ทำไมธุรกิจ E-commerce ไม่มีเจ้าตลาด ที่ครองได้ทั่วโลก

ทำไมธุรกิจ E-commerce ไม่มีเจ้าตลาด ที่ครองได้ทั่วโลก

24 มี.ค. 2024
ทำไมธุรกิจ E-commerce ไม่มีเจ้าตลาด ที่ครองได้ทั่วโลก /โดย ลงทุนแมน
หากเราลองดูเจ้าตลาด E-commerce ในแต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ เช่น

- Shopee และ Lazada ที่ครองตลาดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- Amazon ที่ครองตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป
- Alibaba และ JD ที่ครองตลาดในจีน
- Coupang ที่ครองตลาดในเกาหลีใต้
ซึ่งเราจะเห็นว่า แม้ธุรกิจ E-commerce จะสามารถครองตลาดในระดับประเทศหรือภูมิภาคได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่กลับไม่มีเจ้าไหนเลย ที่ยึดครองส่วนแบ่งในระดับโลกได้
ทำไมธุรกิจ E-commerce ที่เป็นธุรกิจดาวรุ่งในยุคนี้ ถึงไม่มีเจ้าตลาดโลก ?
แล้วเหตุผลเบื้องหลังเรื่องนี้ เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ธุรกิจค้าขายออนไลน์ หรือ E-commerce ผงาดขึ้นพร้อม ๆ กับสิ่งหนึ่ง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในธุรกิจนี้ นั่นก็คือ “อินเทอร์เน็ต” ที่ช่วยเชื่อมผู้ซื้อกับผู้ขายเข้าหากัน แม้ไม่ต้องเจอหน้ากันโดยตรง จึงทำให้สามารถเกิดธุรกรรมซื้อขายกันได้ทุกที่ ทุกเวลา
โดยในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ที่อินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้เกิดธุรกิจ E-commerce ขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น
- Amazon ที่ก่อตั้งโดยเจฟฟ์ เบโซส ที่สหรัฐอเมริกา ในปี 1994
- Alibaba ที่ก่อตั้งโดยแจ็ก หม่า ที่ประเทศจีน ในปี 1999
โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจ E-commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงขยายฐานลูกค้าและผู้ใช้งานได้อย่างก้าวกระโดด
แล้วอะไรทำให้ธุรกิจ E-commerce เจ้าใดเจ้าหนึ่ง ไม่สามารถเจาะตลาดทั่วโลกได้ เหมือนกับธุรกิจแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Facebook, YouTube, TikTok, Netflix
เหตุผลแรกเลยก็คือ
“ระบบหลังบ้านของ E-commerce ไม่ได้มีเพียงอินเทอร์เน็ตเท่านั้น”
แม้แพลตฟอร์มสั่งของออนไลน์ จะใช้ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ผ่านปลายนิ้ว
แต่ธุรกิจนี้ ยังต้องพึ่งพาระบบหลังบ้านอีกมากมาย เช่น คลังสินค้า และการขนส่ง
ซึ่งการที่บรรดาแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถส่งของให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ก็มาจากการลงทุนอย่างหนัก ในระบบหลังบ้านเหล่านี้นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น Amazon ที่มีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง รวมถึงคลังสินค้า ในปี 2023 มากถึง 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 16% ของรายได้ทั้งหมดเลยทีเดียว
พอเป็นแบบนี้ หากธุรกิจ E-commerce จะสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น การลงทุนในคลังสินค้าและระบบขนส่งของตัวเอง ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การขยายธุรกิจไปทั่วโลก ทำได้ยากมาก เพราะต้องไปลงทุนระบบคลังสินค้าและการขนส่งในประเทศต่าง ๆ อย่างมหาศาล
ยิ่งขยาย ก็ต้องยิ่งลงทุนเพิ่ม และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นด้วย เป็นเงาตามตัวนั่นเอง
ดังนั้น การที่บริษัทหนึ่ง ๆ จะมีทุนและทรัพยากรมากพอที่จะขยายกิจการไปทั่วโลก จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
เหตุผลต่อมา คือ
“การแข่งขันที่ดุเดือดในแต่ละประเทศ”
ต้องบอกว่า ธุรกิจ E-commerce มักจะไม่มีกำไรในช่วงแรก เพราะต้องอัดโปรโมชันหนัก ๆ เพื่อเพิ่มฐานผู้ใช้งาน เข้ามาใช้บริการ
ซึ่งทำให้เจ้าของบรรดาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Amazon, Alibaba, Shopee ต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าที่จะพลิกกลับมามีกำไรได้
และทำให้ธุรกิจ E-commerce สามารถครองตลาดได้เพียงแค่ในพื้นที่ของตัวเอง แต่หากออกไปแข่งขันนอกพื้นที่ของตัวเอง ก็มักเจอกับการขาดทุนอย่างหนักหน่วงเข้ามาซ้ำเติมอีก
ตัวอย่างเช่น Amazon ที่แม้จะสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานในภูมิภาคอเมริกาเหนือได้ แต่ในพื้นที่อื่น ๆ กลับขาดทุนรวมกันสูงถึง 95,000 ล้านบาท ในปี 2023
ส่วน Alibaba จากจีน ก็เจอปัญหาเดียวกับ Amazon เพราะแม้จะมีกำไรในบ้านตัวเอง แต่กลับขาดทุนจากธุรกิจ E-commerce ในต่างประเทศ สูงถึง 42,000 ล้านบาท ในปี 2023
ซึ่งก็มาจากการที่ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งในพื้นที่อื่น ๆ ที่ต่างก็พยายามรักษาตลาดของตัวเอง และทำให้ต้องอัดโปรโมชัน เพื่อแย่งลูกค้ากันอยู่ตลอดนั่นเอง
โดย Amazon แม้จะครองส่วนแบ่งในญี่ปุ่นได้มากที่สุด แต่ก็แข่งขันอย่างดุเดือดกับ Rakuten ที่มีส่วนแบ่งตลาดเบอร์ 2
ในขณะที่ Alibaba เจ้าของ Lazada ก็ต้องแย่งตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับ Sea Group เจ้าของ Shopee และยังไม่มีท่าทีว่าสงครามนี้จะจบลงเมื่อไร
ทำให้สุดท้ายแล้ว การที่ธุรกิจ E-commerce จะครองตลาดได้ทั่วโลก ก็ต้องเจอกับคู่แข่งที่มาพร้อมการแข่งขันที่ดุเดือด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าถิ่นเดิมที่ทำตลาดมาก่อนแล้ว จึงมีความได้เปรียบมากกว่า และทำให้ไม่มีใครเป็นผู้ชนะระดับโลก ในเกมนี้เลย
ลองนึกภาพ Amazon เข้ามาตีตลาดบ้านเรา แข่งกับ Lazada, Shopee
หรือกลับกัน Lazada, Shopee เข้าไปบุกตลาดสหรัฐฯ ชิงลูกค้าจาก Amazon ซึ่งก็คงสู้ลำบาก..
มาถึงเหตุผลสุดท้าย คือ
“การเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ”
ธุรกิจ E-commerce คือธุรกิจที่ต้องเข้าใจผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การค้นหา การเลือกสินค้า การตัดสินใจจ่ายเงิน การเข้ามาซื้อซ้ำ ไปจนถึงประสบการณ์ของลูกค้า
ซึ่งแม้บริษัทจะสามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้มาได้ จากในแพลตฟอร์มก็ตาม แต่การตีความข้อมูลเหล่านี้ และเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคจริง ๆ กลายเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จ
เช่น Coupang ในเกาหลีใต้ ที่สังเกตว่า ลูกค้ามักจะสั่งซื้อสินค้าตอนกลางคืน จึงเพิ่มบริการพิเศษ คือถ้าลูกค้ายืนยันคำสั่งซื้อก่อนเที่ยงคืน ก็จะได้รับสินค้าก่อน 7 โมงเช้า ในวันถัดมา
ซึ่งกลยุทธ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Coupang ประสบความสำเร็จอย่างมากในเกาหลีใต้ โดยที่คู่แข่งจากนอกประเทศ เข้ามาแข่งขันได้ยาก
มาถึงตรงนี้ ทุกคนก็คงพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมธุรกิจ E-commerce ไม่มีเจ้าใดเจ้าหนึ่ง ครองส่วนแบ่งในระดับโลกได้สำเร็จเลย
จะมีก็แต่เป็นผู้ชนะในระดับประเทศ​หรือภูมิภาค แต่กลับไม่สามารถรุกตลาดอื่น ๆ ที่มีเจ้าตลาดอยู่แล้วมาครองได้
ต่างจากธุรกิจแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย, สตรีมมิง ที่สามารถมีฐานผู้ใช้งานอยู่ทั่วโลกได้ เพราะระบบหลังบ้าน ไม่จำเป็นต้องลงทุนคลังสินค้าอะไรเลย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://ir.aboutamazon.com/quarterly-results/default.aspx
-https://www.alibabagroup.com/en-US/ir-financial-reports-quarterly-results
-https://www.sea.com/investor/quarterlyresults
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.