กรณีศึกษา ไทยสมายล์ ขาดทุนหนัก

กรณีศึกษา ไทยสมายล์ ขาดทุนหนัก

15 ต.ค. 2019
กรณีศึกษา ไทยสมายล์ ขาดทุนหนัก / โดย ลงทุนแมน
ธุรกิจสายการบินแข่งขันกันอย่างดุเดือด
หนึ่งในบริษัทที่เจอปัญหาก็คือ ไทยสมายล์
ตอนนี้ไทยสมายล์ กำลังขาดทุนสะสมรวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด หรือไทยสมายล์ ก่อตั้งขึ้นโดย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2555 ในช่วงแรกไทยสมายล์ให้บริการเส้นทางบินในประเทศเป็นหลัก ก่อนที่จะขยายเส้นทางระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน จีน ไต้หวัน และอินเดีย
แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตในช่วงที่ผ่านมา แต่ไทยสมายล์กำลังขาดทุนอย่างหนัก
รายได้และกำไรของ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด
ปี 2559 รายได้ 7,532 ล้านบาท ขาดทุน 2,081 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 10,182 ล้านบาท ขาดทุน 1,627 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 11,064 ล้านบาท ขาดทุน 2,602 ล้านบาท
สาเหตุขาดทุนส่วนหนึ่งเกิดจากราคาน้ำมันซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักปรับเพิ่มขึ้น
ปี 2559 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ปี 2561 ราคาขึ้นมาอยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
แต่ที่สำคัญกว่าราคาน้ำมันก็คือ การแข่งขันภายในอุตสาหกรรม
ไทยสมายล์วางตำแหน่งของตนเองว่าเป็นสายการบิน “พรีเมียม โลว์คอสต์”
บริการของไทยสมายล์แอร์เวย์ แม้จะไม่สูงเท่าระดับพรีเมียม แต่ก็ยังสูงกว่าของสายการบินต้นทุนต่ำ
เช่น บนสายการบินไทยสมายล์ จะมีอาหารว่าง น้ำ มาบริการให้ผู้โดยสาร
ซึ่งดีกับผู้โดยสาร แต่ก็ทำให้ต้นทุนของไทยสมายล์แอร์เวย์สูงขึ้นตามไปด้วย
แล้วต้นทุนที่มากกว่าคนอื่นจะส่งผลเสียต่อสายการบินอย่างไร?
ทุกคนรู้ว่าจำนวนผู้โดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำเติบโตสูงมาก
ในปี 2547 จำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน
ในปี 2561 จำนวนผู้โดยสาร 69.5 ล้านคน
จำนวนเครื่องบินของสายการบินต้นทุนต่ำก็เพิ่มตามไปด้วย
ปี 2556 จำนวนเครื่องบิน 42 ลำ
ปี 2561 จำนวนเครื่องบิน 136 ลำ
แม้ว่าปริมาณการเดินทางด้วยเครื่องบินจะเติบโต แต่ด้วยปริมาณเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สายการบินหลายแห่งต้องแข่งขันด้านราคา เพื่อดึงดูดผู้โดยสาร และเพื่อบรรจุผู้โดยสารให้เต็มความสามารถมากที่สุด
แม้ว่าไทยสมายล์จะไม่ได้อยู่ในตลาดนี้แบบเต็มตัว
แต่เนื่องจากสงครามราคาจากสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้ไทยสมายล์ต้องลดราคาตั๋วเครื่องบินลงมา เพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการด้วย
แต่ประเด็นก็คือ เมื่อต้นทุนการบริหารงานนั้นสูงกว่าสายการบินต้นทุนต่ำอื่นๆ ในขณะที่ขายตั๋วราคาถูกลง จึงทำให้บริษัทมีปัญหาในช่วงที่ผ่านมา
3 ปีหลังสุด บริษัทขาดทุนรวมกันกว่า 6,300 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการขาดทุนในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ปัจจุบัน บริษัทมีขาดทุนสะสมรวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน ไทยสมายล์แอร์เวย์มีสินทรัพย์ 5,752 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเท่ากับ 12,696 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทติดลบไปกว่า 6,944 ล้านบาท
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทางไทยสมายล์จึงมีแผนที่จะเพิ่มทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปใช้ในกิจการ พร้อมทั้งจ่ายคืนหนี้ ซึ่งเงินที่จะใช้เพิ่มทุนนั้นจะมาจากบริษัทแม่คือ การบินไทย ที่ถือหุ้นในไทยสมายล์แอร์เวย์อยู่ 100% นั่นเอง
แต่ทุกคนก็คงทราบอีกเช่นกันว่า การบินไทยเองก็ขาดทุน บริษัทลูกอย่างไทยสมายล์ก็ขาดทุน นกแอร์ที่การบินไทยถือหุ้นส่วนหนึ่งก็ขาดทุนเช่นกัน สรุปแล้วไม่ว่าการบินไทยจะแตะอะไรก็ดูเหมือนจะแย่ไปหมด
สำหรับแผนการเพิ่มทุนของไทยสมายล์แอร์เวย์นั้น ต้องเสนอให้บอร์ดการบินไทยพิจารณา เพื่ออนุมัติแผนดังกล่าวต่อไป
เรื่องนี้เป็นกรณีที่น่าสนใจ
ทุกคนรู้ว่าอุตสาหกรรมการบินเติบโต จำนวนผู้โดยสารนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่การเติบโตนั้น กลับดึงดูดให้มีคู่แข่งเข้ามา จนเกิดสงครามราคา
ถ้าเทียบธุรกิจเหมือนการตกปลาในบ่อ
บ่อแรกมีปลาเป็นร้อยตัว
บ่อสองมีปลาสิบตัว
หลายคนคงเลือกบ่อแรก
แต่ในความจริง บ่อแรกไม่ได้ดีไปกว่าบ่อสอง ถ้ามีคนแย่งกันตกเป็นพันคน
แต่ธุรกิจสายการบิน ไม่เหมือนการตกปลา
คนตกปลาจะเลิกเมื่อไรก็ได้
แต่สายการบิน ไม่มีใครเลิก
ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน ก็ยังต้องแข่งต่อไป จนกว่าจะหมดลมหายใจ..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.eia.gov › dnav › pet › xls › PET_PRI_SPT_S1_M
-https://www.airportthai.co.th/wp-content/uploads/2019/05/Annual-Airport-2018.pdf
-แบบฟอร์ม 56-1, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
-https://centreforaviation.com/analysis/reports/thailand-low-cost-airlines-rapid-growth-as-fleet-triples-in-5-years-407712
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.