื้อสินค้า, สมัครสมาชิก ของแอปต่าง ๆ บนอุปกรณ์ Apple..
พูดง่าย ๆ ก็คือ ตัวกลางแบบ App Store จะเติบโตตาม จำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้น ยิ่งอยู่นาน มีคนใช้เพิ่มขึ้น ยิ่งมีผู้พัฒนา ปล่อยแอปเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสเติบโตสูง
สะท้อนให้เห็นจากการเติบโตเฉลี่ยของเงินหมุนเวียน ในช่วงระหว่างปี 2019 ถึงปี 2022 ที่ระดับเฉลี่ย 29% ต่อปี
แล้วโมเดลของ App Store น่าสนใจอย่างไร
Apple ทำเงินจากตรงนี้ ได้มากขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าเราไปดูรายได้และกำไรของ Apple ใน 3 ปีล่าสุด จะเป็นดังนี้
ปี 2021
รายได้ 13.1 ล้านล้านบาท
กำไร 3.4 ล้านล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 14.2 ล้านล้านบาท
กำไร 3.6 ล้านล้านบาท
ปี 2023
รายได้ 13.8 ล้านล้านบาท
กำไร 3.5 ล้านล้านบาท
โดยรายได้ของ Apple มาจาก
- ผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น iPhone, iPad, AirPods 78%
- บริการ อย่างเช่น App Store, Apple Music และ iCloud 22%
จะเห็นได้ว่า นอกจากรายได้จากการขายสินค้าที่เรารู้จักแล้ว Apple ยังมีรายได้อีกขาหนึ่ง ที่เรียกว่า “รายได้จากการบริการ”
ซึ่งรายได้ตรงนี้ ก็มาจากการหักค่าธรรมเนียมจากแอปพลิเคชันบน App Store ไปจนถึงค่า Subscribe จาก Apple Music, iCloud และอื่น ๆ
แล้ว App Store มีเงินหมุนเวียน ในช่วงที่ผ่านมา มากแค่ไหน ?
ปี 2019 เงินหมุนเวียน 18 ล้านล้านบาท
ปี 2020 เงินหมุนเวียน 23 ล้านล้านบาท
ปี 2021 เงินหมุนเวียน 31 ล้านล้านบาท
ปี 2022 เงินหมุนเวียน 40 ล้านล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 29% ต่อปี
โดย Apple จะแปลงเงินในอากาศตรงนี้ เปลี่ยนเป็นรายได้เข้ากระเป๋า ในรูปแบบค่าธรรมเนียมจากแอป ในอัตราที่ต่างกัน และหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ
- แบบแรก คือ แบบซื้อขาด
การหักค่าธรรมเนียมในรูปแบบนี้ จะเกิดขึ้นกับแอปพลิเคชันที่ต้องเสียเงินซื้อ หรือแอปที่มีการระบุเอาไว้ว่า In-App Purchasing
ซึ่ง Apple จะมีการหักค่าธรรมเนียมไป 30% และส่วนที่เหลืออีก 70% นักพัฒนาจะเป็นคนได้ไป แบบเดียวกับที่เราไปเปิดร้านขายของ หรือขายอาหารในศูนย์การค้า ศูนย์การค้าก็จะได้ค่า GP
- แบบที่สอง ก็คือ แบบ Subscribe หรือ สมัครสมาชิก
การหักค่าธรรมเนียมในรูปแบบนี้ จะต่างกับแบบแรกตรงที่ในปีแรกที่เกิดการ Subscribe ทาง Apple จะมีการหักค่าธรรมเนียม 30%
ในขณะที่ปีต่อ ๆ ไปหลังจากนั้น Apple จะหักค่าธรรมเนียมแค่ 15%
ซึ่งก็ต้องบอกว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Apple ก็ได้ปรับเกณฑ์ตรงนี้ใหม่ สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังทำรายได้ไม่ถึง 36 ล้านบาท หรือ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมแค่ 15% เท่านั้น หากสมัครเข้าร่วมโปรแกรมพิเศษสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก แล้วผ่านเงื่อนไข หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ลดค่าธรรมเนียมให้ครึ่งหนึ่ง
และถ้ามามองจาก มูลค่าเงินหมุนเวียน 40 ล้านล้านบาท
คูณตรง ๆ ด้วยอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำสุด 15% ก็จะได้ราว 6 ล้านล้านบาท
ซึ่งก็ยังมากกว่า กำไรทั้งหมดของ Apple เกือบเท่าตัว
คำถามคือ แล้วมูลค่าตรงนี้ หายไปไหน ?
สาเหตุก็เป็นเพราะว่า บริษัทไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากเงินหมุนเวียนบน App Store ได้ทั้งหมด
โดยเงินหมุนเวียน ที่เกิดขึ้นถึงกว่า 9 ใน 10 บน Apple มาจากแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ทำเงินผ่านการ Subscribe หรือ In-App Purchasing
แต่จะเป็นในรูปแบบ ของการที่ผู้พัฒนาแค่นำแอปมาวางบน App Store แล้วให้ผู้ใช้งาน ไปทำธุรกรรมข้างนอกเอง เช่น บนเว็บไซต์ทางการของบริษัท..
เลยทำให้ Apple ไม่ได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมจากเงินจำนวนนี้นั่นเอง ตัวอย่างชัด ๆ ก็จะเป็น YouTube Premium, Netflix และ Spotify
ถึงตรงนี้ เราก็สรุปได้ว่า App Store ถือเป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ของ Apple เพราะเรียกได้ว่า ดินแดนแห่งนี้ เปรียบเสมือนแหล่งเศรษฐกิจ ที่มีเงินหมุนเวียนระดับ สิบล้านล้านบาท เป็นประจำทุกปี
หากวันใดวันหนึ่ง Apple ใช้ไม้แข็ง บอกว่าแอปไหน จะมาอยู่บน App Store ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ไม่อย่างนั้นก็ไม่ให้เอาแอปมาลง
อะไรจะเกิดขึ้นตามมา..
ระหว่างนักพัฒนา ยอมจ่าย
Apple ก็จะโกยเงินได้อีกมหาศาล
หรือจะกลายเป็นว่า ไม่มีใครเอาด้วย
ต่างพากันแบน และไม่ง้อ Apple
เพราะที่ผ่านมา ก็มีบางบริษัทที่ฟ้องร้อง Apple ในข้อกล่าวหาว่า App Store ผูกขาดตลาด
แถมผู้ให้บริการแอปบางราย เช่น Netflix ก็ได้เปลี่ยนนโยบาย ปิดการจ่ายค่าบริการผ่าน App Store โดยให้จ่ายผ่านเว็บไซต์เท่านั้น เพราะไม่อยากเสียค่าธรรมเนียม
ซึ่งสงครามเย็นระหว่าง Apple กับนักพัฒนานี้ จะจบลงที่ตรงไหน ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://developer.apple.com/app-store/small-business-program/
-https://developer.apple.com/app-store/subscriptions
-http://env_data.onep.go.th/reports/subject/view/8
-https://newsroom.spotify.com/company-info/
-https://s2.q4cdn.com/470004039/files/doc_earnings/2023/q4/filing/_10-K-Q4-2023-As-Filed.pdf
-https://www.statista.com/statistics/975776/revenue-split-leading-digital-content-store-worldwide/
-https://www.apple.com/newsroom/pdfs/the-continued-growth-and-resilience-of-apples-app-store-ecosystem.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.