ย้อนรอย สงครามฝิ่น ที่ทำให้จีน เกือบล่มสลาย และสูญเสียฮ่องกง ให้อังกฤษ

ย้อนรอย สงครามฝิ่น ที่ทำให้จีน เกือบล่มสลาย และสูญเสียฮ่องกง ให้อังกฤษ

7 เม.ย. 2024
ย้อนรอย สงครามฝิ่น ที่ทำให้จีน เกือบล่มสลาย และสูญเสียฮ่องกง ให้อังกฤษ /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เช่น ชิป สมาร์ตโฟน รถยนต์ ไม่ใช่สงครามการค้าใหญ่ครั้งแรกที่จีนเคยเจอ
แต่เป็น “สงครามฝิ่น” ที่จีนต้องเผชิญหน้ากับอังกฤษ จนตอนนั้น จีนต้องเสียฮ่องกงให้กับอังกฤษ และเกือบทำให้จีนล่มสลายเลยทีเดียว..
ทำไมฝิ่น ถึงทำให้จีนเกือบล่มสลายได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปราวศตวรรษที่ 19 ตรงกับยุคสมัยราชวงศ์ชิง ของประเทศจีน
ในยุคนั้น จีนอ่อนแออย่างมาก ทั้งปัญหาภายในราชสำนัก ปัญหากบฏในประเทศ ไปจนถึงการที่ชาติตะวันตก พยายามเข้ามามีอิทธิพลในประเทศจีนมากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ อังกฤษ ที่เข้ามาผ่านบริษัทข้ามชาติที่ชื่อว่า British East India Company ซึ่งเป็นบริษัทการค้าข้ามชาติของอังกฤษ ในการทำการค้ากับประเทศต่าง ๆ
โดยบริษัทนี้ ก้าวขึ้นมามีอำนาจมากขึ้น หลังจากรบชนะกองทัพเรือสเปน และทำข้อตกลงกับชาวดัตช์ ในการแบ่งผลประโยชน์การค้าเครื่องเทศ ในอินโดนีเซีย
ไปจนถึงการที่บริษัทเข้าไปล่าอาณานิคมบริเวณ “อนุทวีปอินเดีย” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ประเทศอินเดีย ไปจนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซีย
ทำให้บริษัทสามารถควบคุมการค้ากับอินเดียและบริเวณใกล้เคียงได้แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ้าย ไหม สีย้อม และเครื่องเทศ จนมีความมั่งคั่งสูงมาก
อย่างไรก็ตาม ศูนย์กลางการค้าของโลกตะวันออกยุคนั้น ไม่ได้มีแค่อินเดีย แต่ยังมีจีน ที่มีทรัพยากรจำนวนมาก
ซึ่งทำให้อังกฤษ ไม่สามารถมองข้ามประเทศนี้ไปได้
แต่การเข้าไปค้าขายกับจีน ก็ไม่ง่าย เพราะหัวเมืองใหญ่หลายเมืองของจีนนั้น มีระบบการค้าแบบผูกขาดที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว โดยจีนจะมีการจำกัดการค้าขายกับชาติตะวันตก แค่ในเมืองกว่างโจวเท่านั้น
อีกทั้งจีนยังยึดติดกับระบบบรรณาการ ที่บังคับให้ประเทศที่อยากทำการค้ากับจีน ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาถวาย และนับถือจักรพรรดิจีนเสียก่อน
พอเป็นแบบนี้ อังกฤษจึงไม่สามารถเข้าไปทำการค้าได้อย่างเสรี จนขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลกับจีน
เพราะอังกฤษเอง ต้องนำเข้าสินค้าของจีนหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องลายคราม ผ้าไหม และโดยเฉพาะใบชาจากจีน ที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปอย่างมาก
ตรงกันข้ามกับอังกฤษ ที่ไม่สามารถขายสินค้าของตนเองให้จีนได้มากนัก จนอังกฤษต้องขาดดุลมากถึง 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 1800-1810
แล้วอังกฤษ แก้เกมกับจีนอย่างไร ?
ในปี 1820 อังกฤษเริ่มพบว่า สินค้าที่น่าจะขายได้ดีในจีน นั่นก็คือ “ฝิ่น”
ซึ่งตอนนั้นถูกปลูกมากในอินเดีย ที่เป็นอีกหนึ่งประเทศอาณานิคมของตนเอง ทำให้อังกฤษเริ่มนำฝิ่นมาขายจีน
และก็เป็นไปตามที่คาดไว้ เพราะความต้องการฝิ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอังกฤษกลับมาเกินดุลการค้าถึง 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระหว่างปี 1828-1836
แต่ก็ทำให้คนจีนโดนมอมเมา เกียจคร้านไม่ทำงาน ซึ่งในระยะเวลาแค่ 10 ปี มีชาวจีนติดฝิ่นมากถึง 10 ล้านคน
และยังเป็นช่องทางที่เอื้อให้ข้าราชการทำการทุจริตอีกด้วย จากการขายฝิ่นในราคาที่สูงขึ้นเอง
พอเป็นแบบนี้ จีนเลยมองว่าประเทศอาจล่มสลายได้ จึงมีการประกาศออกกฎหมายห้ามค้าฝิ่น มีการยึดฝิ่นจากพ่อค้าชาวอังกฤษจำนวนมาก และจัดการทำลายทิ้ง
แต่แน่นอนว่าทางอังกฤษก็ไม่ยอม เพราะมองว่าการกระทำของจีนนั้นไม่เป็นธรรม จึงเริ่มเปิดฉากโจมตีจีน และนำไปสู่สงครามฝิ่น โดยครั้งแรกตั้งแต่ในช่วงปี 1834-1843 และครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1856-1860
แต่ด้วยแสนยานุภาพของกองทัพอังกฤษในสมัยนั้น ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ และกลยุทธ์การรบที่ทันสมัยกว่า ส่วนจีนเอง เจอทั้งปัญหาการเมืองในราชสำนัก และสงครามภายใน
ทำให้สุดท้าย ก็เป็นจีนที่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปในที่สุด.. และต้องถูกบีบบังคับจากอังกฤษ ให้ทำข้อตกลงในสนธิสัญญา ที่จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก
ตัวอย่างเช่น การยกเลิกระบบการค้าผูกขาด ลดอัตราภาษีการนำเข้าให้อยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากชาติตะวันตก หลั่งไหลเข้าไปในประเทศจีน
ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมในจีน ที่ยังไม่พร้อมแข่งขันกับต่างชาติ จากระบบผูกขาดก่อนหน้านี้ ก็เริ่มล้มละลาย.. จนนำไปสู่ปัญหาการว่างงานจำนวนมาก
และจีนเองยังต้องชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ทั้งฝิ่นที่จีนทำลายไป และความเสียหายจากสงครามให้แก่อังกฤษ
นอกจากนี้ อังกฤษยังบังคับให้จีน เปิดการค้าฝิ่นให้ถูกกฎหมาย ซึ่งยิ่งเป็นการมอมเมาชาวจีนในประเทศหนักยิ่งขึ้นไปอีก..
รวมไปถึง สิทธิพิเศษอีกมากมายที่จีนต้องมอบให้กับอังกฤษ ซึ่งทำให้ชาติตะวันตกอื่น ๆ ที่อยากมีอิทธิพลในจีน ก็เรียกร้องแบบเดียวกับอังกฤษเช่นกัน
และที่สูญเสียมากที่สุด นั่นคือ ดินแดนในส่วนของเกาะฮ่องกงและเอกราชบนเกาะเกาลูน ที่ต้องยกให้กับอังกฤษ
โดยฮ่องกง อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1842 ซึ่งภายหลังในปี 1898 อังกฤษยังได้กดดันให้จีนมอบดินแดนบริเวณรอบ ๆ เกาะฮ่องกง เพิ่มเติมคือ ดินแดนนิวเทร์ริทอรีส์ (New Territories)
ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าเดิมมาก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 90% ของเขตการปกครอง ที่เรียกรวมกันว่า “ฮ่องกง” ทั้งหมด
โดยอังกฤษตกลงที่จะเช่าดินแดนทั้งหมดนี้ และส่งมอบคืนให้กับจีนในอีก 99 ปีให้หลัง
และในปี 1997 อังกฤษก็ได้ส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีน ซึ่งก็หมายความว่า ฮ่องกงนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เป็นเวลามากกว่า 150 ปี เลยทีเดียว
ซึ่งอีกนัยหนึ่ง ยังนับว่าเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามฝิ่น อีกด้วยเช่นกัน..
ถึงตรงนี้ก็พูดได้ว่า ช่วงสงครามฝิ่นถือเป็นยุคตกต่ำของจีน ก็คงไม่ผิดนัก เพราะมีชาวจีนมากมายต้องติดฝิ่น เศรษฐกิจจีนถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ แถมยังต้องเสียฮ่องกงให้กับอังกฤษไป
แต่ปัจจุบัน จีนก็ได้ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก และกำลังขับเคี่ยวทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลกในตอนนี้
ซึ่งเรื่องราวก็คงแตกต่างไปจากสงครามฝิ่นกับอังกฤษ
ตรงที่จีนไม่ได้อ่อนแอเหมือนอย่างในอดีต และพร้อมท้าชนกับชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิการเมือง การค้า หรือเทคโนโลยี AI..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.britannica.com/topic/East-India-Company
-https://en.wikipedia.org/wiki/China%E2%80%93United_States_trade_war
-http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/hongkongport/poppy.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Opium_Wars
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.