กรณีศึกษา สติกเกอร์ไลน์

กรณีศึกษา สติกเกอร์ไลน์

19 มิ.ย. 2018
กรณีศึกษา สติกเกอร์ไลน์ / โดย ลงทุนแมน
LINE แอปพลิเคชันที่เราคุ้นเคย
มีสติกเกอร์เป็นเอกลักษณ์แทนคำพูด
รู้ไหมว่าสติกเกอร์นี้สร้างรายได้อย่างมหาศาล
ใครจะไปคิดว่าสติกเกอร์ไลน์ที่ขายดี 10 อันดับแรก
จะมียอดขายเฉลี่ยสูงถึง 15 ล้านบาท
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ LINE เกิดจากภัยธรรมชาติ
จุดที่เป็นแรงบันดาลใจก็คือ การเกิดแผ่นดินไหว และ สึนามิครั้งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม ปี 2554
ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ซึ่งขณะที่เกิดแผ่นดินไหวมักจะมีปัญหาเรื่องระบบสื่อสาร ไม่สามารถติดต่อกันได้ จนทำให้ผู้พัฒนาต้องการสร้างเครื่องมือที่เอาไว้สื่อสารกับคนใกล้ชิด
แอปพลิเคชัน LINE จึงถือกำเนิดเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2554 หลังจากเหตุการณ์สึนามิเพียง 3 เดือน
และหลังจากนั้น การเติบโตของ LINE ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
เดือนมิถุนายน ปี 2554 LINE มีผู้ใช้เพียง 54,212 คน
เวลาผ่านไป 1 ปี 7 เดือน..
เดือนมกราคม ปี 2556 LINE มีผู้ใช้งานครบ 100 ล้านคน
คงมีสินค้าไม่กี่ชิ้นบนโลกนี้ ที่สามารถเข้าถึงคนได้มากถึง 100 ล้านคนภายในเวลา 1 ปี 7 เดือน
และปัจจุบัน จำนวนคนทั่วโลกที่ใช้ LINE มีประมาณ 168 ล้านคน
อันดับ 1 ก็คงหนีไม่พ้นประเทศผู้ให้กำเนิดอย่าง ญี่ปุ่น มีผู้ใช้งาน 73 ล้านคน
ส่วนประเทศอื่นๆ คือ ไทย ไต้หวัน อินโดนีเซีย รวมกันมีผู้ใช้งาน 95 ล้านคน
ช่วงแรก LINE มีรายได้หลักมาจากการขายสติกเกอร์
การขายสติกเกอร์ ทำให้ LINE มีกำไรอย่างมหาศาล เพราะความได้เปรียบที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่
ปีแรกกำไรจากการขายสติกเกอร์มีสูงถึง 115 ล้านบาท
เริ่มจากตัวละครเพียงแค่ 4 ตัว คือ
1. กระต่าย Cony เป็นตัวละครที่มีหลายอารมณ์
2. หมี Brown เป็นตัวละครที่มีจิตใจเมตตา แต่มีสีหน้าเดียว
3. นาย Moon เป็นตัวละครที่มีหลากหลายบุคลิก
4. นาย James เป็นตัวละครที่มีบุคลิกรักษาภาพพจน์ตัวเอง
LINE สร้างสติกเกอร์จากตัวละครทั้ง 4 ในรูปแบบอื่นๆ และก็เพิ่มตัวละครมากขึ้น ทำให้ขายได้อย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 LINE ประกาศเปิดบริการ LINE Creators Market
LINE Creators Market คืออะไร?
บริการนี้สร้างเพื่อให้คนทั่วไปออกแบบตัวละคร เพื่อมาขายเป็นสติกเกอร์ และ ธีม ใน LINE Store ได้เอง เรียกว่า “ครีเอเตอร์”
หลังจากเปิดตัวก็ได้เสียงตอบรับ และมีคนสนใจมากกว่า 390,000 คน จาก 156 ประเทศ
และจากข้อมูลรายได้ของสติกเกอร์ LINE ทั่วโลกย้อนหลัง 3 ปี พบว่า
ปี 2558 รายได้ 8.4 พันล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 8.6 พันล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 8.9 พันล้านบาท
รวมรายได้สามปีล่าสุด รายได้สติกเกอร์ LINE ทั่วโลกมียอดขายหลักหมื่นล้านบาท..
แล้วครีเอเตอร์จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เท่าไร?
ครีเอเตอร์จะได้รับส่วนแบ่ง 50% จากยอดขายสติกเกอร์ และธีม (หลังหักค่าธรรมเนียม 30% ของ Apple Google หรืออื่นๆ แล้ว)
และรู้หรือไม่ว่า ในประเทศไทยมีการดาวน์โหลดสติกเกอร์มากกว่า 500 ล้านครั้งทั้งฟรี และไม่ฟรี
ซึ่งกลุ่มลูกค้า 60% เป็นผู้หญิง มักจะเลือกคาแรกเตอร์ น่ารัก
อีก 40% เป็นกลุ่มลูกค้าผู้ชาย ที่ส่วนใหญ่จะชอบแนวตลก เฮฮา
เราได้อะไรจากเรื่องนี้ เราได้เห็นถึงโอกาสการสร้างรายได้ในยุคนี้มีเต็มไปหมด
จาก 7 ปีที่แล้วยังไม่มีโปรแกรม LINE เกิดขึ้น
มาวันนี้ LINE มีผู้ใช้งานทั่วโลกเป็นร้อยล้านคน ขายสติกเกอร์ได้เป็นหมื่นล้านบาท
ถ้าเราอยากเริ่มต้นอะไรสักอย่าง ไม่ต้องกลัวว่าจะใช้เวลานานกว่าที่จะประสบความสำเร็จ
LINE เป็นตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว..
----------------------
ลงทุนแมนมีสติกเกอร์แล้ว มี 40 actions ของลงทุนแมนให้เลือกจุใจ โหลดเลยได้ที่ https://line.me/S/sticker/3860154
----------------------
Reference
-http://www.forbesthailand.com/news-detail.php?did=433
-https://creator.line.me/th/
-https://www.marketingoops.com/media-ads/social-media/line-loses-users-southeast-asia/
-https://www.statista.com/statistics/287343/line-app-revenue-distribution-segment/
-https://scdn.line-apps.com/stf/linecorp/en/ir/all/17Q4_Earning_Releases_EN.pdf
[7460].
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.