กรณีศึกษา Facebook Amazon Google Spotify เคยทำอุปกรณ์ไอที แต่ไม่รุ่ง

กรณีศึกษา Facebook Amazon Google Spotify เคยทำอุปกรณ์ไอที แต่ไม่รุ่ง

กรณีศึกษา Facebook Amazon Google Spotify เคยทำอุปกรณ์ไอที แต่ไม่รุ่ง /โดย ลงทุนแมน
หลายคนคงเห็นความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยีอย่าง
- Meta เจ้าของ Facebook, Instagram
- Amazon เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, Amazon Prime, Amazon Web Services (AWS)
- Alphabet เจ้าของ Google
- Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงระดับโลก
แต่รู้ไหมว่า บริษัทที่ยกตัวอย่างมานี้ เคยทำพลาดเหมือนกัน คือ การทำอุปกรณ์ไอที เสียเอง เพื่อหวังให้คนใช้งานแพลตฟอร์มของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
แต่ผลปรากฏว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง..
เพราะอะไรมันถึงเป็นเช่นนั้น ?
ทำไมบริษัทที่มีเงินทุนมหาศาล และมีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก กลับคว้าน้ำเหลว เมื่อต้องทำอุปกรณ์ไอที ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ตัวอย่างแรก คือ “Meta” เจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook, Instagram, WhatsApp, Messenger
เมื่อปี 2013 นั้น Meta เคยร่วมมือกับ HTC ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติไต้หวัน ในการผลิตสมาร์ตโฟนชื่อรุ่นว่า HTC First
ซึ่งเครื่องถูกออกแบบมาให้มีหน้าจอทางลัดสำหรับใช้งาน Facebook และแอปพลิเคชันในเครือของ Meta โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม กระแสตอบรับด้านคุณภาพการใช้งานยังไม่ค่อยดีเท่าไร อีกทั้งสมาร์ตโฟนรายอื่น ไม่ว่าจะเป็น iPhone หรือ Samsung Galaxy ก็สามารถสร้างปุ่มลัด หรือจัดเรียงแอปพลิเคชัน ตามที่ต้องการได้อยู่แล้ว
ส่งผลให้ HTC First ทำยอดขายไปได้แค่ 15,000 เครื่อง และถูกยกเลิกการผลิตภายในเวลาเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น
ต่อมากรณีของ “Amazon” ผู้นำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
โดย Amazon วางขายสมาร์ตโฟนชื่อว่า Fire Phone ในปี 2014 เพื่อหวังแย่งส่วนแบ่งการตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะนั้น
ซึ่ง Fire Phone มีฟีเชอร์เด่น คือ การถ่ายรูปสิ่งของต่าง ๆ ไปให้ระบบประมวลผลและค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ Amazon มาแสดงรายละเอียดสินค้าบนหน้าจอ พร้อมให้สามารถกดเข้าไปซื้อได้ทันที
แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชอบการช็อปปิงบ่อย ๆ ประกอบกับผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายอื่น ก็มีการปรับตัวรองรับเทรนด์อีคอมเมิร์ซเหมือนกัน เช่น การเริ่มใช้ระบบจ่ายเงินออนไลน์อย่าง Apple Pay
นอกจากนั้น Fire Phone ยังสร้างแอปสตอร์แยกเป็นของตัวเอง แต่มีจำนวนแอปพลิเคชันน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่นมาก รวมทั้งไม่มีแอปยอดนิยม เช่น YouTube, Gmail, Google Maps อีกด้วย
พอขายไม่ค่อยดี Amazon จึงหยุดผลิต Fire Phone ไปในเวลา 1 ปี ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนที่สูญเสียไปประมาณ 6,200 ล้านบาท
บริษัทต่อมาที่มีบทเรียนในการสร้างฮาร์ดแวร์ คือ “Alphabet” เจ้าของ Google
โดยบริษัทวางขายแว่นตาอัจฉริยะชื่อว่า Google Glass เมื่อปี 2014 ซึ่งสามารถถ่ายรูป เช็กอีเมล หรือค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของ Alphabet ได้
อย่างไรก็ตาม เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาก่อนกาล แถม Google Glass มีราคาสูงถึง 55,000 บาท ซึ่งแพงกว่าสมาร์ตโฟน ที่ใช้งานได้หลากหลายและคุณภาพดีกว่า อีกทั้งยังถูกโจมตีเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของคนอื่นด้วย
ทำให้กระแสตอบรับผลิตภัณฑ์ไม่ค่อยดี และมีฐานผู้ใช้งานจำกัด ทาง Alphabet จึงยกเลิกการขาย Google Glass ไปในเวลาเพียง 1 ปี
และไม่กี่ปีมานี้ “Spotify” ผู้นำตลาดแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลง ก็ขอลองท้าทายกับธุรกิจฮาร์ดแวร์เช่นกัน
โดยบริษัทมองว่า ช่วงที่คนฟังเพลงหรือพอดแคสต์กันเยอะ คือ ตอนขับรถ เลยคิดค้นอุปกรณ์ฟังเพลงในรถยนต์ชื่อว่า Car Thing ในปี 2022 และวางขายในราคา 3,300 บาท
Car Thing นั้นจะเชื่อมต่อกับ Spotify บนสมาร์ตโฟน และระบบเสียงของรถยนต์ ซึ่งตัวอุปกรณ์มีหน้าจอแสดงผลเหมือนในแอป Spotify รวมทั้งควบคุมการฟังเพลงได้ง่าย
แต่ Car Thing ก็เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ตัวกลาง ยิ่งถ้าขาดสมาร์ตโฟน ก็จะใช้ไม่ได้เลย ประกอบกับผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อบลูทูทจากสมาร์ตโฟน หรือใช้ระบบในรถยนต์ได้อยู่แล้ว เช่น Apple CarPlay, Android Auto
ทำให้ผ่านไปครึ่งปี Spotify ก็ยกเลิกการผลิต Car Thing เพราะขายไม่ดี รวมทั้งประกาศหยุดให้บริการระบบ ในเดือนธันวาคม ปี 2024 นี้ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนที่เสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาท
จากเรื่องราวของเจ้าแห่งบริษัทซอฟต์แวร์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า
แม้เป็นบริษัทที่เก่งกาจในธุรกิจเดิม แต่ถ้าก้าวออกมาจากความเชี่ยวชาญโดยไม่ทำการบ้านให้ดี ก็มีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ แม้บริษัทจะเต็มไปด้วยทรัพยากรด้านเงินทุนและบุคลากรก็ตาม
และนี่ถือเป็นกำแพงที่บริษัทซอฟต์แวร์หลายแห่ง ยังไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ เน้นผลิตอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการใช้งานแอปพลิเคชันของตัวเอง ซึ่งเป็นการจำกัดฟีเชอร์และฐานผู้ใช้งาน
แตกต่างจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์โดยตรง อย่างเช่น สมาร์ตโฟน ที่สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้หลากหลายในเครื่องเดียว จึงตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน และรักษาฐานผู้ใช้งานได้ดีกว่า
ซึ่งสุดท้าย บริษัทซอฟต์แวร์ ก็ต้องยอมกลับไปเป็นส่วนหนึ่งใน Ecosystem ของสมาร์ตโฟน ตามเดิม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.cnet.com/tech/mobile/heres-why-the-facebook-phone-flopped/
-https://time.com/3536969/amazon-fire-phone-bust/
-https://www.investopedia.com/articles/investing/052115/how-why-google-glass-failed.asp
-https://cryptojackass.blogspot.com/2024/05/spotifys-car-thing-rise-and-fall-of.html?m=1
-https://www.reuters.com/technology/why-spotifys-car-thing-was-destined-hardware-graveyard-2022-07-27/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon