BWG ETC จับมือร่วมพันธมิตรยักษ์ใหญ่ GULF ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม มูลค่ากว่า 20,800 ลบ.

BWG ETC จับมือร่วมพันธมิตรยักษ์ใหญ่ GULF ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม มูลค่ากว่า 20,800 ลบ.

14 มี.ค. 2024
BWG ETC จับมือร่วมพันธมิตรยักษ์ใหญ่ GULF ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม มูลค่ากว่า 20,800 ลบ.
BWG x ลงทุนแมน

ล่าสุด BWG และบริษัทในเครืออย่าง ETC ประกาศลงนามกับ GULF
ร่วมลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 12 แห่ง ขนาดกำลัง 8 เมกะวัตต์ต่อแห่ง
รวมทั้งสิ้น 96 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวม 18,200 ล้านบาท

และโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรมหรือ SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 2,600 ล้านบาท
รวมมูลค่าลงทุนทั้ง 15 โครงการ กว่า 20,800 ล้านบาท
ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569
ตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศไทย

สงสัยไหมว่า “ขยะ” สร้างธุรกิจพันล้านได้อย่างไร ?
BWG คือใคร แล้วคุณสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ผู้ก่อตั้ง BWG เดินหมากสร้างกลยุทธ์ระยะยาวมาสู่ความสำเร็จในวันนี้ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ย้อนกลับไปในปี 2540 คุณสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ผู้ก่อตั้งบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)
และ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ในนามของ BWG

BWG เริ่มต้นธุรกิจจากให้บริการด้านจัดการกากอุตสาหกรรมชนิดต่าง ๆ
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การรับขยะจากโรงงานในกระบวนการผลิตต่าง ๆ
รวมทั้งสินค้าโละสต็อก และสินค้าไม่ผ่าน QC ไปจัดการทิ้งให้อย่างถูกต้อง

ขยะอุตสาหกรรม มีทั้งแบบขยะอันตราย และขยะไม่เป็นอันตราย
ตัวอย่างการบริการจัดการขยะของ BWG ก็เช่น การบำบัด, การกำจัด การฝังกลบ
และการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยเลือกวิธีกำจัดที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของกากอุตสาหกรรมนั้น ๆ ตามกฎระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

หนึ่งในพื้นที่ฝังกลบของ BWG ก็เช่น ศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรม 370 ไร่ ในจังหวัดสระบุรี

ในช่วงเวลานั้น ธุรกิจของ BWG ดำเนินไปอย่างราบรื่น
แต่ด้วยกลวิธีฝังกลบ.. ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นข้อจำกัดในเวลาต่อมา
เมื่อพื้นที่ฝังกลบเริ่มเต็มขึ้นเรื่อย ๆ

แล้ว BWG ทำอย่างไร ?

BWG มองหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ
ด้วยการนำขยะที่ไม่เป็นของเสียอันตราย และมีค่าความร้อน
มาผลิตให้กลายเป็นเชื้อเพลิงแข็ง หรือ Solid Recovered Fuel (SRF)
เพื่อนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ที่เรียกว่า Waste to Energy

แนวคิดนี้เรียกได้ว่าเป็น การสร้างมูลค่าของเสียจากโรงงาน
ไปพร้อมกับเทรนด์รักษ์โลก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการฝังกลบ
และลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต

ทีนี้เมื่อ BWG มีเชื้อเพลิง SRF อยู่ในมือ
ในช่วงแรกก็ขายต่อให้กับโรงปูนซีเมนต์ต่าง ๆ ในจังหวัดสระบุรี แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก
ดังนั้น BWG ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการขยายธุรกิจเข้าสู่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม
เพื่อจะได้มีปลายทางรับซื้อเชื้อเพลิง SRF ของตนเอง

บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC ภายใต้อาณาจักร BWG จึงถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2547

ETC กลายเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงกากอุตสาหกรรมแห่งแรกในไทย
และยังเป็นประเภทโรงไฟฟ้าที่ได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Feed-in Tariff หรือ FiT) สูงสุด เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ

ทีนี้ ถ้าถามว่าอะไรคือ กลยุทธ์ธุรกิจของ BWG มาตลอด 27 ปี ?
จริง ๆ แล้ว คุณสุวัฒน์วางแผนเดินหมากธุรกิจด้วย 6 กลยุทธ์ระยะยาวที่วางไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็สามารถทำสำเร็จมาเรื่อย ๆ

1.BWG สร้างธุรกิจแบบแตกแล้วโต
โตแล้วกลับมาช่วยเหลือกันแบบ SYNERGY ในเครือบริษัทฯ
ปัจจุบัน BWG มี 3 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยทุกบริษัทฯ บริหารธุรกิจภายใต้คอนเซปต์ “การจัดการขยะอุตสาหกรรม” เป็นแกนหลัก
-BWG เน้นการฝังกลบและแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง
-AKP เน้นการเผาทำลายขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย ที่มี BWG ถืออยู่ 51.18%
-ETC เน้นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะผสมผสานและขยะอุตสาหกรรม ที่มี BWG ถืออยู่ 43.93%
แนวคิดนี้ ทำให้กลุ่ม BWG มีฐานการตลาดที่กว้างขึ้น
สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างการเติบโตได้สะดวกขึ้น
และที่สำคัญ แต่ละบริษัทยังช่วยส่งเสริมกันได้ดียิ่งขึ้นด้วย

2.BWG ไม่หยุดมองหาโอกาสทางธุรกิจ

สังเกตได้จากเส้นทางธุรกิจข้างต้น แม้ในวันแรกจะเริ่มต้นธุรกิจบริหารจัดการกากขยะ
ต่อมาก็ขยายโอกาสเข้าสู่ธุรกิจเชื้อเพลิง และสามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน
โดยล่าสุดยังมี GULF เป็นพาร์ตเนอร์เรียบร้อยแล้ว

3.BWG เลือกพันธมิตรที่ช่วยเสริมจุดเด่น ลดจุดด้อย

อย่างในครั้งนี้ BWG และ ETC ร่วมมือกับ GULF ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน
เพราะเชื่อว่าจะเป็นจุดสำคัญอีกครั้งในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ด้วยที่ว่า GULF มีขุมกำลังด้านการเงินที่แข็งแกร่ง มีประสบการณ์และความสามารถในโครงการขนาดใหญ่ระดับสากล ทั้งในแง่ของการผลิตและขายไฟฟ้าให้หลายประเทศทั่วโลก
ขณะเดียวกัน BWG และ ETC ก็เติมเต็มด้วยประสบการณ์และความรู้เฉพาะทางด้านการผลิตเชื้อเพลิงและไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม
เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

4.BWG มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ทำ

สะท้อนจากประสบการณ์จริง และการต่อยอดธุรกิจมาตลอดกว่า 27 ปี
ทุกกระบวนการล้วนมีคุณภาพ และได้มาตรฐานในระดับสากล
ที่สำคัญ ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนใกล้เคียง

5.BWG พร้อมบริการครบวงจรแบบ One Stop Service

นอกจากตัวอย่างธุรกิจหลักที่กล่าวไปข้างต้น
ปัจจุบันอาณาจักร BWG ยังมีหลากหลายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น

-BWC ธุรกิจบริหารจัดการ ปรับปรุงคุณภาพของเหลว เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
-BWT ธุรกิจขนส่งขยะอุตสาหกรรมที่มีระบบควบคุมระหว่างขนส่ง
-AKP ธุรกิจให้บริการรับเผากากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย
-ETC ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานทดแทน จากขยะอุตสาหกรรม
6.BWG พร้อมเติบโตล้อไปตามเศรษฐกิจหมุนเวียน Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ของนโยบายภาครัฐ

เพราะด้วยพื้นฐานธุรกิจที่นำ “ขยะอุตสาหกรรม” มาแปรรูปเป็น “พลังงานไฟฟ้า”
นอกจากจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดปริมาณของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
ยังสอดรับกับนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการพัฒนาความยั่งยืนด้วยพลังงานสีเขียว อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ ทำให้อาณาจักร BWG ก้าวขึ้นมาสู่อันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย
และมีรายได้หลักพันล้านบาทต่อปีได้สำเร็จ

ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ..
ในปี 2565 ประเทศไทยมีปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมอันตราย 2.71 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 81% จากปีก่อน
ซึ่งนั่นก็หมายถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของ BWG ด้วยเช่นกัน

References
- รายงานประจำปี 2565 ของ BWG
- รายงานประจำปี 2565 ของ ETC
- http://env_data.onep.go.th/reports/subject/view/153

คำเตือน : โพสต์นี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูล ไม่ได้แนะนำให้ซื้อหรือขาย แต่อย่างใด
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.