สรุปเรื่อง Hyperinflation ของเวเนซุเอลา

สรุปเรื่อง Hyperinflation ของเวเนซุเอลา

14 มี.ค. 2019
สรุปเรื่อง Hyperinflation ของเวเนซุเอลา / โดย ลงทุนแมน
ภาพเงินเวเนซุเอลาที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดบนถนนอย่างไร้ค่า เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ของสิ่งที่เรียกว่า
Hyperinflation
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
ลองอ่านเรื่อง เวเนซุเอลา ที่ลงทุนแมนเคยเขียนทั้งหมด
มีทั้งหมด 4 ตอน
ตอนที่ 1: เวเนซุเอลา จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม
5 มีนาคม 2018
ถ้าเรานึกถึงประเทศเวเนซุเอลาเราจะนึกถึงอะไร..
เป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก
เป็นประเทศที่มีสาวงามเป็นนางงามจักรวาลมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก
แต่ตอนนี้หลายๆ อย่างกำลังเปลี่ยนไป..
วันนี้ดินแดนแห่งนี้กำลังเป็นแดนโกลาหล ผู้คนหิวโหย เศรษฐกิจใกล้พังทลาย เกิดอะไรขึ้นกับประเทศเวเนซุเอลา ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
ประเทศเวเนซุเอลา ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศนี้เคยเป็นอาณานิคมของสเปนและได้รับเอกราชในปี 1811 โดยใช้ระบบการปกครองแบบประธานาธิบดีซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้าคณะรัฐบาล
เวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากมายโดยเฉพาะปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ แร่มีค่าต่างๆ มากมาย
นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลกโดยในปี 2017
มีการคาดการณ์ว่าเวเนซุเอลามีปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่พิสูจน์แล้วประมาณ 17% ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่พิสูจน์แล้วในโลก
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียมเป็นอย่างมาก
รายได้จากการส่งออกน้ำมันและปิโตรเลียมมีสัดส่วนกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออก ดังนั้น ถ้าราคาน้ำมันลดลง รายได้ของเวเนซุเอลาจึงต้องลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อ GDP
ปี 2014 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มูลค่าของ GDP เท่ากับ 11.6 ล้านล้านบาท
ปี 2015 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ 52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มูลค่าของ GDP เท่ากับ 11.0 ล้านล้านบาท
ปี 2016 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ 44 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มูลค่าของ GDP เท่ากับ 7.6 ล้านล้านบาท
จากประเทศที่เคยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศกว่า 1.2 ล้านล้านบาทในช่วงปี 2009 แต่ในปี 2016 กลับเหลือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศประมาณ 480,000 ล้านบาท
ในช่วงปี 2009 เวเนซุเอลาเคยมีหนี้สินภาครัฐทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท แต่ในปี 2016 กลับมีหนี้สินภาครัฐกว่า 3.3 ล้านล้านบาท
การบริหารงานที่ผิดพลาดของภาครัฐ รายได้ของประเทศลดลงจากผลของราคาน้ำมัน และหนี้สินของรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง การออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาในปี 2009 อยู่ที่ประมาณ 27%
ขณะที่ในปี 2016 อยู่ที่กว่า 720%
เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ค่าเงิน โบลิวาร์ (bolivar) อ่อนกว่าลงกว่า 360% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนแบบเป็นทางการ
แต่คาดว่าในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไม่เป็นทางการค่าเงินโบลิวาร์จะอ่อนค่ากว่านั้นมหาศาล
การอ่อนค่าลงของเงินโบลิวาร์ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น เมื่อแพงขึ้นก็ทำให้สินค้านำเข้าค่อยๆ น้อยลง
ประกอบกับการที่รัฐบาลมีการคุมราคาสินค้า อาหารและยารักษาโรคให้อยู่ในระดับต่ำ แต่นั่นกลับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ
เนื่องจากราคาที่กำหนดนั้น ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งธุรกิจเอกชนหลายแห่งไม่สามารถอยู่รอดได้
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สินค้าหลายอย่างขาดแคลนอย่างมาก โดยเฉพาะอาหาร ยารักษาโรค ประชาชนจำนวนมากหิวโหย โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนป่วย
แม้แต่หมอไม่มียาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอที่จะให้การรักษาให้
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปี 2018 นี้ เงินเฟ้อในเวเนซุเอลามีโอกาสจะเพิ่มเป็น 13,000%
ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นในวันนี้อาจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมของอดีตประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ และอดีต 1 ใน 20 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร บริษัทหรือประเทศ แม้ว่าเราจะมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการทำธุรกิจหรือบริหารประเทศ แต่วิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำถือก็ยังถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
ถ้าเปรียบผู้นำเป็นกัปตันเรือ เขาต้องสามารถกำหนด และตัดสินใจว่าจะนำพาเรือไปในทิศทางไหน
ตอนนี้เรือลำที่ชื่อว่าเวเนซุเอลากำลังเจอปัญหา เราสามารถเรียนรู้ว่าเรือลำนั้นได้ทำอะไรผิดพลาดไป
หากใครได้ยินชื่อประเทศเวเนซุเอลา
คงนึกถึงแต่สาวงามเจ้าของมงกุฎนางงามจักรวาลหลายสมัย
แต่รู้หรือไม่?
เงินสกุลดิจิทัลอย่าง BITCOIN กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจในประเทศเป็นอย่างมาก
หากใครติดตามข่าวเศรษฐกิจคงจะพอทราบกันว่า ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจในเวเนซุเอลานั้นอ่อนแอเหลือเกิน
อัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกถึง 700% และถูกคาดการณ์โดย IMF ว่าจะสูงถึง 2000% ภายในปีหน้า
สกุลเงินหลักของประเทศ “bolivar” มีมูลค่าต่ำลงกว่า 92% ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร่ ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด และการฉ้อโกงมาอย่างยาวนาน
จากประเทศที่เคยเป็นมหาอำนาจ มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาใต้
ปัจจุบันแม้กระทั่งสินค้าพื้นฐานเพื่อการอุปโภค บริโภค ก็ยังตกอยู่ในสภาวะขาดแคลน
แล้วเกี่ยวอะไรกับ BITCOIN ?
ปัจจุบันค่าแรงในเวเนซุเอลาต่ำมาก เงินเดือนของพนักงานที่ทำงานให้รัฐอยู่เพียงแค่ 45 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1500 บาท คิดเป็นต่อวันเหลือเพียง 50 บาทเท่านั้นเอง
ในขณะที่ไข่ไก่ 30 ฟองราคาอยู่ที่ 75 บาท
ทำงาน 1 วันก็ยังไม่สามารถซื้อไข่ไก่ได้ด้วยซ้ำ..
ด้วยเหตุผลข้างต้น
ชาวเวเนซุเอลาบางส่วนจึงเริ่มทำงานเสริมในการ ขุดเหรียญ BITCOIN เพื่อนำ BITCOIN มาใช้จ่าย ซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่าน e-commerce ที่รับสกุลเงิน BITCOIN อย่างเช่นเว็บ purse.io
เนื่องจาก BITCOIN เป็นสกุลเงินที่ไม่มีศูนย์กลาง (decentralized) การเมืองหรือเศรษฐกิจในประเทศใดประเทศหนึ่งจึงไม่ส่งผลต่อค่าเงินนี้นั่นเอง
ฟังดูน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศที่สกุลเงินของตัวเองแทบจะไม่มีค่าอีกต่อไป
แต่กลับไม่ได้ง่ายเช่นนั้น
ถึงแม้ว่าการขุด BITCOIN ในเวเนซุเอลาจะถูกกฎหมายอย่าง 100% แต่รัฐบาลกลับไม่เห็นด้วยในสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ เพราะมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อค่าสกุลเงินในประเทศ
ปัจจุบันผู้ขุดถูกจับดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก
ไม่ใช่ในข้อหาขุด BITCOIN แต่เป็นข้อหาโจรกรรมพลังงาน ฟอกเงิน หรือแม้กระทั่งก่อการร้าย…
ด้วยความที่ราคาไฟฟ้าในเวเนซุเอลาถูก จนแทบจะใช้ฟรี เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายประชานิยมที่มีมาอย่างยาวนาน
ทำให้ การขุด BITCOIN ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล ถือว่าได้เปรียบมากหากสามารถทำได้ในประเทศที่มีค่าไฟถูกเช่นนี้
ดังนั้นผู้ที่ขุด BITCOIN ในเวเนซุเอลาจึงถูกจับด้วยข้อหาโจรกรรมพลังงานนั่นเอง
เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือน หากบ้านหลังไหนมีการใช้ไฟฟ้ามากผิดปกติ ก็จะถูกสอบสวนว่ามีการใช้ไฟไปในการทำอะไร ดังนั้นนักขุด BITCOIN ส่วนใหญ่จึงต้องแอบทำอย่างลับๆ
นอกจากจะซ่อนตัวตนว่าเป็นใครแล้ว ยังต้องซ่อนร่องรอยการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งมักทำโดยการกระจายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการขุดไปหลายๆที่ หรือจ่ายเงินเพื่อนบ้านเพื่อใช้ไฟฟ้าสำหรับการขุดนั่นเอง
ปัจจุบันในเวเนซุเอลามีผู้ใช้ BITCOIN สูงถึง 85,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่มีเพียง 450 คน
รายได้เฉลี่ยของการขุด BITCOIN ของชาวเวเนซุเอลาจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 120 USD คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,000 บาท ซึ่งมากกว่าเงินเดือนปกติถึงเกือบ 3 เท่า
ถึงแม้ว่าคนขุด BITCOIN รู้ดีว่าตัวเองเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับ
แต่บางครั้ง คนเราก็ต้องยอมเสี่ยง เพื่อความอยู่รอดของตนเอง และคนที่เรารัก..
References:
washingtonpost, cnbc
-------------------------
ตอนที่ 3: กาแฟแก้วละ 1 ล้าน ในเวเนซุเอลา
12 กรกฎาคม 2018
กาแฟแก้วละ 1 ล้าน เกิดขึ้นจริงในโลกนี้
เกิดขึ้นได้อย่างไร?
แล้วสาเหตุมาจากอะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า
กาแฟแก้วที่ว่านี้ไม่ได้ขายในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นที่ประเทศเวเนซุเอลา
การซื้อกาแฟแก้วหนึ่งในเมืองการาคัส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเวเนซุเอลา เริ่มเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของประชาชน เนื่องจากต้องใช้เงินมากถึง 1 ล้านโบลิวาร์ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของค่าแรงขั้นต่ำของพวกเขา
หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว กาแฟแก้วนี้ยังมีราคาเพียง 2,300 โบลิวาร์
ซึ่งหมายความว่าราคากาแฟในประเทศนี้เพิ่มขึ้นกว่า 43,000%
แม้ประชาชนจะต้องหิ้วเงินจำนวนหลายปึกเพื่อไปซื้อกาแฟเพียงหนึ่งแก้ว
แต่เงินจำนวนนี้กลับเทียบเท่าเงินไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งตอนนี้ตลาดแลกเปลี่ยนแบบไม่เป็นทางการ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีค่าเท่ากับ 3,500,000 โบลิวาร์
แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศเวเนซุเอลา?
เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก สัดส่วนรายได้ของประเทศกว่า 90% มาจากการส่งออกน้ำมันและปิโตรเลียม
ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันตกลงอย่างรวดเร็วในปี 2014 รายได้ของประเทศจึงลดลงตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่นี่ไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดวิกฤตเช่นนี้ขึ้นในเวเนซุเอลา
ในช่วงเวลาการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Hugo Chávez ได้ใช้เงินจำนวนมากในการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและความยากจน
อย่างไรก็ตามนโยบายของ Hugo Chávez กลับให้ผลในทางตรงกันข้าม
เนื่องจากเขาเลือกใช้วิธีกำหนดราคาสินค้าพื้นฐานในระดับต่ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
แต่นั่นกลับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ เนื่องจากราคาที่กำหนดนั้น ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเสียอีก ส่งผลให้ธุรกิจเอกชนหลายแห่งไม่สามารถอยู่รอดได้
เวเนซุเอลาจึงต้องพึ่งการนำเข้าสินค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการขาดเงินตราต่างประเทศ เพื่อใช้ในการนำเข้าสินค้าเหล่านี้
สินค้าเริ่มขาดตลาด ราคาเริ่มสูงขึ้น และรัฐบาลยังคงเรียกความนิยมด้วยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อหวังว่าประชาชนจะมีรายได้มากพอที่จะซื้อสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น
แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น
วิกฤตการณ์นี้ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะยิ่งทำให้ธุรกิจในประเทศอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตสินค้ายิ่งเพิ่มขึ้น
แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ซึ่งควรจะช่วยให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของประเทศได้ขาดหายไป จึงไม่มีใครกล้าลงทุนผลิตสินค้า และนั่นยิ่งทำให้ราคาสินค้าได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปี 2018 เงินเฟ้อในเวเนซุเอลามีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็น 13,865% เมื่อเทียบกับปี 2017
แล้วที่ผ่านมาเวเนซุเอลามีเงินเฟ้อเป็นเท่าไรบ้าง?
ปี 2015 อัตราเงินเฟ้อ 112%
ปี 2016 อัตราเงินเฟ้อ 254%
ปี 2017 อัตราเงินเฟ้อ 1,088%
แต่ล่าสุด ศาสตราจารย์ Steve Hanke นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้คำนวณอัตราเงินเฟ้อของประเทศเวเนซุเอลา ปรากฏว่าในปีนี้เงินเฟ้อของประเทศนี้ได้ทะลุ 40,000% แล้ว และดูมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากประเทศที่เคยร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ สู่ประเทศที่เงินจำนวน 1 ล้านมีค่าแค่เพียงกาแฟแก้วเดียว
เรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า แม้ว่าประเทศจะมีทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์มากเพียงใด
วิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำก็ยังถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร บริษัท หรือประเทศ
ผู้นำที่ดีควรรู้จักวางแผน มองปัญหารอบด้าน เพราะต้องกำหนด และตัดสินใจว่าจะนำพาประเทศไปทิศทางไหน
ทิศทางที่ทำให้เรามั่นใจว่า เราจะไม่ต้องจ่ายกาแฟแก้วละ 1 ล้านบาทในอนาคต เหมือนเวเนซุเอลา..
References:
- https://www.bloomberg.com/news/videos/2018-07-01/inflation-makes-coffee-impossibly-expensive-in-venezuela-video
- https://www.bloomberg.com/features/2016-venezuela-cafe-con-leche-index/
- https://www.bbc.com/news/world-latin-america-36319877
- http://www.imf.org/external/datamapper/PCPIPCH@WEO/WEOWORLD/VEN
- https://twitter.com/steve_hanke/status/1013864635303264256
-------------------------

ตอนที่ 4: เวเนซุเอลา ฝันร้ายที่ไม่สิ้นสุด
22 กุมภาพันธ์ 2019
“ปี 2018 ราคาไก่สดหนึ่งตัวที่เวเนซุเอลาตัวละ 14 ล้านโบลิวาร์”
อัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับ 1,700,000%
ชาวเวเนซุเอลาจะซื้อไก่สักตัว พวกเขาต้องเอาเงินใส่กระสอบไปซื้อ
แต่ถ้าเราคิดว่า นั่นคือสิ่งที่เลวร้ายสุดๆ แล้ว เราอาจคิดผิด..
เพราะว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าภายในปี 2019 อัตราเงินเฟ้อที่เวเนซุเอลา จะแตะระดับ 10,000,000%
เกิดอะไรขึ้นที่นี่ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริงๆ แล้วต้นตอของปัญหาที่เวเนซุเอลาเกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ Hugo Chávez ประธานาธิบดีคนก่อนหน้ายังมีชีวิต
แต่ช่วงนั้น ส่วนหนึ่งเพราะราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง ที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นถึง 147 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ปัญหาต่างๆ ยังไม่ปะทุมากเท่ากับในสมัยของ Nicolás Maduro ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่มาเจอช่วงน้ำมันขาลง จึงเกิดปัญหามากมายอย่างที่เราเห็น
อย่างที่ทุกคนรู้ว่า เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก ทำให้น้ำมันดิบเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศที่มีสัดส่วนกว่า 95% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ดังนั้น น้ำมันดิบจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลเวเนซุเอลาจึงไปยึดกิจการน้ำมันหลายแห่งของเอกชนมาเป็นของรัฐ
อย่างไรก็ตาม หลังจากยึดมาแล้ว รัฐบาลกลับไม่มีการลงทุนในระบบการผลิตและสำรวจ ทำให้ตั้งแต่ปี 2015
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปี 2015 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 1.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปี 2017 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 1.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เทียบกับปริมาณการผลิตปี 1998 ที่ผลิตวันละ 3.50 ล้านบาร์เรลต่อวัน หมายความว่า ไม่ถึง 20 ปีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงกว่า 54%
ปริมาณการส่งออกน้ำมันที่ลดลงประกอบกับ ราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วงขาลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลงไปต่ำสุดที่ 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลช่วงต้นปี 2016
ทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้รายรับของรัฐบาลลดลงตามไปด้วย
อีกเรื่องคือ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล นโยบายตั้งแต่สมัยการปกครองของประธานาธิบดี Hugo Chávez ที่มีการใช้เงินมหาศาลจากการค้าน้ำมันไปใช้จ่ายในโครงการมากมาย ซึ่งบางอย่างไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงการคอร์รัปชันของรัฐบาล
ในปี 1999 มีจำนวนบริษัทที่ประกอบธุรกิจกว่า 13,000 แห่ง แต่ในปี 2016 จำนวนนั้นเหลือเพียง 4,000 แห่ง
ขณะที่ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีประชากรกว่า 2.3 ล้านคน หรือ 7% ของประชากรทั้งหมดหนีออกนอกประเทศ
เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รายได้รัฐบาลที่ลดลง ทำให้ในปี 2018 ทุนสำรองระหว่างประเทศของเวเนซุเอลาเหลือเพียง 288,000 ล้านบาท ลดลงอย่างมากจาก 1.4 ล้านล้านบาท ในปี 2009
รัฐบาลจึงไม่สามารถดูแล และบริหารจัดการความผันผวนของค่าเงินโบลิวาร์ได้ ทำให้ค่าเงินโบลิวาร์อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง
อย่างที่ทุกคนรู้ ประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า จะทำให้สินค้านำเข้าราคาแพง จนสินค้าบางส่วนก็ไม่ถูกนำเข้า
สินค้าที่มีอยู่ในตลาดบางส่วนค่อยๆ หมดไป หรือแม้แต่ราคาพุ่งสูงขึ้น สุดท้ายก็นำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ
ซึ่งในเวเนซุเอลานั้น ปัญหาเงินเฟ้อนั้นเข้าขั้นรุนแรงจนเรียกว่า hyperinflation..
จึงไม่แปลกที่ผ่านมา เราจะเห็นคนที่นี่จำนวนมากต้องเข้าแถวยาวเพื่อมาซื้อของ หรือบางส่วนมาคุ้ยกองขยะ เพื่อหาของกิน รวมทั้งโรงพยาบาลขาดแคลนเครื่องมือรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก จนเกิดความวุ่นวาย
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
เวเนซุเอลา เป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบสำรอง 300,878 ล้านบาร์เรล มากที่สุดในโลก มากกว่าปริมาณน้ำมันดิบสำรองของประเทศไทยถึง 6,140 เท่า..
----------------------
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.