กรณีศึกษา ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายเฉพาะอาหารหมดอายุ

กรณีศึกษา ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายเฉพาะอาหารหมดอายุ

29 เม.ย. 2020
กรณีศึกษา ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายเฉพาะอาหารหมดอายุ /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ หลายประเทศในยุโรปมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายเฉพาะอาหารหมดอายุเท่านั้น
พอรู้อย่างนี้หลายคนอาจจะเริ่มตกใจ ว่าจะมีใครกล้าซื้ออาหารเหล่านี้?
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริงๆ แล้ว อาหารหมดอายุที่นำไปวางขาย
ไม่ได้เป็นอาหารที่มีสภาพเน่าเสีย
แต่เป็นอาหารที่มีการระบุว่าใกล้หมดอายุ
หรือเป็นอาหารที่ขายไม่หมดระหว่างวัน
เช่น ร้านขนมปังที่ต้องอบขนมปังสดใหม่ทุกวัน
เมื่อหมดวัน ขนมปังที่เหลือจึงต้องถูกนำไปทิ้ง
เพราะไม่สามารถนำไปขายในวันถัดไปได้
พอเรื่องเป็นอย่างนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายเฉพาะอาหารหมดอายุ
จึงเป็นที่รวบรวมอาหารประเภทนี้ มาวางขายไว้ในที่เดียวกัน
คำถามสำคัญคือ แล้วทำไมผู้บริโภคจะต้องมาซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบนี้?
ก็เพราะ ราคาของอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตแบบนี้ จะถูกกว่าท้องตลาดมากๆ
นอกจากนี้ การนำอาหารเหล่านี้กลับมาขายใหม่
ยังถือเป็นการช่วยลดปริมาณขยะอาหารลงได้อีกด้วย
รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปี 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารทั้งหมดทั่วโลก จะถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า
คิดเป็นปริมาณที่สูงถึง 1,300 ล้านตัน ซึ่งบางส่วนในนี้เป็นอาหารที่ยังไม่เคยถูกบริโภคมาก่อน
ในขณะเดียวกัน กลับมีคนทั่วโลกที่เผชิญภาวะอดอยากสูงถึง 820 ล้านคน
ประเด็นนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า มีอาหารจำนวนมากที่ไม่สามารถกระจายไปสู่ผู้บริโภคเหล่านั้นได้
ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายเฉพาะอาหารหมดอายุจึงเป็นเสมือนตัวกลาง
ซึ่งเชื่อมระหว่างอาหารที่กำลังจะถูกทิ้งและผู้บริโภคที่กำลังขัดสน
ตัวอย่างของซูเปอร์มาร์เก็ตประเภทนี้ก็คือร้าน
WeFood เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายอาหารหมดอายุแห่งแรกของโลก ตั้งขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
WeFood จะรวบรวมอาหารหมดอายุ หรือ อาหารที่มีตำหนิ รวมถึงอาหารที่กำลังจะถูกนำไปทิ้งจากหลายๆ แหล่ง เช่น ตลาด ร้านขายเนื้อ และบริษัทนำเข้าอาหารต่างๆ
หลังจากนั้นจะนำอาหารไปคัดกรองคุณภาพ และแช่แข็งอาหารไว้เพื่อคงสภาพให้สินค้าอยู่ได้นานขึ้น
โดยสินค้าที่ขายใน WeFood จะมีราคาถูกกว่าสินค้าในท้องตลาดประมาณ 30 - 50%
นอกจากนี้ก็ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ต SirPlus ซึ่งตั้งอยู่ที่ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
SirPlus เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีการขายสินค้าคล้ายกับ WeFood
โดยราคาสินค้าอาหารจะถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 30 - 80%
ซึ่งสินค้าอาหารทุกชิ้นใน SirPlus จะมีการแปะป้ายบอกลูกค้าว่าเป็นสินค้าที่ใกล้หมดอายุหรือหมดอายุแล้ว เพื่อเป็นการย้ำเตือนผู้บริโภคอีกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ
The Real Junk Food ซึ่งตั้งขึ้นที่สหราชอาณาจักร ก็เป็นอีกหนึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตที่น่าสนใจ
แม้ว่าจะมีการดำเนินงานที่คล้ายกับ WeFood และ SirPlus
แต่มีความพิเศษตรงที่ The Real Junk Food จะให้ลูกค้าเป็นคนตั้งราคาสินค้าเอง
และจ่ายตามความรู้สึกของลูกค้าแต่ละคนว่าอาหารเหล่านี้ควรมีราคาเท่าไร
หรือพูดง่ายๆ ว่า “Pay as you feel”
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่า
แล้วการขายอาหารหมดอายุจะผิดกฎหมายหรือไม่?
คำตอบของเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายในแต่ละประเทศ
ในเดนมาร์กและเยอรมนี เรื่องนี้ไม่ผิดกฎหมาย
ร้านค้าสามารถจำหน่ายอาหารเหล่านี้ได้ ถ้ามีการระบุบนผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจนว่าเป็นสินค้าหมดอายุ และไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค
แต่ในสหราชอาณาจักร การขายอาหารหลังวันหมดอายุเป็นเรื่องที่ไม่ถูกกฎหมาย
ทำให้การดำเนินธุรกิจของ The Real Junk Food อาจไม่ค่อยราบรื่นนัก
เพราะต้องเผชิญปัญหาฟ้องร้องจากบางฝ่าย
นอกจากนี้เรื่องการขายสินค้าหมดอายุ ยังมีอีกประเด็นที่น่ากังวลอยู่
เพราะโดยปกติแล้ว ร้านค้าบางแห่งจะนำอาหารเหล่านี้ ไปบริจาคให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
เมื่ออาหารที่ควรจะนำไปบริจาค กลับถูกนำไปขายลดราคา
แปลว่าปริมาณอาหารที่จะนำไปบริจาคจะลดลง
จึงอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรต่างๆ ที่เคยได้รับบริจาคโดยตรงจากร้านค้ามาก่อน
เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
คำถามที่น่าคิดต่อไปก็คือ
ถ้าหากมีซูเปอร์มาร์เก็ตแนวนี้เข้ามาเปิดในไทยจะเป็นอย่างไร
และคนไทยจะมีผลตอบรับต่อประเด็นนี้อย่างไร
แต่จริงๆ แล้วการขายอาหารที่ใกล้หมดอายุ หรือ อาหารที่เหลือในแต่ละวัน
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในไทยเท่าไร
เรามักจะเห็นซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี หรือร้านเบเกอรี
ที่จะลด แลก แจก แถม อาหารใกล้หมดอายุ
ในช่วงก่อนจะปิดร้านอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยบางแห่ง ยังมีการส่งอาหารที่ขายไม่หมดไปให้ มูลนิธิ Scholars of Sustenance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่รวบรวมอาหารที่ใกล้หมดอายุ หรือ อาหารที่ขายไม่หมดไปบริจาคให้กับผู้ยากไร้
ดังนั้น ถ้าหากซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายเฉพาะอาหารหมดอายุจะเกิดขึ้นในไทย
ก็อาจจะต้องรับมือกับปัญหาจากหลายๆ ฝ่าย
ทั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรที่จะได้รับผลกระทบ อย่าง Scholars of Sustenance
รวมถึงในด้านกฎหมาย
เพราะการขายอาหารหมดอายุในไทย ยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.independent.co.uk/news/world/europe/denmark-food-waste-supermarket-we-food-copenhagen-surplus-produce-a6890621.html
-https://www.theguardian.com/environment/2016/nov/27/food-waste-denmark-buy-expired-produce-copenhagen-wefood
-https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/real-junk-food-project-the-leeds-cafe-that-has-fed-10000-people-using-20-tonnes-of-unwanted-food-and-9926579.html
-https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/real-junk-food-project-food-waste-shop-supermarketadam-smith-pay-what-you-feel-a8443496.html
-https://www.unenvironment.org/regions/north-america/regional-initiatives/minimizing-food-waste
-https://www.cbc.ca/news/canada/toronto/programs/metromorning/we-food-supermarket-tackles-food-waste-1.3874035
-https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/first-food-waste-supermarket-uk-leeds-real-junk-food-project-a7317906.html
-https://www.thairath.co.th/clip/281501
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.