300,000 กิโลเมตร ต่อ วินาที

300,000 กิโลเมตร ต่อ วินาที

6 ก.ค. 2019
300,000 กิโลเมตร ต่อ วินาที / โดย ลงทุนแมน
300,000 กิโลเมตร ต่อ วินาที คือความเร็วของแสง
“ไม่มีสิ่งใด” ในจักรวาลนี้เดินทางได้เร็วเท่าแสง
ถึงแม้ มนุษย์จะไม่สามารถเดินทางเร็วเท่าแสงได้
แต่มนุษย์ฉลาดพอที่จะส่งข้อมูลได้เร็วเท่าแสง..
เมื่อเป็นอย่างนี้ เรื่องน่าตื่นเต้นจึงเกิดขึ้น
13,923 กิโลเมตร เป็นระยะทางจาก กรุงเทพ ไป นิวยอร์ก
ถ้าข้อมูลเดินทางด้วยความเร็วแสง
แปลว่าเราจะส่งข้อมูลถึงนิวยอร์กได้ในเวลา 0.046 วินาที
ถึงแม้ว่าความเป็นจริง จะสูญเสียความเร็วระหว่างทางไปบ้าง
แต่ก็เร็วพอที่จะทำให้ สองเมืองที่อยู่คนละซีกโลก ส่งข้อมูลถึงกันได้เพียงเสี้ยววินาที
เรื่องนี้จะเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าข้อมูลที่เราส่งไปหาคนที่นิวยอร์กคือคำว่า “สวัสดีวันอาทิตย์”
แต่มันจะเป็นเรื่องพิเศษถ้าข้อมูลนั้นมี “มูลค่า”
และสิ่งที่ดูเหมือนสำคัญที่สุดของมนุษย์จะไม่ใช่ข้อความ แต่เป็นเรื่อง “เงิน”
ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว..
ในเวลานั้น มหาอำนาจทางการเงินของโลก ไม่ใช่ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่เป็นประเทศอังกฤษ
Daily Mail
ในตอนนั้น แต่ละประเทศถ้าต้องการพิมพ์เงินออกมา จะมีทองคำเป็นตัวหนุนหลัง
ซึ่งเรียกกันว่า “ระบบมาตรฐานทองคำ”
แต่แล้วในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
การเกิดขึ้นของ “ข้อตกลง Bretton Woods” ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นมาเป็นอำนาจทางการเงินใหม่ของโลก
ข้อตกลง Bretton Woods มีใจความสำคัญคือ
ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกจะยกเลิกกำหนดค่าเงินตัวเอง และไปผูกติดอัตราแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์สหรัฐจะเป็นเงินสกุลเดียวที่มีทองคำหนุนหลัง
ในตอนนั้นถ้าเราคิดว่าสหรัฐจะพิมพ์เงินแล้วต้องมีทองคำหนุนหลังไปตลอด เราจะคิดผิด
เพราะในอีก 27 ปีต่อมา ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ได้ยกเลิกระบบทองคำหนุนหลัง และ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ใช้ระบบมาตรฐานทองคำ ในการพิมพ์เงิน
กลับกลายเป็นว่า “เงินดอลลาร์สหรัฐ” ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักในเงินสำรองของทุกประเทศที่จะพิมพ์เงิน
CFA Institute Blogs
เวลาผ่านไป 49 ปี..
ค.ศ. 2020
สกุลเงินดิจิทัลใหม่ของโลก ชื่อว่า Libra กำลังจะเกิดขึ้น
และ นับเป็นครั้งแรกที่เงินดอลลาร์สหรัฐถูกท้าทาย
แต่การท้าทายครั้งนี้ไม่ได้มาในรูปแบบเดิม..
คนที่เริ่มเงินสกุลนี้ไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นองค์กร
เงินสกุลนี้ไม่มีธนบัตร ไม่มีตัวตนทางกายภาพใดๆเหมือนที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์มนุษย์
เรื่องที่น่าสนใจคือ จากเดิมดอลลาร์ใช้ทองคำหนุนหลัง
ตอนนี้ Libra จะใช้ดอลลาร์เป็นส่วนหนึ่งในการหนุนหลัง..
ดูแล้วเหมือนการฉายหนังซ้ำอีกรอบ
Reuters
ถ้าทุกคนคิดว่า Libra จะต้องผูกกับดอลลาร์ และอีกหลายสกุลเงินไปตลอด
ลองย้อนกลับไปดู การใช้ทองคำหนุนหลังดอลลาร์ในข้อตกลง Bretton Woods
ข้อตกลงนี้ถูกสหรัฐอเมริกาฉีกทิ้งในเวลา 27 ปี
แล้ว Libra ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่าเงินสกุลนี้จะถูกใช้งานอย่างน้อย “หลายล้านคน” จากฐานผู้ใช้งานเดิมของเฟซบุ๊ก
เงินสกุลนี้สามารถส่งให้คนอีกซีกโลกได้รวดเร็ว ไม่ต่างอะไรจากการส่งข้อความในเฟซบุ๊ก
นับว่าเป็นอีกก้าวของประวัติศาสตร์ของโลกที่น่าติดตาม
การต่อสู้กันของ Libra กับ ดอลลาร์ จะเป็นอย่างไร?
Keysight
300,000 กิโลเมตร ต่อวินาที ที่ทุกอย่างกำลังเดินทางในโลกเสมือน
การกระทำต่อคนอีกซีกโลก ไม่ต่างจากคนที่อยู่ติดกัน..
ในวันข้างหน้า เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร? ต่างจากตอนนี้แค่ไหน?
ทวนความจำกันอีกนิด..
20 ปีที่แล้วเราติดต่อกันทางเพจเจอร์
10 ปีที่แล้วเราเริ่มรู้จักสมาร์ตโฟน
คนไทยเริ่มรู้จัก LINE แค่ 7 ปีที่แล้ว
แล้วทุกวันนี้เราเข้า LINE วันละกี่ครั้ง
ทุกอย่างเหมือนเรารู้จักมันมานาน
แต่จริงๆแล้วทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
LINE ใช้เวลาเพียง 2 ปี ในการเข้าถึงคนไทยเกือบทุกคน
แล้ว Libra จะใช้เวลากี่ปีในการเข้าถึงคนทั่วโลก
คำถามต่อไปคือ เราคิดว่าจะใช้ชีวิตอยู่ได้อีกกี่ปี?
7 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ถ้าคนใน 20 ปีข้างหน้ามองมายุคนี้ มันจะดูล้าสมัยเหมือนเรามองยุคเพจเจอร์ หรือไม่?
เราอยู่ในช่วงที่พีกสุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ 200,000 ปี
ทุกอย่างดูสวยงามไปหมด
แต่คำถามที่สำคัญคือ
ในโลกที่มีแต่ความรวดเร็ว
ถ้าเราอยากช้าดูบ้าง
เราจะไปตกอยู่ที่ขอบไหนบนโลกนี้?
มาตรฐานที่ทุกคนกำลังใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบในโลกเสมือน
ทุกวันเราจะได้เห็นเพื่อนไปท่องเที่ยวที่สวยงาม
ครอบครัวของคนเหล่านั้นมีความสุข
ชีวิตคนอื่นช่างสมบูรณ์แบบ
และเมื่อเรามองโลกคนอื่นที่สมบูรณ์มากเท่าไร
เรากลับเกิดความทุกข์มากเท่านั้น
The Guardian
แล้วเราต้องเกาะขบวน “ความเร็ว” นี้ไปอีกนานแค่ไหน?
เราสามารถฉีกมาตรฐานความสมบูรณ์แบบนั้น ทิ้งไปได้ง่ายๆหรือไม่
การเดินทาง 300,000 กิโลเมตร จะเป็นอย่างไร ถ้ามันเกิดความทุกข์ขึ้นทุกวินาที
และในวันสุดท้าย
เราอาจกลับมาคิดได้ว่า
จะเร็วแค่ไหนก็คงไม่สำคัญ เท่าการลิ้มรสความสุข แม้เพียงวินาทีเดียว..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.