กรณีศึกษา การแยกขยะ ของประเทศญี่ปุ่น

กรณีศึกษา การแยกขยะ ของประเทศญี่ปุ่น

27 พ.ค. 2020
กรณีศึกษา การแยกขยะ ของประเทศญี่ปุ่น /โดย ลงทุนแมน
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่หลายคนให้การยอมรับในเรื่องของความสะอาด
เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน ถนนหนทาง บ้านเรือน ก็ดูมีระเบียบ และสะอาดตา
ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก มีประชากรที่หนาแน่นกว่าหลายๆ ประเทศ
และการใช้พลาสติกก็ไม่ได้น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ
แล้วญี่ปุ่นทำได้อย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
นอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนในประเทศแล้ว
นี่อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ
แต่ยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญคือ รัฐบาล ผู้วางรากฐานและแนวทางในการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เริ่มมาจาก ภาคครัวเรือนกันก่อน
หากใครที่เคยอยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นอาจจะเคยสัมผัสกฎระเบียบต่างๆ ในด้านการทิ้งขยะ
หากเทียบกับเมืองไทย หลายคนจะรวบรวมขยะแห้ง ขยะเปียก ทั้งหมดรวมกันแล้วทิ้งไป
แต่ในญี่ปุ่นนั้น การที่เราจะทิ้งขยะ เราจะต้องทำการแยกขยะทั้งหมดอย่างน้อย 4 ประเภทเสียก่อน
แล้วแบ่งใส่ถุงตามที่รัฐจัดให้ ซึ่งการแบ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละเทศบาล
ตัวอย่างเช่น ในเมือง Beppu
ถุงสีเขียว เป็นขยะเผาได้ เช่น เศษอาหาร ยาง สินค้าประเภทหนัง
ถุงโปร่งใส สำหรับขยะที่เผาไม่ได้ เช่น พวกสินค้าโลหะต่างๆ ขวดที่รีไซเคิลไม่ได้
ถุงสีชมพู เป็นพวกขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ PET กระป๋องน้ำดื่ม
ถุงกึ่งโปร่งใส สำหรับพวกกระดาษ เสื้อผ้า
โดยทางเทศบาลจะแจกปฏิทินว่าจะมาเก็บขยะประเภทไหนวันไหน
หากใครที่ทิ้งผิดวัน หรือแยกขยะไม่ถูกต้อง ขยะก็จะไม่ถูกเก็บไป และต้องนำกลับไปแยกใหม่ แล้วรอมาเก็บรอบถัดไปแทน
และที่ละเอียดไปกว่านั้น คือ นอกจากจะต้องแยกให้ถูกต้องแล้ว ขยะรีไซเคิลต่างๆ ก็ต้องมีการทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนนำไปทิ้งด้วย เช่น ขวดน้ำ กระป๋องน้ำ ต้องล้าง นำฝาขวดและห่วงออก กล่องนม กล่องกระดาษ ก็ต้องตัดพับให้เรียบร้อย
ส่วนภาคอุตสาหกรรม
รัฐบาลก็มีการออกกฎให้ผู้ที่ผลิตของเสียนั้น มีหน้าที่กำจัดของเสียที่ตัวเองก่อขึ้น
โดยอาจกำจัดเอง หรือว่าจ้างผู้อื่นมากำจัดได้ และขั้นตอนการกำจัดของเสียทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด
เรื่องทั้งหมดนี้ เมื่อมีการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล
โดยในปี 2017 ญี่ปุ่นมีอัตราการรีไซเคิลของพลาสติก PET สูงถึง 84.8%
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังถือว่าประสบปัญหาด้านปริมาณขยะพลาสติกอยู่ไม่น้อย
โดยจากข้อมูลในปี 2015 ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการสร้างขยะพลาสติกต่อหัวมากที่สุด เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งถึงแม้ว่าจะสามารถแบ่งแยกและเก็บขยะได้อย่างดี แต่ก็ไม่มีกำลังพอที่จะกำจัดขยะได้ทั้งหมด ด้วยปัญหาโรงงานรีไซเคิลที่มีอยู่อย่างจำกัด และพื้นที่ฝังกลบที่ไม่เพียงพอ
ทำให้ขยะพลาสติกบางส่วนนั้นถูกจำหน่ายให้กับประเทศใกล้เคียง อย่างประเทศจีน (เพิ่งถูกยกเลิกไปในปีที่ผ่านมา) หรือประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาที่ญี่ปุ่นกำลังเร่งแก้ไขอยู่
แต่หากพูดถึงเรื่องของการแยกขยะ การตระหนักถึงการรีไซเคิลของคนในชาติ เมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่ก่อขึ้นแล้ว ก็ถือว่ามีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือ ตั้งแต่ภาครัฐ จากจังหวัด เทศบาล อุตสาหกรรม และที่สำคัญที่สุดคือ ภาคครัวเรือน
และด้วยความร่วมมือ และการปลูกฝังมาตั้งแต่ภาคครัวเรือนนี้ ก็ช่วยให้ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีความสะอาดและเป็นระเบียบมากที่สุดประเทศหนึ่ง
รู้หรือไม่
ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพนั้น ญี่ปุ่นได้ช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น โดยการนำโลหะรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเหรียญรางวัลทั้งหมด โดยประชาชนสามารถช่วยบริจาคชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตามจุดรับบริจาคทั่วประเทศ..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-http://web.krisdika.go.th/data/news/news12283.pdf
-https://medium.com/social-innovation-japan/7-surprising-facts-about-plastic-in-japan-f6920cc8e621
-https://www.japantimes.co.jp/news/2019/07/06/national/media-national/japan-faces-uphill-battle-reduce-plastic-consumption/
-https://recyclinginternational.com/business/japan-environment-minister-looks-to-less-waste-incineration/
-https://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/25496/singleUsePlastic_sustainability.pdf?isAllowed=y&sequence=1
-https://www.nippon.com/en/features/h00300/too-much-waste-straining-japan%E2%80%99s-limited-landfill-space.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.