โมเดลธุรกิจ Non Bank ที่สร้างคนรวย 60,000 ล้าน รวยกว่า เจ้าของแบงก์กรุงเทพ

โมเดลธุรกิจ Non Bank ที่สร้างคนรวย 60,000 ล้าน รวยกว่า เจ้าของแบงก์กรุงเทพ

18 เม.ย. 2024
โมเดลธุรกิจ Non Bank ที่สร้างคนรวย 60,000 ล้าน
รวยกว่า เจ้าของแบงก์กรุงเทพ /โดย ลงทุนแมน
ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non Bank ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการที่มีคนไทยจำนวนมาก เข้าถึงการกู้ยืมจากธนาคารได้ยาก
จนปัจจุบัน มีหลายบริษัท Non Bank กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าระดับหลายหมื่นล้านบาท อย่างเช่น
- เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) มูลค่าบริษัท 99,100 ล้านบาท
- ศรีสวัสดิ์ (SAWAD) มูลค่าบริษัท 58,700 ล้านบาท
- เงินติดล้อ (TIDLOR) มูลค่าบริษัท 62,700 ล้านบาท
โดยจากการจัดอันดับของ Forbes มหาเศรษฐีของไทย ปี 2566 อันดับ 21 คือ คุณดาวนภา เพชรอำไพ และคุณชูชาติ เพ็ชรอำไพ ผู้ก่อตั้ง MTC โดยมีความมั่งคั่งสุทธิรวมกันกว่า 64,000 ล้านบาท
มากกว่าคุณชาติศิริและครอบครัวโสภณพนิช เจ้าของธนาคารกรุงเทพ ที่มีความมั่งคั่งสุทธิ 45,000 ล้านบาท
แล้วโมเดลธุรกิจ Non Bank เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Non Bank ก็คือผู้ที่ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อย แต่มีข้อแตกต่างตรงที่ไม่มีบริการรับฝากเงิน เหมือนธนาคารพาณิชย์
โดยจุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือ จะมีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ตามชุมชนต่าง ๆ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย
สามารถตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ ด้วยกระบวนการพิจารณาอนุมัติที่ยืดหยุ่นกว่า และมีความยุ่งยากทางด้านเอกสารต่าง ๆ ที่น้อยกว่าธนาคาร ทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ เพียงใช้เวลาไม่นาน
ซึ่งถ้าเราเข้าไปดูธุรกิจ Non Bank นั้น จะมีการให้บริการสินเชื่อหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อมีหลักประกันเป็นทะเบียนรถยนต์, รถจักรยานยนต์, โฉนดที่ดินและที่อยู่อาศัย, เช่าซื้อรถจักรยานยนต์, สินเชื่อส่วนบุคคล
โดยเฉพาะการจำนำทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ถือว่าเป็นที่นิยมของกลุ่มคนที่เข้าถึงสถาบันการเงินได้ยาก
เพราะหลายคนก็มีพาหนะพวกนี้อยู่แล้ว เพียงแค่นำเล่มทะเบียนไปเป็นหลักประกันเท่านั้น แต่ยังสามารถนำรถไปใช้ทำมาหากินได้ตามปกติ
รวมไปถึงบัตรเครดิต ซึ่ง Non Bank ที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อในกลุ่มนี้ที่โดดเด่นในตลาดหุ้นไทย ก็เช่น KTC และ AEONTS
นอกจากนี้ Non Bank ยังอาศัยจุดแข็งที่มีสาขาจำนวนมาก ขยายธุรกิจเพิ่มเติม อย่างนายหน้าขายประกัน อีกด้วย
ซึ่งหลัก ๆ แล้วต้นทุนของธุรกิจ Non Bank จะมาจาก
- ต้นทุนทางการเงิน
ต้นทุนทางการเงินคิดจาก ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของเงินที่รับมาปล่อยกู้ ซึ่งก็คือการกู้ยืมธนาคาร มาอีกทีหนึ่ง หรืออย่างการออกหุ้นกู้ เป็นต้น
โดยต้นทุนตรงนี้ จะนำไปคำนวณอัตราส่วนที่คุ้นเคยกัน คือ Net Interest Margin (NIM) หรือส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ คิดมาจาก (รายได้ดอกเบี้ยรับ - ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย) / สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย
- ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ
แน่นอนว่า เมื่อได้ปล่อยสินเชื่อไป สิ่งที่ตามมาก็คือความเสี่ยงที่อาจจะเก็บหนี้คืนไม่ได้
นั่นจึงเป็นที่มาของค่าใช้จ่ายตรงนี้ที่เรียกว่า ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือ ECL ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทจะต้องตั้งขึ้นทันที ที่มีการปล่อยกู้ หรือให้เครดิตกับลูกหนี้
ตัวเลขการตั้ง ECL นั้น มีสูตรการคำนวณที่ซับซ้อนพอสมควร แต่มีหลักการคร่าว ๆ คือ
1. การดูสถิติของการผิดนัดชำระหนี้ในอดีต
2. การคาดการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
- ต้นทุนการดำเนินงาน
โดยต้นทุนการดำเนินงานก็อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงาน, ค่าเช่าสาขา, ค่าใช้จ่ายดูแลระบบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อของธุรกิจ Non Bank จะถูกกำกับโดยหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงทำให้มีการถูกกำหนดเพดานดอกเบี้ย
ซึ่งแต่ละประเภทถูกกำหนดด้วยเพดานอัตราดอกเบี้ย ดังนี้
- สินเชื่อส่วนบุคคล สูงสุด 25% ต่อปี
- บัตรเครดิต สูงสุด 16% ต่อปี
- สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สูงสุด 24% ต่อปี
- สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สูงสุด 10% ต่อปี
- สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ สูงสุด 23% ต่อปี
จะเห็นได้ว่าเพดานดอกเบี้ยของ Non Bank ที่ปล่อย อยู่ในระดับค่อนข้างสูงกว่าธนาคารที่ในระดับ 6-7%
เหตุผลหนึ่งที่เพดานดอกเบี้ยสูงกว่านั้น ก็เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการจะปล่อยกู้ไปแล้ว แต่เรียกเก็บไม่ได้
โดยลูกค้าหลักของธนาคาร มักจะมีฐานเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือน ซึ่งมีความสม่ำเสมอของรายได้ที่มากกว่า จึงทำให้มีความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะเบี้ยวหนี้ น้อยกว่าฝั่งของ Non Bank ที่มีกลุ่มลูกค้าเปราะบาง
สะท้อนจาก NPL หรือหนี้เสีย ของทั้ง 2 ธุรกิจ ในไตรมาส 2 ปี 2566 ดังนี้
- ธนาคารพาณิชย์ 2.7%
- Non Bank 3.1%
จาก NPL ของทั้ง 2 ธุรกิจนี้ เราจะเห็นว่าธุรกิจ Non Bank นั้นสูงกว่าอย่างชัดเจน จึงเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจ Non Bank มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคาร เพื่อชดเชยความเสี่ยงหรือต้นทุนตรงนี้ นั่นเอง
สำหรับผลประกอบการปี 2566 ที่ผ่านมา ของ Non Bank รายใหญ่
MTC
รายได้ 24,526 ล้านบาท กำไร 4,906 ล้านบาท
SAWAD
รายได้ 18,915 ล้านบาท กำไร 5,001 ล้านบาท
TIDLOR
รายได้ 18,972 ล้านบาท กำไร 3,790 ล้านบาท
ซึ่งหากลองหารมาเป็นอัตรากำไรสุทธิ จะอยู่ในระดับสูงถึง 20-28% เลยทีเดียว
หรือก็คือ ทุก ๆ รายได้ 100 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว จะเหลือเป็นกำไรถึง 20-28 บาท นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น
อย่างไรก็ตาม แม้โมเดลธุรกิจ Non Bank จะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ดี แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงของธุรกิจสูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสถูกเบี้ยวหนี้สูง การแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น
และโดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องกฎระเบียบ เพราะถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคเป็นวงกว้าง ประกอบกับประเทศไทยเอง ก็มีความท้าทายใหญ่ ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอีกด้วย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-Presentation Opportunity Day บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
-https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1046867
-https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/research-and-publications/reports/financial-stability-snapshot/FSSnapshot_Q366.pdf
-https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20240219.html
-https://www.forbes.com/lists/thailand-billionaires/?sh=54577988223e
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.