กรณีศึกษา Acer เบอร์หนึ่งต้องปรับตัวตลอดเวลา

กรณีศึกษา Acer เบอร์หนึ่งต้องปรับตัวตลอดเวลา

12 พ.ย. 2019
กรณีศึกษา Acer เบอร์หนึ่งต้องปรับตัวตลอดเวลา / โดย ลงทุนแมน
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ก
นอกจากจะแข่งขันกันดุเดือด ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย
ทั้งอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เหตุการณ์เหล่านี้ ได้ทำให้หลายๆ บริษัทประสบปัญหาขาดทุน จนต้องเลิกขายคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ก
แต่.. รู้หรือไม่ว่าข้อมูลจาก IDC Thailand ระบุว่า Acer
มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ก ติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 14 ปี
The Most Valuable Brands of the Year 2019 โปรเจ็กต์ที่รวบรวมแบรนด์ไทยที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ ลงทุนแมนจึงขอสัมภาษณ์ คุณนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด ถึงกลยุทธ์ความสำเร็จของ Acer ซึ่งทำให้ได้คำตอบที่น่าสนใจไม่น้อย มาเล่าให้ฟัง
“เพราะเราสามารถปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จนถึงวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
หากย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นธุรกิจในไทย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
คุณนิธิพัทธ์ เล่าให้ฟังว่าแค่เริ่มสตาร์ท Acer ก็พบเจอกับความท้าทายทันที
เพราะเวลานั้นมีคอมพิวเตอร์แบรนด์ไทยชื่อ ATEC ที่มีชื่อใกล้เคียงกันทำธุรกิจมาก่อน
อีกทั้งเวลานั้นคนไทยยังนิยมแบรนด์คอมพิวเตอร์ที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
“เราทำการตลาดหนักมากช่วงเริ่มต้นเพื่อให้คนไทยรู้จักและจดจำว่า Acer เป็น Inter Brand
ขณะเดียวกันเรามีจุดแข็งเรื่องการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า
ส่งผลให้เวลานั้นคอมพิวเตอร์ Acer มีราคาขายที่เข้าถึงคนไทยได้ง่าย”
จากเหตุผลนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนตลาดในทันที เพราะเวลานั้น
เครื่องคอมพิวเตอร์อเมริกันมีราคาสูงขายกัน 60,000 - 70,000 บาท
ทำให้ส่วนใหญ่การซื้อมาใช้งานจะถูกจำกัดอยู่เฉพาะแค่ในบริษัทหรือองค์กร
แต่เมื่อ Acer ทำราคาขาย 40,000 - 50,000 บาท ทำให้ยอดขายเติบโตและขยายกลุ่มมากลุ่มลูกค้าส่วนบุคคลมากขึ้น
ในช่วงนั้นแต่ละบ้านค่อยๆ เริ่มมีคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กใช้งานกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม
เมื่อตลาดค่อยๆ เติบโต ก็ย่อมที่จะดึงดูดให้มีคู่แข่งหน้าใหม่ๆ เข้ามา
ทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในเมืองไทย ณ เวลานั้นมีมากกว่า 10 แบรนด์
แต่แล้วก็มาถึง “จุดเปลี่ยน” ทางด้านเทคโนโลยี ด้วยการมาของ Smartphone
ที่ในช่วงเวลาหนึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยมองว่า Smartphone สามารถทำทุกอย่างได้จบในเครื่องเดียว
“พอเวลาผ่านไปสักระยะลูกค้าเริ่มรู้แล้วว่า Smartphone ไม่สามารถทำงานระดับสูงๆ
อย่างเช่นงาน กราฟิกดีไซน์ แถมมีแป้นพิมพ์ขนาดเล็ก ทำให้ไม่ถนัดในการทำงาน”
การเข้ามาของ Smartphone ก็สะท้อนความคิดลึกๆ ในใจของคนที่คิดจะซื้อโน้ตบุ๊ก
คือต้องการขนาดบาง, น้ำหนักเบา, พกพาสะดวกและสเปคเครื่องสูงที่เรียกกันว่า Ultrabook
จนทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรงทั้งดีไซน์, สเป็กเครื่อง, สุดท้ายก็คือ ราคา
เมื่อการแข่งขันรุนแรง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่สงครามครั้งนี้จะต้องมีผู้พ่ายแพ้
จากแต่เดิมที่มีมากกว่า 10 กว่าแบรนด์แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5 - 6 แบรนด์
“ผู้ผลิตรายอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า พอมาทำธุรกิจคอมพิวเตอร์
ก็ไม่สามารถยืนระยะแข่งขันได้ ผิดกับบริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์ขายเป็นหลัก
ที่มี Know How เฉพาะทางมากกว่า รวมถึงโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า
ทั้งศูนย์ซ่อมบริการ, ความพร้อมของอะไหล่”
จนมาถึง “จุดเปลี่ยน” อีกครั้งเมื่อเทรนด์ E-Sports กำลังเติบโตทั่วโลก ประเทศไทยเองก็เช่นกัน
ที่กลุ่ม เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก มียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด
แต่โจทย์ของ Acer ก็คือ การเป็นบริษัทที่ตามมาทีหลังในตลาดนี้
รวมถึงภาพลักษณ์ของ Acer ที่ยังเป็นโน้ตบุ๊กเพื่อการใช้งาน
“การมาทีหลังไม่ใช่ปัญหา เพราะเรามีสเกลจำนวนการผลิตระดับโลกหากเทียบกับคู่แข่ง
เราย่อมได้เปรียบในการทำราคาสินค้าที่เข้าถึงได้ง่าย และเทคโนโลยีทีดีกว่า
แต่ปัญหาคือภาพลักษณ์ Acer เป็นคนทำงานไม่ใช่ คนรุ่นใหม่ ฮาร์ดคอร์ เกมเมอร์ ”
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ Acer เลยคิดค้นแบรนด์ใหม่ที่แยกตัวออกมาอย่างชัดเจน
ใช้ชื่อว่า Predator ซึ่งเจาะกลุ่มนักเล่นเกมคนรุ่นใหม่
Cr. Digital Trends
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้ทำให้ปัจจุบัน Acer มียอดขายในตลาดเกมมิ่งโน้ตบุ๊กเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของ Acer คือการปรับตัวในการทำธุรกิจได้รวดเร็วอยู่ตลอดเวลา
โดยเบื้องหลังนั้นเกิดจากบริษัทแม่ในประเทศ ไต้หวัน ให้อิสระในความคิด การทำงานเต็มที่
“เมื่อตลาดเมืองไทยเปลี่ยนแปลงหรือเกิดวิกฤติอะไรก็ตาม
Acer ในไทยสามารถตัดสินใจเปลี่ยนแผนธุรกิจได้ทันที
เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น
ขณะที่ Inter Brand หลายบริษัทต้องรออนุมัติจากบริษัทแม่”
เรื่องราวของ Acer ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการจะทำธุรกิจให้ยั่งยืนสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ “ปรับตัว”
หากเราเชื่อในเรื่องนี้
ต่อให้มีวิกฤติมากี่ครั้ง
พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนกี่หน
คู่แข่งจะแข็งแรงแค่ไหน
สุดท้ายแล้ว.. เราก็ยังจะสามารถรักษาแบรนด์ของเราให้เป็นอันดับหนึ่งได้ตลอดเวลา
เหมือนอย่างความสำเร็จของ Acer นั่นเอง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.