กรณีศึกษา TTTBB ขายทรัพย์สินเข้ากองทุน JASIF

กรณีศึกษา TTTBB ขายทรัพย์สินเข้ากองทุน JASIF

18 ต.ค. 2019
ผู้สนับสนุน..
กรณีศึกษา TTTBB ขายทรัพย์สินเข้ากองทุน JASIF
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า..
อินเทอร์เน็ตกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา
ทั้งในรูปแบบของอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ตโฟน และอินเทอร์เน็ตในที่พักอาศัย
อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในที่พักอาศัยประเทศไทยมีเพียง 9.36 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 43.4% ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทย
แม้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในที่พักอาศัย จะเป็นสัดส่วนที่ยังไม่สูง
แต่นั่นก็หมายถึง โอกาสในการเติบโตที่ตามมาในอนาคต..
เรื่องนี้ส่งผลให้ Triple T Broadband บริษัทในกลุ่ม JAS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ในประเทศไทย
ภายใต้แบรนด์ 3BB กำลังจะขายทรัพย์สินเพิ่มเติม เข้ากองทุน JASIF
คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 38,000 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่ม) เพื่อนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติม
แล้วทำไม TTTBB ต้องขายทรัพย์สินเข้ากองทุน JASIF?
ลงทุนแมนจะมาสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาดูภาพรวมรายได้ของ TTTBB กันก่อน..
TTTBB หรือ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2558 รายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ 12,749 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ 14,576 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ 16,340 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ 19,409 ล้านบาท*
จากตัวเลขข้างต้น แนวโน้มรายได้ยังเติบโต เฉลี่ยปีละกว่า 15%
(หมายเหตุ: ในกรณีไม่รวม Hiring revenue จาก JAS รายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการปี 2561 เท่ากับ 16,949 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.96%)
แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มการใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในบ้านเรายังมีทิศทางที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วปัจจุบันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีใครบ้าง?
ปัจจุบัน ตลาดนี้ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งหมด 4 ราย คือ
TRUE ครองส่วนแบ่งร้อยละ 38
3BB ครองส่วนแบ่งร้อยละ 32
TOT ครองส่วนแบ่งร้อยละ 17
AIS ครองส่วนแบ่งร้อยละ 9
ตอนนี้ 3BB เป็นผู้นำในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงร่วมกับ True และเมื่อดูจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทย แสดงให้เห็นว่าโอกาสการเติบโตของตลาดนี้ยังมีอีกมาก..
พอเรื่องเป็นแบบนี้ TTTBB จึงตัดสินใจขายทรัพย์สินเพิ่มเติมเข้ากองทุน JASIF เพื่อนำเงินทุนที่ได้จากการขายทรัพย์สินไปเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ และต่อยอดกิจการเพิ่มเติม..
แล้วรายละเอียดก่อน-หลังการขายทรัพย์สินของกองทุน JASIF เป็นอย่างไร?
ก่อนลงทุนเพิ่ม .. JASIF ถือครอง
ทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสง 980,500 คอร์กิโลเมตร
โดยมีรายได้จากค่าเช่าในปี 2561 เท่ากับ 5,814.5 ล้านบาท
หลังการเพิ่มทุน.. JASIF จะถือครอง
ทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงไม่เกิน 1,680,500 คอร์กิโลเมตร
โดยคาดว่าจะมีรายได้จากค่าเช่าในปี 2563 ประมาณ 10,172.9 ล้านบาท (บนสมมติฐานว่าอัตราค่าเช่าเติบโตจากปี 2562 ที่อัตราร้อยละ 1.00 ต่อปี และจำนวนทรัพย์สินใยแก้วนำแสงส่วนเพิ่มที่จำนวน 700,000 คอร์กิโลเมตร)
โดยทรัพย์สินใหม่เป็นเส้นใยแก้วนำแสงที่สร้างขึ้นมาแล้วเฉลี่ย 1 ถึง 3 ปี
ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ปกติจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 35 ปี หากได้รับการบำรุงรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
นอกเหนือจากนี้ ภายหลังจากการที่กองทุนเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้
กองทุน JASIF มีสิทธิขยายอายุสัญญาเช่าหลักในทรัพย์สินใยแก้วนำแสงเดิมจำนวน 784,400 คอร์กิโลเมตร จากเดิมจะสิ้นสุดสัญญาเช่า 22 กุมภาพันธ์ 2569 เป็น วันที่ 29 มกราคม 2575
และทำให้ประมาณการเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุน (Cash Distribution Per Unit หรือ DPU) สำหรับช่วงเวลา 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.0387 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 0.9924 บาทต่อหน่วย (บนสมมติฐานที่ออกหน่วยลงทุนใหม่ของกองทุนฯ จำนวน 2,500 ล้านหน่วย) ขณะที่นับจากจัดตั้งกองทุนฯ ได้จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว 18 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 3.92 บาทต่อหน่วย และจ่ายเงินลดทุน 3 ครั้ง เป็นเงิน 0.1484 บาทต่อหน่วย รวมเป็นจำนวนเงิน 4.07 บาทต่อหน่วย
ทั้งหมดนี้ หมายความว่า กองทุน JASIF จะมีขนาดทรัพย์สินและมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งจะทำให้ JAS มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติม ครอบคลุมพื้นที่ 925 อำเภอใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทย และเทรนด์ 5G ที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้..
หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
References
-JAS, Annual Report and Presentation 2018, Q2 2019
-JASIF Annual Report 2018, Q2 2019
-กสทช.
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.