ทำไม ประเทศไทย ต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่สามารถส่งออกได้

ทำไม ประเทศไทย ต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่สามารถส่งออกได้

26 มี.ค. 2024
ทำไม ประเทศไทย ต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่สามารถส่งออกได้ /โดย ลงทุนแมน
ปีที่แล้ว “น้ำมันสำเร็จรูป” กลายเป็นสินค้าส่งออก มากสุดอันดับ 5 ด้วยมูลค่ากว่า 353,011 ล้านบาท
แต่ในปีเดียวกัน ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปกว่า 1,318,496 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 13% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดเลยทีเดียว
แล้วทำไมไทย ต้องนำเข้าน้ำมัน มากขนาดนี้
ทั้งที่สามารถส่งออกได้หลักแสนล้าน ?
เรื่องนี้มีเหตุผลอะไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่น เรามาเข้าใจกันก่อนว่า น้ำมันดิบที่เจาะได้
จะถูกนำไปกลั่น จนกลายเป็น “น้ำมันสำเร็จรูป” เช่น น้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน
และโดยเฉลี่ยแล้ว เรามีการจัดหาน้ำมันดิบ เพื่อใช้ในประเทศกว่า 1,032,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งมาจาก..
- การนำเข้าจากตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดีอาระเบีย 43%
- การนำเข้าจากตะวันออกไกล เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย 28%
- การนำเข้าจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย,
แองโกลา, ลิเบีย 23%
- ผลิตในประเทศไทย 6% เช่น แหล่งเอราวัณ
เท่ากับว่า การจัดหาน้ำมันดิบของประเทศไทย เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 94% และผลิตเอง 6%
ซึ่งหากไปดูการนำเข้าน้ำมันดิบช่วงที่ผ่านมา
- ปี 2564 มูลค่าการนำเข้า 753,463 ล้านบาท
- ปี 2565 มูลค่าการนำเข้า 1,261,981 ล้านบาท
- ปี 2566 มูลค่าการนำเข้า 1,158,799 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า การนำเข้าจากต่างประเทศที่มากถึง 94% ทำให้เราต้องเสียเงินหลักล้านล้านบาท เพื่อนำเข้าน้ำมันดิบ มาผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป
พออ่านถึงตรงนี้ หลายคนก็คงสงสัยว่า แล้วทำไมเราผลิตน้ำมันดิบได้เอง แต่ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ
เหตุผลหลักเลย ก็เพราะว่า
“น้ำมันดิบบางส่วนที่ผลิตในประเทศ ไม่สามารถกลั่นได้ในประเทศไทย”
น้ำมันดิบ “บางส่วน” จะไม่ได้ถูกนำไปใช้ในโรงกลั่น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากบางแหล่งในประเทศ เนื่องจากมีสารปนเปื้อนสูง
ส่งผลให้โรงกลั่นภายในประเทศ ที่ไม่สามารถกลั่นน้ำมันดิบเหล่านั้นได้ ส่งออกไปขายยังต่างประเทศที่รับซื้อต่ออีกทอดหนึ่ง
และนอกจากเรื่องนี้แล้ว น้ำมันดิบในประเทศที่ผลิตได้
มีลักษณะเบา หรือหมายความว่า สามารถกลั่นออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปชนิดเบา เช่น น้ำมันเบนซิน
ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศส่วนใหญ่ มักใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก
ซึ่งเป็นคำตอบว่า ทำไมประเทศไทยที่นำเข้าน้ำมันดิบแล้ว จึงสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้อีก
โดยในปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกน้ำมันดิบ 65% ไปยังมาเลเซีย และจีน อีกกว่า 20%
นอกจากเรื่องน้ำมันดิบแล้ว หากเราไปดูการส่งออก
“น้ำมันสำเร็จรูป” ช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า
ปี 2564 มูลค่าการส่งออก 280,355 ล้านบาท
ปี 2565 มูลค่าการส่งออก 350,336 ล้านบาท
ปี 2566 มูลค่าการส่งออก 353,010 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ หลายคนก็คงสงสัยอีกรอบว่า แล้วทำไมเราสามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้
เรื่องนี้ไม่เหมือนกับน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศ
แต่เป็นเหตุผลจาก
“น้ำมันสำเร็จรูปส่วนเกิน ถูกส่งออกไปต่างประเทศ”
ซึ่งในปีที่แล้ว น้ำมันสำเร็จรูปที่ประเทศไทยผลิตได้เท่ากับ 174 ล้านลิตรต่อวัน และยังมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปบางส่วน จากต่างประเทศเข้ามาใช้ด้วย โดยเฉลี่ยแล้วนำเข้าราว 11 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากบางช่วงนั้น การผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้
แต่ปัจจุบัน ไทยมียอดการใช้น้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ประมาณ 138 ล้านลิตรต่อวัน
เมื่อปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศ บวกกับการนำเข้ามาแล้ว มากกว่าการบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือก็ต้องขายต่อโดยการส่งออกไปต่างประเทศ
โดยปัจจุบันน้ำมันสำเร็จรูปกว่า 85% ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน เช่น สิงคโปร์, กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย
จึงเป็นที่มาว่า ประเทศไทย ทั้งนำเข้าและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้ในเวลาเดียวกัน
ถึงตรงนี้ อาจสงสัยอีกว่า ทำไมโรงกลั่น จึงไม่กลั่นน้ำมันให้พอดีกับความต้องการภายในประเทศ ?
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ โดยปกติแล้ว โรงกลั่นน้ำมันนั้นจะพยายามใช้กำลังการกลั่นให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดรายได้มาชดเชยกับต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ทำให้ต้องกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปออกมาให้ได้ปริมาณมาก ๆ และคุ้มทุน
จึงทำให้มีน้ำมันสำเร็จรูปบางชนิด ผลิตออกมาเกินความต้องการในประเทศ จนทำให้โรงกลั่นต้องส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายยังต่างประเทศนั่นเอง
สรุปแล้ว คงเข้าใจแล้วว่า ทำไม “น้ำมันสำเร็จรูป”
กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 5 ของไทย ที่มีมูลค่ามากถึง 353,011 ล้านบาท
และการที่ประเทศไทย สามารถผลิตน้ำมันดิบเองได้ ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมัน จากประเทศอื่น ๆ
เรื่องทั้งหมดนี้ จึงส่งผลให้เราต้องนำเข้าและส่งออกน้ำมัน ในเวลาเดียวกัน
เพราะมันมีเหตุผลในเรื่องของคุณภาพน้ำมันดิบ และต้นทุนในการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูป ที่ทำให้ต้องกลั่นครั้งละจำนวนมาก แล้วที่เหลือจากการใช้งานในประเทศ ก็ต้องส่งออกไปขายต่อต่างประเทศ
และสุดท้ายทำให้ในภาพรวม ไทยกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้านั้น สูงกว่ามูลค่าการส่งออก นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://public.tableau.com/app/profile/epposite/viz/2__16516638052850/sheet0
-https://dmf.go.th/public/list/data/detail/id/17167/menu/crc32
-https://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/situation-oil-electric?issearch=1&isc=1&ordering=order&category_id=562&xf_19=23
-https://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx
-https://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/static-energy/static-petroleum
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.