บริษัทเทคโนโลยี กำลังมีเงินสดล้นมือ

บริษัทเทคโนโลยี กำลังมีเงินสดล้นมือ

13 ม.ค. 2020
บริษัทเทคโนโลยี กำลังมีเงินสดล้นมือ /โดย ลงทุนแมน
ตอนนี้ทุกคนบนโลก กำลังใช้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
ด้วยเหตุนี้ บริษัทเทคโนโลยีจึงทำเงินได้อย่างมากมายมหาศาล
แต่เรื่องที่น่าจะต้องยินดี กลับสร้างปัญหาบางเรื่องให้กับบริษัทเหล่านี้
นั่นก็คือ มันทำให้บริษัทมี “เงินสด” เยอะเกินไปนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาคงต้องหาทางใช้เงิน
คำถามคือ แล้วบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ จะเอาเงินสดไปใช้ทำอะไรต่อได้บ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
╚═══════════╝
อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อยู่ในช่วงที่พัฒนาได้เร็วสุดในประวัติศาสตร์
ส่งผลให้ Apple, Amazon, Alphabet, Microsoft, Facebook ก้าวขึ้นมามีมูลค่าธุรกิจสูงสุดในโลก
สรุปผลการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยี ในปี 2018
Apple Inc.
รายได้ 7,994,000 ล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อนหน้า
กำไร 1,792,000 ล้านบาท เติบโต 23% จากปีก่อนหน้า
Amazon.com, Inc.
รายได้ 7,010,000 ล้านบาท เติบโต 31% จากปีก่อนหน้า
กำไร 303,000 ล้านบาท เติบโต 232% จากปีก่อนหน้า
Alphabet Inc. (บริษัทแม่ของ Google)
รายได้ 4,118,000 ล้านบาท เติบโต 23% จากปีก่อนหน้า
กำไร 925,000 ล้านบาท เติบโต 143% จากปีก่อนหน้า
Microsoft Corporation
รายได้ 3,788,000 ล้านบาท เติบโต 14% จากปีก่อนหน้า
กำไร 1,181,000 ล้านบาท เติบโต 137% จากปีก่อนหน้า
Facebook, Inc.
รายได้ 1,680,000 ล้านบาท เติบโต 37% จากปีก่อนหน้า
กำไร 666,000 ล้านบาท เติบโต 39% จากปีก่อนหน้า
จากผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรสะสมในรูปแบบของเงินสด เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
บริษัทที่มีเงินสดและทรัพย์สินหมุนเวียนสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด มากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้แก่
อันดับ 1 Microsoft 4,112,000 ล้านบาท
อันดับ 2 Berkshire Hathaway 3,859,000 ล้านบาท
อันดับ 3 Alphabet 3,648,000 ล้านบาท
อันดับ 4 Apple 3,028,000 ล้านบาท
อันดับ 5 Facebook 1,574,000 ล้านบาท
อันดับ 6 Amazon 1,315,000 ล้านบาท
แน่นอนว่า การถือเงินสดเยอะ ย่อมแสดงถึงฐานะทางการเงินอันแข็งแกร่ง และเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงให้กับบริษัทได้
แต่ถ้าถือมันเอาไว้เกินความจำเป็น ก็อาจสร้างความไม่พอใจต่อผู้ถือหุ้นได้
เพราะจะทำให้พลาดโอกาสได้ผลตอบแทน หากนำเงินไปทำอย่างอื่น
แล้วจะมีวิธีไหนที่บริษัทจะใช้เงินสดของบริษัทให้น้อยลงได้?
เรื่องแรกคือ จ่ายเงินปันผล ในระยะสั้น บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้ทันที ด้วยการจ่ายเงินปันผล อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จะต้องเจอภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้ถือหุ้นจะได้เงินไม่เต็มจำนวนที่บริษัทได้จ่ายออกไป
แต่อีกวิธีหนึ่งที่กำลังนิยมใช้กัน เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหมือนเงินปันผล
นั่นก็คือการซื้อหุ้นคืนในตลาดหลักทรัพย์
โดยจำนวนหุ้นที่ลดลง จะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น
และหากตลาดยังมีมุมมองในการให้มูลค่าต่อกำไรเหมือนเดิม ราคาต่อหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นในที่สุด

ซึ่งเมื่อย้อนดูข้อมูลจะพบว่าในช่วงหลัง บริษัทเทคโนโลยีทุกแห่ง ยกเว้น Amazon ใช้วิธีนี้มาตลอด
ปี 2018
Apple ซื้อหุ้นคืน 2,130,000 ล้านบาท
Alphabet ซื้อหุ้นคืน 245,000 ล้านบาท
Microsoft ซื้อหุ้นคืน 459,000 ล้านบาท
Facebook ซื้อหุ้นคืน 388,000 ล้านบาท
ปี 2019 (สามไตรมาส)
Apple ซื้อหุ้นคืน 1,725,000 ล้านบาท
Alphabet ซื้อหุ้นคืน 370,000 ล้านบาท
Microsoft ซื้อหุ้นคืน 400,000 ล้านบาท
Facebook ซื้อหุ้นคืน 87,500 ล้านบาท
นอกจากจ่ายเงินปันผล และซื้อหุ้นคืน บริษัทยังมีวิธีไหนที่ใช้เงินสดได้อีก?
อีกวิธีหนึ่งก็คือ นำเงินไปลงทุนซื้อกิจการอื่นเพิ่มเติม
ถ้าบริษัทอยากหวังผลประโยชน์ที่ยั่งยืนในระยะยาว
บริษัทสามารถซื้อกิจการที่คิดว่าดี เพื่อรักษาระดับการเติบโตของบริษัทตามความคาดหวังของผู้ถือหุ้น
เราลองมาดูตัวอย่างการซื้อกิจการที่ผ่านมาของแต่ละบริษัทกัน
Apple ต่อยอดความสำเร็จให้กับผลิตภัณฑ์ Smart Device ของตนเอง
ปี 2011 ซื้อ Anobit Technologies ผู้ผลิตอุปกรณ์หน่วยความจำ มูลค่า 15,000 ล้านบาท
ปี 2014 ซื้อ Beats Electronics ผู้ผลิตหูฟังและอุปกรณ์เสียง มูลค่า 90,000 ล้านบาท
ปี 2018 ซื้อ Dialog Semiconductor ผู้ผลิตชิปอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 18,000 ล้านบาท
Amazon กระจายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ E-Commerce และอินเทอร์เน็ต
ปี 2014 ซื้อ Twitch แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์วงการเกม มูลค่า 29,000 ล้านบาท
ปี 2017 ซื้อ Whole Foods ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ขายอาหารสดและของชำ มูลค่า 412,000 ล้านบาท
ปี 2018 ซื้อ PillPack ร้านขายยาออนไลน์ มูลค่า 39,000 ล้านบาท
Alphabet มีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจจากตลาดซอฟต์แวร์ไปสู่ฮาร์ดแวร์
ปี 2012 ซื้อ Motorola Mobility ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ มูลค่า 376,000 ล้านบาท
ปี 2014 ซื้อ Nest Labs ผู้ผลิตอุปกรณ์ Smart Home มูลค่า 96,000 ล้านบาท
ปี 2019 ซื้อ Fitbit ผู้ผลิตอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพ มูลค่า 64,000 ล้านบาท
Microsoft เสริมจุดแข็งด้านโปรแกรมต่างๆ ที่คนใช้งานบนอุปกรณ์ไอที
ปี 2011 ซื้อ Skype บริการสื่อสารผ่านวิดีโอคอลล์ มูลค่า 256,000 ล้านบาท
ปี 2016 ซื้อ LinkedIn เครือข่ายออนไลน์ในแวดวงธุรกิจ มูลค่า 789,000 ล้านบาท
ปี 2018 ซื้อ GitHub บริการจัดเก็บข้อมูลเขียน Code มูลค่า 226,000 ล้านบาท
Facebook ต้องการยึดครองทุกช่องทางการติดต่อสื่อสารบนโลกใบนี้
ปี 2012 ซื้อ Instagram แพลตฟอร์มเน้นการแชร์รูปภาพ มูลค่า 30,000 ล้านบาท
ปี 2014 ซื้อ WhatsApp แอปพลิเคชันแช็ต มูลค่า 662,000 ล้านบาท
ปี 2014 ซื้อ Oculus VR ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Virtual Reality มูลค่า 60,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีการใช้เงินเพื่อสร้างผลตอบแทนทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปจำนวนมหาศาล
แต่สุดท้าย บริษัทเทคโนโลยี ก็ยังเหลือเงินสดเยอะอยู่ดี
ดังนั้นในอนาคต เราน่าจะได้เห็นการทยอยซื้อหุ้นคืน
หรือการแย่งซื้อกิจการที่น่าสนใจ เพื่อชิงความได้เปรียบในธุรกิจเทคโนโลยีกันอีกมากมาย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.