กรณีศึกษา การถือหุ้นของ CPF ใน CPALL

กรณีศึกษา การถือหุ้นของ CPF ใน CPALL

4 พ.ย. 2019
กรณีศึกษา การถือหุ้นของ CPF ใน CPALL / โดย ลงทุนแมน
การลงทุนในบริษัทแม่ เพื่อถือครองบริษัทลูกทางอ้อม เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ
แต่มีบ่อยครั้งที่นักลงทุนเข้าใจผิด
มองแต่บริษัทลูก แต่ไม่ได้มองว่าบริษัทแม่มีอะไรซ่อนอยู่
แล้วการถือหุ้นของ CPF ใน CPALL เป็นกรณีศึกษาในเรื่องนี้ได้อย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหญ่สุดในประเทศไทย
ซึ่งบริษัทในเครือมีตั้งแต่การเกษตร อาหาร ค้าปลีก โทรคมนาคม และอีกมากมาย
สำหรับธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีมูลค่ามากสุด ก็คือ CPALL ซึ่งเป็นเจ้าของเซเว่น อีเลฟเว่น และ แม็คโคร
ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ CPALL ก็คือ CPF
ซึ่งก็เป็นธุรกิจใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ทำธุรกิจอาหาร โดยมีโครงสร้างรายได้จาก
ธุรกิจอาหารสัตว์ 42%
ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ 41%
ธุรกิจอาหาร 17%
ปัจจุบัน CPF มูลค่าบริษัท 210,000 ล้านบาท
ในขณะที่ CPALL มูลค่าบริษัท 680,000 ล้านบาท
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ CPF ถือหุ้น CPALL
คิดเป็นสัดส่วนกว่า 34.17% จากจำนวนหุ้นทั้งหมด
ตอนนี้ มูลค่า CPALL ที่ CPF ถืออยู่มีประมาณ 230,000 ล้านบาท
เมื่อบริษัท CPF มีมูลค่า 210,000 ล้านบาท
CPF ถือหุ้น CPALL มีมูลค่า 230,000 ล้านบาท
มีหลายคนบอกว่า หากเราอยากเป็นเจ้าของ CPALL
เราก็มาถือหุ้น CPF แทน เราจะได้มูลค่าที่ซ่อนอยู่ของ CPALL แถมกิจการของ CPF ฟรี
แต่ในโลกของการเงิน มันต้องดูมากกว่านั้น..
เรามาดูสถานะทางการเงินของ CPF ปี 2561
สินทรัพย์รวม 630,000 ล้านบาท
หนี้สินรวม 410,000 ล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้น 220,000 ล้านบาท
ซึ่งหมายความว่า ต่อให้ CPF มีมูลค่า CPALL มาก แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับหนี้สินที่ CPF มีอยู่..
เรื่องนี้ไม่ได้ต่างอะไรกับคนที่เคลมว่าเขามีรถยนต์ บ้านหรู แต่เบื้องหลังเขามีหนี้สินมหาศาล
มูลค่าหนี้สินที่สูงระดับนี้
ทำให้ CPF มีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมากถึง 12,000 ล้านบาท ต่อปี และกำไรของ CPF ที่หักส่วนแบ่งกำไรจาก CPALL และ หักรายการพิเศษ จะเหลือน้อยกว่าที่เราคิด
นอกจากนี้ สมมติว่าบริษัท CPF ต้องการขายหุ้น CPALL ทั้งหมด
ยังต้องเจอกับภาระค่าใช้จ่ายภาษีนิติบุคคลอีก 20% ของกำไร
ทั้งหมดนี้จึงอาจเป็นส่วนสำคัญที่นักลงทุนให้มูลค่าบริษัท CPF เท่ากับที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งนอกจาก CPF แล้ว อีกหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ยังมีกรณีที่บริษัทแม่ถือบริษัทลูกอยู่ และดูเหมือนว่าบริษัทแม่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นของบริษัทลูก
ยกตัวอย่าง เช่น
TIPCO มูลค่าบริษัท 3,700 ล้านบาท
ถือหุ้นบริษัท TASCO คิดเป็นมูลค่า 8,000 ล้านบาท
CK มูลค่าบริษัท 34,000 ล้านบาท
ถือหุ้นบริษัท BEM คิดเป็นมูลค่า 52,000 ล้านบาท
แน่นอนว่า การลงทุนในบริษัทแม่
เพื่อถือครองบริษัทลูกทางอ้อมเป็นหนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาบริษัทแม่ที่เรากำลังจะเข้าไปลงทุนด้วย
เพราะเบื้องหลังตัวเลขตรงไปตรงมาที่ดูว่าถูก
อาจจะมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด
และสิ่งที่คนอื่นบอกว่าถูก อาจไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-Settrade
-งบการเงินของแต่ละบริษัท
-การคำนวณมูลค่าบริษัท อ้างอิง ราคา และ สัดส่วนการถือหุ้น ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.