กรณีศึกษา UNDER ARMOUR ฟอร์มตก มูลค่าหาย 5 แสนล้านใน 5 ปี

กรณีศึกษา UNDER ARMOUR ฟอร์มตก มูลค่าหาย 5 แสนล้านใน 5 ปี

2 มิ.ย. 2020
กรณีศึกษา UNDER ARMOUR ฟอร์มตก มูลค่าหาย 5 แสนล้านใน 5 ปี / โดย ลงทุนแมน
Under Armour เป็นแบรนด์กีฬาน้องใหม่
ซึ่งถ้าเราเทียบเป็นนักกีฬาแล้ว
ก็ไม่ต่างอะไรไปจากนักกีฬาดาวรุ่ง
แบรนด์นี้ก่อตั้งธุรกิจมาเพียง 24 ปี
เป็นหนึ่งในดาวรุ่งฟอร์มดี
ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้ทำให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจ
เข้าไปร่วมลงทุนในบริษัท จนปี 2015
มูลค่าบริษัท Under Armour สูงถึง 7 แสนล้านบาท
เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี..
แต่หลังจากนั้น นักกีฬาดาวรุ่งคนนี้ก็เริ่มฟอร์มตก
ไม่สามารถเติบโตได้เท่ากับที่หลายคนคาดหวังไว้
ทำให้หุ้น Under Armour ถูกเทขายอย่างหนัก
ปัจจุบัน Under Armour มีมูลค่าบริษัท
เหลือเพียง 1.1 แสนล้านบาท
ตกลงมาจากจุดสูงสุดในปี 2015 ถึง 84%
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ Under Armour?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเรามาดูการเติบโตของรายได้บริษัท Under Armour
ปี 2014 รายได้ 98,000 ล้านบาท
ปี 2015 รายได้ 126,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29%
ปี 2016 รายได้ 154,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%
ปี 2017 รายได้ 159,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%
ปี 2018 รายได้ 166,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%
ปี 2019 รายได้ 168,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1%
จะเห็นได้ว่ารายได้ของ Under Armour จากที่เคยเติบโตระเบิดต่อเนื่อง
ระดับไม่ต่ำกว่า 20% ติดต่อกัน 20 ไตรมาส กลับหยุดชะงักลงในปี 2017
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าจุดแข็งของ Under Armour
สวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมกีฬา
ที่ผ่านมา Under Armour เติบโตมาจากเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬา
กลุ่ม Performance Sportswear ที่โฟกัสการเจาะตลาดกลุ่มคอกีฬาจริงจัง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ก็คือ
เราเริ่มมีมุมมองการสวมใส่แบรนด์กีฬาเปลี่ยนไป
เปลี่ยนจากความจริงจัง กลายมาเป็นแฟชั่นมากขึ้น
เทรนด์นี้ถูกเรียกว่า Athleisure มาจากคำว่า Athlete รวมกับ Leisure
แปลว่าการแต่งตัวสบายๆ ด้วยเสื้อผ้ากีฬาที่สามารถใส่ได้ทุกวัน
เรื่องนี้เราอาจสังเกตได้จากแบรนด์กีฬาที่หายไปนาน
แต่สามารถกลับมาเติบโตได้ เช่น Champion และ Fila
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ สัดส่วนรายได้ตามกลุ่มสินค้า
Under Armour มีสัดส่วนรายได้จาก
เสื้อผ้ากีฬา 66%
รองเท้ากีฬา 21%
อุปกรณ์อื่นๆ 13%
ต่างจาก Nike และ Adidas ที่มีสัดส่วนรายได้จากรองเท้ากีฬาสูง
ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้ากีฬาที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด
นอกจากนี้ Under Armour ก็ยังเจอมรสุมอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น
สินค้ากีฬาที่ทำให้นักกีฬาบาดเจ็บ
สินค้าที่ร่วมกับซูเปอร์สตาร์แล้วไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้รายได้ของ Under Armour เติบโตน้อยลง
โดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ รายได้หดตัว 2 ปี ติดต่อกัน
แล้วสัดส่วนรายได้ของ Under Armour เป็นอย่างไร?
รายได้ทุกๆ 100 บาทของ Under Armour มาจาก
สหรัฐอเมริกา 69 บาท
ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 12 บาท
เอเชีย 12 บาท
ลาตินอเมริกา 4 บาท
และอื่นๆ 3 บาท
เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท
การที่ยอดขายลดลงจึงกระทบต่อธุรกิจมหาศาล
ซึ่งนอกจากผลกระทบต่อรายได้ กำไรแล้ว
มันก็ยังกลายเป็นคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ หรือไม่
แต่เมื่อธุรกิจเราเป็นดั่งดาวรุ่ง
ที่แบกความคาดหวังของนักลงทุนไว้มาก
เมื่อเราฟอร์มตก ไม่สามารถทำผลงานได้สม่ำเสมอ
จนท้ายที่สุดความคาดหวังกลายมาเป็นความผิดหวัง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มันก็จะรุนแรง
ในที่นี้ก็คือ มูลค่าบริษัท Under Armour ที่หายไป 84%
หรือคิดเป็นเท่ากับ 5 แสนล้านบาท นั่นเอง..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-Under Armour Investor Relations
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.