ความล้มเหลว ของเครื่อง Apple Newton

ความล้มเหลว ของเครื่อง Apple Newton

21 ม.ค. 2019
ความล้มเหลว ของเครื่อง Apple Newton / โดย ลงทุนแมน

ถ้าถามว่าบริษัทอย่าง Apple เคยล้มเหลวอะไรมาก่อน?
ภาพในหัวของทุกคนคงนึกไม่ออก เพราะ Apple เป็นผู้คิดค้นอุปกรณ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, Apple Watch
แต่ทราบหรือไม่ว่า Apple เคยวางจำหน่าย คอมพิวเตอร์แบบพกพา ซึ่งคล้ายๆ กับ iPad มาตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว แต่ปรากฏว่าล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ในปี 1993 Apple เปิดตัว คอมพิวเตอร์แบบพกพา ที่เรียกกันว่า Personal Digital Assistants หรือ PDA เป็นเจ้าแรกของตลาด ในชื่อว่า Apple Newton
บริษัทตั้งเป้าหมายว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นนี้ จะปฏิวัติวงการไอที ให้คนพกคอมพิวเตอร์ ใส่กระเป๋ากางเกง ออกไปทำงานข้างนอกได้
การใช้งานของ Newton นั้น คล้ายคลึงกับ iPad ในปัจจุบันก็ว่าได้ จะต่างกันตรงที่การเน้นใช้ปากกาในการจดบันทึก แล้วเครื่องจะแปลงลายมือ ให้กลายเป็นตัวอักษรในไฟล์งานให้เองโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ เครื่องยังสามารถจัดเก็บรายชื่อ บริหารจัดการปฏิทินงาน และส่งแฟกซ์ได้อีกด้วย

แล้วยอดขายของ Newton เป็นอย่างไร?
Apple ขาย Newton ในราคาเครื่องละ 699 ดอลลาร์ หรือราว 23,000 บาท โดยตั้งเป้ายอดขายในปีแรกไว้ที่ 1 ล้านเครื่อง
แต่ปรากฏว่า 3 เดือนผ่านไป กลับขายไปได้เพียง 5 หมื่นเครื่อง และผ่านไป 5 ปี ยอดขายรวมทั้งหมดอยู่ที่ 2 แสนเครื่อง คิดเป็นรายได้เพียง 4,500 ล้านบาท
มีการประเมินว่า ต้นทุนของโครงการ สูงกว่า 32,000 ล้านบาท (เป็นงบวิจัยและพัฒนา 3,200 ล้านบาท) เท่ากับว่า Apple ขาดทุนมหาศาลกับ Newton
ทำให้ต่อมา ในปี 1998 สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งกลับเข้ามาเป็น CEO บริษัทอีกครั้ง ได้ยกเลิกการผลิต Newton และมุ่งเน้นพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ ที่ใช้งานโดยนิ้วมือมนุษย์ มากกว่าปากกา

เพราะอะไร Newton ถึงล้มเหลว?
Newton ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นปรากฏการณ์ ต่อทั้งผู้บริโภค และธุรกิจอย่างแท้จริง แต่ว่ามันเกิดขึ้นเร็วเกินไป
เทคโนโลยีในขณะนั้น ไม่สามารถสร้างเครื่อง PDA ออกมาให้ผู้บริโภคใช้งานได้อย่างสะดวก จึงทำให้ Newton ไม่เป็นที่พึงพอใจของตลาด
เช่น ตัวเครื่องที่หนากว่า 1 นิ้ว และหนักเกินไป ทำให้พกพาลำบาก
อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ในแต่ละครั้งสั้นเกินไป
การแสดงผลบนหน้าจอที่อ่านยาก
และระบบประมวลผลที่ทำให้เครื่องช้า
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ฟังก์ชันการจดบันทึก ที่เป็นตัวชูโรงของเครื่อง กลับกลายเป็นข้อเสีย เนื่องจากระบบดังกล่าวยังไม่ค่อยเสถียร ทำให้เครื่องแปลงลายมือ ได้เป็นคำที่ไม่ตรงกับที่ผู้ใช้เขียนไป
นอกจากนี้ การใช้งานอินเทอร์เน็ต ผ่าน Wi-Fi หรือคลื่น 2G ในช่วงเวลานั้น ยังไม่มีการพัฒนาและใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงทำให้การใช้งานเครื่อง PDA ยิ่งจำกัด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้บริโภคจึงไม่เห็นประโยชน์ที่จะซื้อ Newton มาใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับราคาที่แพง เมื่อเทียบกับการไปซื้อสมุดโน้ตไม่กี่ร้อยบาท มาจดบันทึกแบบเดิม อาจจะสะดวกกว่าด้วยซ้ำ
รวมทั้ง ผู้เล่นรายอื่นได้เข้ามาแข่งขันในตลาด PDA เช่นกัน ซึ่งขายเครื่องในราคาที่ถูกกว่า Apple ตัวเครื่องเล็กและใช้งานง่ายกว่า จนทำให้ Newton หายไปจากความสนใจ
โดยในปี 1997 เครื่อง Palm PDA มีส่วนแบ่งถึง 66% ขณะที่ Newton มีส่วนแบ่งเพียง 6%
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะล้มเหลว แต่ Newton ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญจุดหนึ่งของ Apple เพราะในภายหลัง บริษัทได้ผสมผสานแนวคิดของ PDA เข้ากับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้องถ่ายรูป, MP3 และ มือถือ รวมกันพัฒนากลายเป็น Smart Device อย่าง iPhone และ iPad ในเวลาต่อมา
iPad รุ่นแรก วางขายเมื่อปี 2010 ซึ่งเพียงวันแรก ก็ขายได้ 3 แสนเครื่อง มากกว่าทั้งชีวิตของ Newton เสียอีก ยอดขายรวมของ iPad รุ่นแรก มีมากถึง 15 ล้านเครื่อง
ทำไมมาคราวนี้ iPad ถึงประสบความสำเร็จ?
คราวนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมารองรับการใช้งานของ Tablet
ตัวเครื่องที่บาง พกพาสะดวก
ระบบการใช้งานที่มีความเสถียรและรวดเร็วขึ้น
ฟังก์ชันใช้งานและแอปพลิเคชันที่หลากหลาย
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
รวมไปถึงพฤติกรรมในโลกออนไลน์ของผู้บริโภค
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ กำลังซื้อของผู้บริโภค ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และต้นทุนของ Tablet ที่ถูกลง ตามเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น
ปี 1993 รายได้ต่อหัวต่อเดือน ในอเมริกา อยู่ที่ 1 แสนบาท ขณะที่ Newton ราคา 23,000 บาท คิดเป็น 23% ของรายได้ต่อเดือน
ปี 2010 รายได้ต่อหัวต่อเดือน ในอเมริกา อยู่ที่ 1.3 แสนบาท ขณะที่ iPad รุ่นแรก ราคา 16,000 บาท คิดเป็น 12% ของรายได้ต่อเดือน

เรื่องนี้แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า
ของดี แต่มาผิดเวลา ก็ล้มเหลวได้เหมือนกัน
สิ่งที่ Apple คิด ถือเป็นไอเดียแห่งอนาคต ที่สักวันมนุษย์จะต้องได้ใช้อย่างแน่นอน
เพียงแต่ว่า ปัจจัยหลายๆ อย่าง ทางเทคโนโลยี และผู้บริโภค ยังไม่เอื้ออำนวยสำหรับมัน
อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลว ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา
หากเรารู้จักที่จะเรียนรู้ แก้ไข และเฝ้ารอจนถึงเวลาที่เหมาะสม โอกาสแห่งความสำเร็จ ก็จะมาถึงได้ในที่สุด
ซึ่งการอดทนรอจังหวะ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ ไม่ว่าจะในเรื่องธุรกิจ การลงทุน หรือการใช้ชีวิต…
----------------------
อ่านเรื่องที่เรายังไม่รู้ของ สตีฟ จอบส์ ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5bc821b43c15b145393471da
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.