รู้จัก ดร.นิเวศน์ บิดาแห่งการลงทุน แบบเน้นคุณค่าของไทย

รู้จัก ดร.นิเวศน์ บิดาแห่งการลงทุน แบบเน้นคุณค่าของไทย

27 พ.ค. 2020
รู้จัก ดร.นิเวศน์ บิดาแห่งการลงทุน แบบเน้นคุณค่าของไทย /โดย ลงทุนแมน
“ผมเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์เลือก เพราะช่วงหนึ่งในชีวิต ผมแทบไม่มีอะไรติดตัวเลย” ประโยคหนึ่งที่พูดโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนผู้บุกเบิกวิธีการลงทุนแบบเน้นคุณค่าเป็นบุคคลแรกๆ ของประเทศไทย
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือการวิเคราะห์คุณภาพของกิจการ และเข้าซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งในสมัยก่อน คนไทยยังไม่นิยมการลงทุนแบบนี้เท่าใดนัก คนส่วนใหญ่จะคิดว่าหุ้นเป็นเหมือนการพนันที่มีราคาขึ้นลง
ดร.นิเวศน์ เป็นผู้บุกเบิกและให้แนวคิดว่าการซื้อหุ้นก็เหมือนการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการ โดยได้เขียนหนังสือชื่อว่า “ตีแตก” ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งท้าทายความเชื่อของคนในสมัยนั้นมาก เพราะเป็นเวลาเพียง 2 ปี หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในประเทศไทย และทุกคนได้รับผลขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นกันถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่รู้ว่า กว่าที่ ดร.นิเวศน์ จะกลายมาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างวันนี้ ชีวิตเขาผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย
ชีวิตของ ดร.นิเวศน์ น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เกิดปี พ.ศ. 2496 ในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นชาวจีนอพยพมาเมืองไทย โดยพ่อแม่ทำอาชีพก่อสร้าง
สมัยที่ ดร.นิเวศน์ยังเด็ก ครอบครัวของเขามีฐานะยากจน แต่สิ่งนี้ก็ได้สร้างนิสัยที่ติดตัวเขามาตลอดจนทุกวันนี้ ซึ่งก็คือ ความประหยัด ระมัดระวังการใช้จ่าย
อีกเรื่องที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของ ดร.นิเวศน์ คือการเรียน เขาเคยบอกว่า จริงๆ แล้วทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาลที่สุดสำหรับมนุษย์คือ การศึกษา เพราะนี่คือ สิ่งที่สามารถเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ให้กับหลายคน โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีต้นทุนในชีวิตไม่สูงอย่างตัวเขา
ด้วยความที่เป็นคนเรียนดี เขาสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบ ตัวเขาไปเริ่มทำงานที่โรงงานน้ำตาลในต่างจังหวัด ซึ่งงานวิศวกรในสมัยนั้นถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยกำลังเติบโต
สาเหตุสำคัญที่เขาเลือกไปทำงานต่างจังหวัด เพราะเขาเชื่อว่าจะช่วยทำให้เก็บเงินได้เร็วขึ้น เพราะนอกจากเงินเดือนแล้ว ยังมีค่าล่วงเวลา มีอาหาร และที่พักที่บริษัทจัดหาให้
ด้วยนิสัยที่เป็นคนประหยัดมาตั้งแต่เด็ก ทำให้พอมีเงินเก็บจากการทำงานบ้าง บางส่วนส่งให้ที่บ้าน และบางส่วนถูกนำไปลงทุน ซึ่งการลงทุนที่ว่าคือ การศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
โดยเฉพาะช่วงระหว่างไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านการเงินที่สหรัฐอเมริกานั้น ดร.นิเวศน์ ก็ไม่ได้มีเงินติดตัวมากนัก ทำให้ตัวเขาต้องทำงานด้วยการเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน เมื่อรวมกับการที่ได้รับทุน จึงช่วยให้เขาประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากพอสมควร
หลังเรียนจบกลับมา ดร.นิเวศน์ เข้ามาทำงานในสถาบันการเงินได้ประมาณ 10 ปี และในปี พ.ศ. 2540 ชีวิตต้องพบจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ด้วยการถูกเชิญออกจากงาน ในวัย 42 ปี จากผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้ง
การตกงานพร้อมด้วยภาระครอบครัวจากการมีลูกที่ยังเรียนและภรรยาที่ต้องดูแล ทำให้เขาต้องวางแผนชีวิตใหม่ เพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด
แต่นั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของ ดร.นิเวศน์
ดร.นิเวศน์ กล้านำเงินที่สะสมมาตั้งแต่ทำงาน มาลงทุนในหุ้นที่มีราคาลดลงมาเยอะมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เขาวิเคราะห์ดีแล้วว่าตัวธุรกิจได้รับผลกระทบน้อย ที่สำคัญ ยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้
ช่วงเวลานั้น ตัวเขาเองบอกว่า ตอนที่ลงทุนก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องรวย ขอเพียงแค่ให้มีเงินปันผล ที่สามารถนำมาใช้จ่ายและเลี้ยงดูครอบครัวได้ก็พอแล้ว
โดยแก่นแท้ในการลงทุนของตัวเขาคือ การซื้อหุ้นให้เปรียบเสมือนการทำธุรกิจ เพราะจะทำให้เราเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่หวั่นไหว และมั่นคงกับหุ้นที่เราลงทุน
จากวันที่ ดร.นิเวศน์ ตกงาน ผ่านมา 23 ปี วันนี้พอร์ตการลงทุนของ ดร.นิเวศน์เติบใหญ่จนมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
หุ้นที่ ดร.นิเวศน์ และครอบครัว ถือจนมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีบริษัทอะไรบ้าง?
1. CPALL จำนวนหุ้น 45 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 3,307 ล้านบาท
2. TCAP จำนวนหุ้น 21 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 703 ล้านบาท
3. QH จำนวนหุ้น 350 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 700 ล้านบาท
4. BAFS จำนวนหุ้น 5 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 113 ล้านบาท
5. EASTW จำนวนหุ้น 10 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 100 ล้านบาท
6. METCO จำนวนหุ้น 120,000 หุ้น มูลค่ารวม 15 ล้านบาท
7. BCPG จำนวนหุ้น 12,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 195 ล้านบาท
8. BCP จำนวนหุ้น 8,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 157 ล้านบาท
9. IRC จำนวนหุ้น 5,400,000 หุ้น มูลค่ารวม 68 ล้านบาท
10. MC จำนวนหุ้น 10,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 78 ล้านบาท
รวมมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 5,400 ล้านบาท
จากรายชื่อหุ้นที่ ดร.นิเวศน์ และครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน
ทำให้ในปี 2562 ตัวเขาและครอบครัวได้เงินปันผลรวมกันทั้งหมดกว่า 300 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแล้ววันละเกือบล้านบาท..
หนึ่งในข้อคิดที่ ดร.นิเวศน์ เคยพูดก็คือ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีหลายตัว ซึ่งแน่นอนว่าแม้ตัวเขาจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จแต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาจะเข้าใจและรู้จักหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ไปหมด
ถ้าเขาวิเคราะห์ดูแล้วว่า เขาไม่รู้ว่าบริษัททำธุรกิจอะไร เขาจะไม่พยายามไปสนใจหรือเสียเวลาทุ่มเทกับสิ่งเหล่านั้นมาก เพราะจะทำให้เราพลาดได้
เรื่องราวความสำเร็จของ ดร.นิเวศน์ เราอาจนำมาปรับใช้กับการใช้ชีวิต
ในความเป็นจริงนั้นชีวิตของคนอาจมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่เราเคยถามตัวเองไหมว่า สิ่งไหนที่สำคัญและสิ่งไหนที่ไม่สำคัญกับชีวิตเรา
อย่างกรณีของ ดร.นิเวศน์ นั้น เขาเชื่อว่า การศึกษา การหาความรู้คือ สิ่งสำคัญ
แม้ว่าช่วงที่เขาแทบจะไม่ค่อยมีเงินมากนัก แต่ตัวเขาก็ยังนำเงินไปลงทุนศึกษาหาความรู้ เพราะเขาเชื่อว่า นั่นคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งมันก็เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างวันนี้
วันนี้เราลองมานั่งคิดทบทวนว่า
ในชีวิตเรานั้นมีเรื่องอะไรบ้างที่สำคัญๆ ในชีวิต
แล้วพยายามทุ่มเท ให้เวลากับสิ่งเหล่านั้นให้มาก
จริงๆ แล้วความสำเร็จมันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หากแต่เป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ “ในวันนี้”..
----------------------
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
----------------------
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นที่กล่าวถึงในบทความ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.