สรุป คราวด์ฟันดิง คืออะไร? แบบเข้าใจง่ายๆ

สรุป คราวด์ฟันดิง คืออะไร? แบบเข้าใจง่ายๆ

4 ก.ค. 2019
สรุป คราวด์ฟันดิง คืออะไร? แบบเข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เป็นคำที่เราได้ยินกันมาบ้าง
ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย
แต่จริงๆ แล้ว คราวด์ฟันดิงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยมานาน
ลงทุนแมนจะมาสรุปเรื่องคราวด์ฟันดิง ให้เข้าใจแบบง่ายๆ
คราวด์ฟันดิง ตามนิยามของ ก.ล.ต. ก็คือ การที่ผู้ประกอบการระดมทุนจากมวลชนหมู่มากในจำนวนคนละเล็กละน้อย ผ่านผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้เสนอไว้
ในยุคก่อน ในยุคที่เราไม่มีเทคโนโลยี
ถ้าพูดถึงการระดมทุนคนละเล็กละน้อย
เราก็อาจจะนึกถึง การทอดผ้าป่า การเล่นแชร์ ที่คนไทยคุ้นเคยกันมานาน
แต่ในยุคปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนไป
เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญทำให้การระดมทุนเข้าถึงคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้ทำให้เกิดคำใหม่ที่เรียกว่า คราวด์ฟันดิง ขึ้นมา
และตอนนี้กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ
แล้ว คราวด์ฟันดิง สามารถแบ่งได้เป็นประเภทไหนบ้าง?
จากข้อมูลของ ก.ล.ต. คราวด์ฟันดิง มีทั้งหมด 4 รูปแบบ
1. Donation-Based การระดมเงินในรูปแบบของการบริจาค
การระดมเงินประเภทนี้ นักลงทุนให้เงินกับคนที่ต้องการระดมทุน จะไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับมา
เป็นการให้เงินสนับสนุนกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน
ซึ่งเราอาจจะชอบตัวสินค้านั้น และอยากเอาใจช่วยให้สำเร็จ
ตัวอย่างเช่น การร่วมบริจาคเงินให้กับโครงการ “ก้าว” ของพี่ตูน เพื่อนำเงินไปมอบให้โรงพยาบาล ก็ถือว่าเป็น คราวด์ฟันดิง รูปแบบนี้
Cr. Facebook Page “ก้าว”
2. Reward-Based การระดมเงินแบบให้สิ่งตอบแทน
ในการระดมทุนประเภทนี้ เมื่อเราให้เงินไปแล้ว เราจะได้สินค้าเป็นสิ่งตอบแทน นั่นก็หมายความว่า เมื่อเขาทำสำเร็จ เราจะเป็นคนแรกๆ ที่ได้ของชิ้นนั้น
หรืออาจจะไม่ใช่สินค้าก็ได้ ผู้ประกอบการอาจตั้งใจทำอย่างหนึ่ง แต่ให้เป็นของที่ระลึกอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นสิ่งตอบแทน
ส่วนใหญ่การระดมทุนประเภทนี้ จะเป็นแฟนคลับที่เข้ามาร่วมสมทบทุนเพื่อจะได้สินค้า หรือของที่ระลึกตอบแทน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ สินค้าจากเว็บไซต์ Kickstarter หรือ แม้แต่การสั่งซื้อรูป BNK48 ที่เป็น Pre-order ก็อาจจัดอยู่ในประเภทนี้ได้เช่นกัน
Cr. Facebook Page BNK48
3. Peer-to-Peer Lending การระดมเงินที่เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างกัน โดยไม่มีสถาบันการเงินมาเป็นคนกลาง
คนให้กู้กับคนกู้ มาเจอกันผ่านเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง
โดยการกู้เงินในลักษณะนี้จะมีความเสี่ยงที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ได้
แต่ถ้ามองในระบบรวมแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นการตัดตัวกลางออกไป ทำให้ผู้กู้อาจเสียดอกเบี้ยน้อยลง และผู้มีเงินเหลือให้กู้ จะมีทางเลือกในการหาผลตอบแทนอื่นนอกจากการลงทุนในหลักทรัพย์แบบดั้งเดิม
ตัวอย่างของเรื่องนี้ ก็คือ การกู้ยืมเงินระหว่างกันเอง หรือ การเล่นแชร์ ซึ่งถ้าการเล่นแชร์ใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือ ก็อาจถือได้ว่าเป็นคราวด์ฟันดิงประเภทนี้
Cr. Afinoz
4. Investment-Based การระดมเงินที่มีลักษณะการลงทุน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบย่อย คือ
กรณีที่ 1 กิจการระดมทุนโดยการออกหุ้น จะเรียกว่า Equity-Based ผู้ให้เงินจะได้รับสิ่งแลกเปลี่ยนเป็นหุ้น ซึ่งจะมีสิทธิเป็นเจ้าของบริษัท และถ้าเราเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทนั้น เราก็อาจได้รับเงินปันผล หรือ นำหุ้นไปขายต่อได้
กรณีที่ 2 กิจการระดมทุนโดยให้หุ้นกู้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ซึ่งจะเรียกว่า Debt-Based โดยผู้ให้เงินจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท และผลตอบแทนที่ได้รับคือ ดอกเบี้ย และรับคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุ โดยในกรณีนี้ต่างจาก Peer-to-Peer Lending ก็คือ การออกหุ้นกู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำโดยบริษัทใหญ่
โดยการระดมทุนประเภท Investment-Based ทั้ง Equity-Based และ Debt-Based ในตอนนี้จะถือว่าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
ดังนั้นหากเราจะเสนอหุ้น หรือหุ้นกู้ ของบริษัทให้กับบุคคลทั่วไปเป็นหมู่มาก ผ่านช่องทางต่างๆ เราจำเป็นต้องดูประกาศที่เกี่ยวข้องของ ก.ล.ต. ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจถือว่าผิดกฎหมายได้
ทั้งหมดอาจทำให้หลายคนสงสัยว่า
แล้ว คราวด์ฟันดิงประเภท Investment-Based ต่างจากการทำ Initial Public Offering (IPO) อย่างไร?
โดยปกติแล้วบริษัทที่ทำ IPO นั้นจะต้องมีขนาดใหญ่ มีความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว และต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปต่อยอดด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งสร้างโครงการใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งชำระหนี้
แต่ในทางกลับกัน..
บริษัทที่ทำ คราวด์ฟันดิง นี้ เป็นบริษัทที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง ซึ่งอาจมีแค่ไอเดีย หรือต้องการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมา
Cr. ECCE Conferences
แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า การระดมทุนนี้มีความปลอดภัย?
ก่อนอื่นผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงกิจการก่อนที่จะลงทุน และยอมรับความเสี่ยงนั้นได้
และบริษัทที่ต้องการระดมทุนต้องแจ้งเสนอโครงการที่จะระดมทุนไปยัง ระบบตัวกลาง (Funding Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดยบริษัทที่ระดมทุนต้องรายงานความคืบหน้าของเงินได้ใช้ไปเป็นระยะอีกด้วย
จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า
เรื่องคราวด์ฟันดิง กำลังจะมีบทบาทในสังคมของเรามากขึ้นในอนาคต
และเรื่องนี้จะเปิดโอกาสให้บริษัทเล็กๆ แต่มีไอเดียดีๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกในตอนนี้หลายบริษัท ก็เริ่มต้นมาจากวิธีคราวด์ฟันดิง
ก็ไม่แน่ว่าในอนาคต
เราอาจจะได้เห็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก มาจากคนไทยก็เป็นได้..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-ก.ล.ต., Equity Crowdfunding ทางเลือกใหม่ของการระดมทุนและลงทุนในยุคดิจิตอล
-https://www.facebook.com/StartToInvest/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.