สรุปสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded ส่องทิศทางลงทุน 6 ประเทศน่าสนใจ พร้อมกลยุทธ์ปรับพอร์ตครึ่งปีหลัง 2024

สรุปสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded ส่องทิศทางลงทุน 6 ประเทศน่าสนใจ พร้อมกลยุทธ์ปรับพอร์ตครึ่งปีหลัง 2024

สรุปสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded ส่องทิศทางลงทุน 6 ประเทศน่าสนใจ พร้อมกลยุทธ์ปรับพอร์ตครึ่งปีหลัง 2024
KBank x ลงทุนแมน

ปี 2024 นับเป็นปีที่ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนสูง เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ขณะที่สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่

รวมถึงนโยบายการเงินของ FED ก็ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้ว่าจะมีสัญญาณการชะลอขึ้นดอกเบี้ยบ้างแล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันที่ FED จะคงดอกเบี้ยสูงต่อไป เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

นอกจากนี้ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า จะมีการเลือกตั้งสำคัญในหลายประเทศอีกด้วย

ขณะที่หลายสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น เยอรมนีต้องขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เนื่องจากการเติบโตของตลาด EV ทำให้เยอรมนีได้รับผลกระทบอย่างมากจากอุตสาหกรรมรถยนต์

หรือการเติบโตของบริษัท NVIDIA ที่มูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 190.7% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จากความต้องการด้านชิปสำหรับประมวลผล AI และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขุด Bitcoin ที่ล้วนต้องการชิปขั้นสูงในการประมวลผลข้อมูล

ทำให้นักลงทุนต้องจับตาดูสถานการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งภาคเทคโนโลยี การเมือง สงคราม และความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อตลาดทุนทั้งหมด

มาวันนี้ เดอะวิสดอมกสิกรไทย จึงได้จัดงานสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เพื่อให้เจาะลึกสถานการณ์การลงทุน พร้อมกลยุทธ์ปรับพอร์ตในครึ่งปีหลัง สำหรับลูกค้าเดอะวิสดอมกสิกรไทยโดยเฉพาะ

ความน่าสนใจของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง

คุณมทินา วัชรวราทร, CFA, หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ตลาดการลงทุนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก แม้จะมีความเสี่ยงอยู่ แต่ก็มีโอกาสเช่นกัน ซึ่งตลาดที่น่าสนใจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง สามารถทยอยเข้าสะสมได้ในจังหวะตลาดปรับฐาน เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว

- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

มีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจสูง (Resilience) โดยในปี 2024 GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกเติบโต 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 3.9% สะท้อนถึงตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงเติบโต

ซึ่งรู้หรือไม่ว่า สหรัฐฯ มีการลงทุนด้าน R&D สูงถึง 3.46% ของ GDP ในปี 2021

รวมถึงเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกมากมาย เช่น Apple, Microsoft, Amazon, Alphabet และ Meta ซึ่งล้วนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

สรุปแล้วปัจจัยหนุนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ

1. แรงงานผู้อพยพที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดแรงงานให้แข็งแกร่ง
2. พื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านทรัพยากรมนุษย์ เงินทุน และเทคโนโลยี

จาก 2 ปัจจัยหลักนี้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีความอ่อนไหวต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของ FED อยู่ที่ 2% แต่ในเดือนพฤษภาคม 2024 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.3% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้า จึงอาจทำให้ FED ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น

- ตลาดหุ้นยุโรป

ยังคงต้องจับตาใกล้ชิด หลังการเลือกตั้งสภายุโรปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง

แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะพึ่งพาการผลิตเป็นหลัก แต่ก็มีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลดีต่อยุโรปอย่างเห็นได้ชัด

โดยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวมีทิศทางที่ดี เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือนมิถุนายน 2024 ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 55.5 สะท้อนถึงการขยายตัวของภาคการผลิตและบริการ

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงต้องจับตาผลกระทบจากการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด

เพราะนโยบายของผู้นำคนใหม่ อาจส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจยุโรปในอนาคต ตัวอย่างเช่น นโยบายของฝรั่งเศสที่มีต่อภาคธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังมีเสน่ห์ดึงดูดใจนักลงทุน ด้วยมูลค่าหุ้นที่ยังไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ พร้อมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตโดดเด่น

- ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ถึงแม้ว่าเคยซบเซามานานกว่า 30 ปี แต่หลังจากวิกฤติโรคระบาด ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

- จากข้อมูลจากกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเผยว่า ในปี 2023 ค่าแรงเฉลี่ยของพนักงานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์

- บริษัทต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นมากขึ้น เห็นได้จากการที่หลายบริษัทประกาศนโยบายการจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืน เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุน

ปัจจุบัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีค่า P/E Ratio เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 16.28 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ประมาณ 24.77 เท่า และตลาดหุ้นอินเดียที่อยู่ที่ประมาณ 24.28 เท่า

นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินสดและกระแสเงินสดที่ดี ทำให้มีศักยภาพในการเติบโตและจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรระมัดระวังความเสี่ยงบางประการ เช่น ความผันผวนของค่าเงินเยน หรือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในอนาคต

- ตลาดหุ้นจีน

กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเติบโตที่ไม่สมดุล เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

แม้ว่าเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจีนอย่างภาคการผลิตและการส่งออกจะยังคงเดินหน้าต่อ แต่ปัญหา Oversupply จากการผลิตที่มากเกินไป ก็ยังคงเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างรุนแรง หากเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือสงครามการค้า

ซึ่งปัจจุบันจีนมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น กลุ่มเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Clean Tech) ที่ช่วยลดปัญหามลพิษในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เซมิคอนดัคเตอร์ (Semi-Conductor) และ AI เพื่อชดเชยภาคอสังหาฯ และการผลิตที่มีกำลังปัญหา

แม้ว่าในอดีตตลาดหุ้นจีนจะเคยปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดได้หลายครั้ง แต่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวจะต้องมาจากผลประกอบการและกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง

ดังนั้น ตลาดหุ้นจีน น่าจะยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกสักพัก

- ตลาดหุ้นอินเดีย

กำลังก้าวขึ้นเป็นดาวรุ่งของเอเชีย โดยในปี 2023 อินเดียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงถึง 7.2% ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักของเอเชีย

การเติบโตที่แข็งแกร่งนี้ได้รับแรงหนุนสำคัญจากการลงทุนภาครัฐในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และนำบริษัทอินเดียเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain)

นอกจากนี้ อินเดียยังมีประชากรวัยทำงานจำนวนมากที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอินเดียยังคงมีความท้าทายที่ต้องจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก

หากรัฐบาลอินเดียชะลอการลงทุน อาจส่งผลให้ GDP ชะลอตัวลง และทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะจำกัดความสามารถในการลงทุนของรัฐบาลในอนาคตได้

- ตลาดหุ้นเวียดนาม

กำลังก้าวขึ้นเป็นดาวเด่นในภูมิภาคอาเซียน ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและได้รับประโยชน์จากนโยบาย China+1 ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของบริษัทต่างชาติในการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนเพียงประเทศเดียว

โดยตัวเลขเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงต้นปี 2024 ได้สะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่น ด้านการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2024 ก็เติบโตถึง 15.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 6.8% ของการส่งออกทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2024

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ที่มีทักษะและความสามารถในการทำงาน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในระยะยาว

สุดท้ายแล้ว การลงทุนกระจุกตัวในตลาดใดตลาดหนึ่งอาจมีความเสี่ยง เพราะอาจเกิดสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงควรกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภท และให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ดีในภาวะตลาดที่ผันผวน

โดยแนะนำให้ลงทุนแบบ Core-Satellite Portfolio

- โดยมี Core Portfolio 80% ที่เน้นกระจายลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลก เช่น กองทุน K-WealthPLUS Series ซึ่งบริหารโดย KAsset ร่วมกับ J.P. Morgan Asset Management ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกได้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น

- K-WPBALANCED มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง มีสัดส่วนหุ้นประมาณ 30% เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการพอร์ตที่มีความผันผวนต่ำ
- K-WBSPEEDUP มีความเสี่ยงปานกลาง มีสัดส่วนหุ้นประมาณ 65% มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่พอร์ตยังไม่เหวี่ยงมากเกินไป
- K-WPULTIMATE มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง มีสัดส่วนหุ้นประมาณ 85% โดยกระจายลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก
อีก 20% ของพอร์ตทั้งหมด เป็น Satellite Portfolio สามารถเลือกลงทุนได้ในตลาดที่สนใจ หรือต้องการเก็งกำไร โดยกองทุนที่น่าสนใจในช่วงนี้ ได้แก่ K-GLOBE, K-INDIA, K-VIETNAM และ K-FIXEDPLUS

มาถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปได้ว่า ตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย หรือเวียดนาม ต่างก็มีศักยภาพในการเติบโตที่น่าสนใจในระยะยาว

การลงทุนในตลาดต่างประเทศจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุน

แต่อย่าลืมว่า “กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จด้านการลงทุนที่ยั่งยืน คือ การกระจายความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด” ซึ่งไม่ใช่แค่การมองหาผลตอบแทนที่สูงสุด แต่คือการรู้จักรักษาสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง เพื่อให้พอร์ตการลงทุนของเราเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว…

ลูกค้าเดอะวิสดอมกสิกรไทยสามารถติดตามงานสัมมนา ‘THE WISDOM Wealth Decoded” ครั้งต่อไปได้ที่ https://www.kasikornbank.com/k_4cAP7NY
#KBankTHEWISDOM #WealthDecoded #KBank
*ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

References:

- สรุปสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded ส่องทิศทางการลงทุน พร้อมกลยุทธ์ปรับพอร์ตครึ่งปีหลัง 2024 โดย เดอะวิสดอมกสิกรไทย
- ผลตอบแทน Nvidia ย้อนหลัง 12 เดือน ณ วันที่ 25/06/2024
-https://www.bls.gov/opub/ted/2024/unemployment-rate-at-3-9-percent-in-february-2024.htm#:~:text=The%20unemployment%20rate%20rose%20by,unemployed%20people%20was%206.0%20million.
- https://data.worldbank.org/indicator/GB.XPD.RSDV.GD.ZS?locations=US
- Research and development expenditure (% of GDP) - United States | Data (worldbank.org)
- Japan Stock Market: current P/E Ratio (worldperatio.com)
- https://finance.yahoo.com/quote/NVDA/
-https://www.barrons.com/articles/warren-buffett-berkshire-hathaway-japan-sumitomo-davos-9d9310a3

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon