ค่าเงินบาท กระทบราคาน้ำมันหน้าปั๊ม อย่างไร ?

ค่าเงินบาท กระทบราคาน้ำมันหน้าปั๊ม อย่างไร ?

ค่าเงินบาท กระทบราคาน้ำมันหน้าปั๊ม อย่างไร ? /โดย ลงทุนแมน
เวลาเราขับรถผ่านหน้าปั๊มน้ำมัน เคยสงสัยไหมว่า ทำไมราคาน้ำมันถึงเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง อีกทั้งบางทีราคาน้ำมันดิบโลกแพงขึ้น แต่ในไทยกลับนิ่งทรงตัว บางทีราคาน้ำมันดิบโลกลดลงมาก แต่ในไทยกลับลดลงนิดเดียว
แน่นอนว่า ปัจจัยราคาน้ำมันหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในบ้านเรานั้น ก็คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ผันผวนตามสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ สงคราม ความขัดแย้ง กำลังการผลิตน้ำมัน รวมไปถึงกลุ่ม OPEC ด้วย
แต่มีอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ที่ส่งผลกระทบโดยตรง นั่นก็คือ ค่าเงินบาท
แล้วค่าเงินบาท ส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อย่างแรก หลักการพื้นฐานที่ต้องทำความเข้าใจคือ น้ำมันทั่วโลกจะซื้อขายกันด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) ไม่ว่าน้ำมันนั้นจะเป็นของใคร จะขุดโดยซาอุฯ ขุดโดยสหรัฐฯ หรือส่งออกจากรัสเซีย การค้าขายในตลาดสากล ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องซื้อขายกันด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลหลัก
ทีนี้เมื่อประเทศไทย จะนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมากลั่นต่อสำหรับใช้ในประเทศไทย ก็ต้องเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก่อน ถึงจะทำการซื้อน้ำมันเหล่านั้นเข้ามาได้ ซึ่งค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะมีผลต่อราคาน้ำมันดังนี้
- ค่าเงินบาทแข็งตัว ราคาน้ำมันจะถูกลง (ในมุมผู้นำเข้า)
สมมติว่า ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบคือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ถ้ากรณีเงินบาทแข็งค่า จากเดิม 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 37 บาท ลดเหลือ 32 บาท
เดิมทีเราจะต้องใช้เงิน 3,700 บาท เพื่อซื้อน้ำมัน 1 บาร์เรล
แต่หากค่าเงินบาทแข็งค่า เราจะใช้เงินเพียง 3,200 บาท
จะเห็นว่าเงินบาทจ่ายน้อยลง แต่จะซื้อน้ำมันได้ในปริมาณเท่าเดิม เท่ากับว่าต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันก็จะถูกลง
หากเงินบาทแข็งค่า = ต้นทุนซื้อน้ำมันถูกลง = มีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม จะลดลง
- ค่าเงินบาทอ่อนตัว ราคาน้ำมันก็จะแพงขึ้น (ในมุมผู้นำเข้า)
ถ้ากรณีเงินบาทอ่อนตัว จากเดิม 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 37 บาท
เดิมทีเราจะต้องใช้เงิน 3,300 บาท เพื่อซื้อน้ำมัน แต่เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัว เราจะต้องใช้เงิน 3,700 บาท
คราวนี้เราจะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นเยอะเลย เพื่อซื้อน้ำมันในปริมาณเท่าเดิม เท่ากับว่าต้นทุนน้ำมันแพงขึ้น
หากเงินบาทอ่อนค่า = ต้นทุนซื้อน้ำมันแพงขึ้น = มีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม จะสูงขึ้น
แล้วช่วงนี้ ค่าเงินบาทไทยเป็นอย่างไรบ้าง ?
ย้อนไปแค่ปี 2567-2568 ค่าเงินบาท มีความผันผวนที่ค่อนข้างสูง แกว่งอยู่ในกรอบราคา 32-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ได้รับผลกระทบมาจากทั้งปัจจัยภายนอก และภายในประเทศ
แล้วทำไมบางช่วง ค่าเงินบาท ผันผวนมาก แต่ไม่เห็นผลด้านราคาน้ำมันทันที ?
แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่า จะมีผลโดยตรง แต่ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม ก็ไม่ได้ขยับเพิ่มหรือลดทันทีตามค่าเงินบาท เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น
โครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งในน้ำมัน 1 ลิตร ยังมีภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล, เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าการตลาด ของผู้ค้าปลีกน้ำมัน
นโยบายรัฐบาล อาจใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาช่วยพยุงราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากจนเกินไป เมื่อราคาน้ำมันดิบโลกผันผวน หรือค่าเงินบาทผันผวน ซึ่งทำให้เราอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาหน้าปั๊มในทันที
นอกจากนี้ ช่วงเวลานำเข้าน้ำมันก็มีผล โดยน้ำมันที่เราเติมในวันนี้ อาจจะเป็นน้ำมันดิบที่นำเข้ามาเมื่อเดือนก่อน ทำให้การปรับราคาที่หน้าปั๊ม อาจไม่สะท้อนให้เห็นในทันที
ส่วนที่ราคาน้ำมันแต่ละปั๊ม ที่เราเข้าไปใช้บริการแตกต่างกันนั้นมาจากค่าการตลาด, ค่าขนส่ง, ค่าการบำรุงรักษา, ค่าส่งเสริมการขาย ฯลฯ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์
รวมไปถึงทำเลที่ตั้งของปั๊มน้ำมันแต่ละแบรนด์ เช่น ปั๊มในเมืองมักมีลูกค้าหนาแน่น ยอดขายที่สูง ขายได้ปริมาณมาก ราคาจึงอาจถูกกว่าในบางพื้นที่เล็กน้อย นั่นเอง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon