วิกฤติ วานิลลา

วิกฤติ วานิลลา

15 ก.ย. 2018
วิกฤติ วานิลลา / โดย ลงทุนแมน
“จะเป็นอย่างไรถ้าโลกนี้ไม่มีวานิลลา”
ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะหันไปทางไหนก็คงพบส่วนผสมของวานิลลาเต็มไปหมด
ทั้งในอาหาร ขนมหวาน เครื่องสำอาง แม้กระทั่ง น้ำหอม
โดยเฉพาะไอศกรีมรสวานิลลา ซึ่งถือเป็นรสที่มีการผลิตขายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
โดยคิดเป็น 28% จากยอดการผลิตไอศกรีมทั้งหมด
แต่รู้ไหมว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ราคาของวานิลลา 1 กิโลกรัม มีราคาสูงถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐ
แพงกว่าราคาของแร่เงิน 1 กิโลกรัม ซึ่งในขณะนั้นมีราคา 538 ดอลลาร์สหรัฐ
เกิดอะไรขึ้นกับวานิลลา?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริงๆ แล้ววานิลลาที่เรานำมาใช้กันอยู่ทุกวันนี้
เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก
 
โดยส่วนที่นำมาใช้ในการสกัดกลิ่นหรือนำมาประกอบอาหารก็คือ “ฝัก”
ในระยะแรกผลผลิตที่ได้ของวานิลลาค่อนข้างจำกัด
เนื่องจากการผสมเกสรของพืชชนิดนี้ จำเป็นจะต้องใช้ผึ้งเมลีโพนา (Melipona Bee) ซึ่งเป็นผึ้งสายพันธุ์เม็กซิกัน
ดอกของต้นวานิลลาจะออกเพียงปีละ 1 วันในฤดูใบไม้ผลิ
และถ้าไม่มีการผสมเกสรโดยผึ้งเมลีโพนาภายใน 12 ชั่วโมงหลังจากที่ดอกไม้บานแล้ว ดอกนั้นก็จะร่วงโรยไปโดยไม่มีฝัก
นอกจากนั้นอัตราความสำเร็จในการผสมเกสรก็ยังมีเพียงแค่ 1% เท่านั้น
ต่อมามีผู้สามารถคิดค้นการผสมเกสรวานิลลาด้วยมือ ทำให้การปลูกพืชชนิดนี้เริ่มแพร่หลายไปยังประเทศอื่นมากขึ้น
หลังของเกสรของดอกวานิลลาถูกผสมเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีก 9 เดือน จึงจะได้ฝักวานิลลาที่โตเต็มที่และเก็บได้
แต่เมื่อเก็บมาแล้วก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทันที เนื่องจากจะต้องตากแห้งหรืออบอีกหลายสัปดาห์ เพื่อให้กลิ่นเข้มข้นขึ้น ก่อนจะสามารถนำไปขายออกสู่ท้องตลาด
การจะได้ฝักวานิลลา 1 กิโลกรัม ต้องใช้ดอกวานิลลาถึง 600 ดอกเลยทีเดียว
ด้วยกระบวนการผลิตที่มีความยากลำบาก และราคาในอดีตที่ไม่สูงนัก
ทำให้เกษตรกรหลายคนเริ่มหันไปปลูกอย่างอื่นแทน
ต่อมาเมื่อความต้องการของตลาดหรืออุปสงค์เพิ่มขึ้น
วานิลลาจึงกลับมาเป็นพืชที่ได้รับความสำคัญอีกครั้ง
ราคาของวานิลลาจึงปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
ปี 2012 ราคากิโลกรัมละ 21.7 ดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2013 ราคากิโลกรัมละ 31.7 ดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2014 ราคากิโลกรัมละ 46.9 ดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2015 ราคากิโลกรัมละ 66.1 ดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2016 ราคากิโลกรัมละ 195.4 ดอลลาร์สหรัฐ
วานิลลาราคาเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า ในปี 2012-2016
ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันวานิลลาเกือบ 80% ในตลาดโลก มาจากประเทศมาดากัสการ์
เนื่องจากสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ทำให้วานิลลาที่ได้ มีคุณภาพ มีกลิ่นและรสชาติที่เป็นที่ชื่นชอบมากกว่าพื้นที่ปลูกอื่นๆ
แต่ในเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมา
พายุไซโคลน Enawo ได้ถล่มพื้นที่การปลูกวานิลลาที่ใหญ่ที่สุดแห่งนี้จนเสียหายอย่างหนัก
ทำให้วานิลลาขาดตลาด และราคาก็ได้พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐ
เรื่องนี้กระทบไปถึงร้านไอศกรีมโฮมเมดบางแห่งในกรุงลอนดอน ต้องประกาศหยุดขายไอศกรีมรสวานิลลา เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ
โดยทั่วไปแล้ววานิลลาต้องใช้เวลาปลูกประมาณ 4 ปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
ด้วยปริมาณต้นวานิลลาที่ลดลง ประกอบกับราคาที่สูงขึ้นมาหลายเท่าตัว
ฝักวานิลลาเป็นสิ่งที่มีมูลค่าขึ้นมา และกลายเป็นที่หมายตาของเหล่าโจร
ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกวานิลลาต้องจัดเวรยามเฝ้าสวนกันทั้งวันทั้งคืน
รวมถึงสลักชื่อหรือซีเรียลนัมเบอร์ไว้บนฝักเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ
นอกจากนั้นการที่ผลผลิตมีราคาสูง ก็ทำให้มีการถางป่าเพื่อนำไปเป็นพื้นที่ปลูกวานิลลา
ซึ่งเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกวานิลลาเองในระยะยาว
เพราะป่าทำให้เกิดฝน นำมาสู่ความชื้นและสภาพดินที่เหมาะสมในการปลูกวานิลลา หากจำนวนป่าลดลง ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของวานิลลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตามเราอาจรู้สึกว่าสินค้าวานิลลารอบตัวเรา ไม่ได้ปรับราคาสูงขึ้นตามมากนัก
นั่นเป็นเพราะว่าในภาคการผลิตส่วนใหญ่กว่า 99% มักจะใช้วานิลลาสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบ
ซึ่งราคาของวานิลลาสังเคราะห์เหล่านี้อาจจะถูกกว่าฝักวานิลลาแท้ถึง 20 เท่า
เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าในยุคสมัยนี้ สิ่งที่กระทบกับเพียงประเทศเดียว อาจส่งผลต่อคนทั่วทั้งโลก
ในปี 2011 ตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ในตอนนั้นใครจะไปคิดว่า ฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกจะขาดตลาดได้ นั่นเป็นเพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตฮาร์ดดิสก์ของโลก
และนี่ก็เป็นอีกครั้ง..
มาดากัสการ์เป็นประเทศเดียวที่โดนพายุไซโคลน แต่กลับไม่ใช่ประเทศเดียวที่ได้รับผลกระทบ เพราะคนทั้งโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
พออ่านบทความนี้จบ เราอาจจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อเรากินไอศกรีมวานิลลาครั้งต่อไป
เพราะเปรียบเสมือนเรากำลังได้กินของราคาแพงที่ตอนนี้กำลังหายากอยู่นั่นเอง
แต่ทีนี้ก็ต้องขึ้นกับว่าไอศกรีมที่เรากิน ใช้วานิลลาจริง หรือ วานิลลาสังเคราะห์..
ลงทุนแมนได้ลองไปรวบรวมบางส่วนของแบรนด์ไอศกรีมที่ใช้ส่วนผสมของวานิลลาจริง
มีทั้ง Ben & Jerry’s, Häagen-Dazs และ Mövenpick
แม้แบรนด์เหล่านี้อาจจะราคาสูงเมื่อเทียบกับแบรนด์ทั่วไป
แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่แบรนด์เหล่านี้ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพนั่นเอง..
----------------------
เปิดจองหนังสือ ลงทุนแมน 6.0
.
สั่งซื้อได้ที่ลิงก์นี้ https://www.lazada.co.th/-i258086582-s397891180.html
.
ตัวเนื้อหาของแต่ละบทความในเล่มนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น
.
เหมาะกับการซื้อมาอ่านเองในยามว่าง หรือ ซื้อฝากญาติสนิท มิตรสหาย ที่เรารัก
.
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมนรอบนี้ มีส่วนลด 15% เหลือราคา 213 บาท #มีจำนวนจำกัด
.
รับหนังสือภายใน 2 วันทำการ
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.