กรณีศึกษา คู่แข่งน้อย ขาดทุนหนักกว่า คู่แข่งมาก

กรณีศึกษา คู่แข่งน้อย ขาดทุนหนักกว่า คู่แข่งมาก

12 มิ.ย. 2020
กรณีศึกษา คู่แข่งน้อย ขาดทุนหนักกว่า คู่แข่งมาก /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่าธุรกิจในตลาดแบบไหนที่แข่งขันกันรุนแรงสุด
ในทางเศรษฐศาสตร์ คงตอบได้ว่า ตลาดแข่งขันแบบสมบูรณ์ (Competitive Market)
แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ เราเห็นธุรกิจอะไรแข่งขันกันดุเดือดที่สุด
หลายคนคงตอบว่า ธุรกิจดิลิเวอรีอาหาร ชอปปิงออนไลน์ สายการบิน หรือแม้แต่การแย่งลูกค้าให้ย้ายค่ายโทรศัพท์รายเดือน
ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนแต่อยู่ใน “ตลาดผู้ขายน้อยราย” (Oligopoly)
ทำไมเรื่องนี้ขัดกับทฤษฎีในตำรา
ลงทุนแมนจะอธิบายเรื่องนี้ให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักตลาดทั้งสองแบบนี้กันก่อน
ตลาดแข่งขันโดยสมบูรณ์ (Competitive Market)
คือตลาดที่มีลักษณะสินค้าเหมือนกันทุกประการ มีจำนวนผู้ขายและจำนวนสินค้าในปริมาณมาก
ผู้ซื้อและผู้ขายมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในตลาดได้อย่างสมบูรณ์
หมายความว่า ถ้าผู้ขายคนไหนขายสินค้าแพงกว่าราคาตลาด
คนก็จะไม่ซื้อของจากร้านนั้น แล้วหันไปซื้อร้านอื่นที่ขายถูกกว่าแทน
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ซื้อเป็นผู้มีอำนาจกำหนดราคาสินค้า
ในโลกแห่งความเป็นจริง ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในตลาด สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เช่น ตลาดผักผลไม้พันธุ์เดียวกัน เมล็ดข้าวสารพันธุ์เดียวกัน หรือแม้แต่ น้ำตาล ยางพารา น้ำมัน
ในโลกของตลาดแข่งขันโดยสมบูรณ์ ผู้ประกอบการต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่า จะใช้กลยุทธ์ห้ำหั่นราคา ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะทำไปก็มีแต่ทำให้ตัวเองได้กำไรน้อยลง
ดังนั้นทางที่ทุกคนต่างเลือกใช้ก็คือลดต้นทุนการผลิตของตนเองลง เช่น การผลิตจำนวนมากๆ เพื่อให้ได้การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และขายสินค้าต้นทุนต่ำเหล่านั้นในราคาตลาด
ส่วนตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)
คือตลาดที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ครองส่วนแบ่งกันเพียงไม่กี่เจ้า
แต่ละรายจึงต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อให้ตัวเองมีส่วนแบ่งมากสุดในตลาด
ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องปล่อยหมัดงัดกลยุทธ์มาต่อสู้กันตลอดเวลา
จนถึงขั้นตัวเองยอมขาดทุนเพื่อกำจัดคู่แข่งให้หมดไป หรือเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ
ตลาดแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ในไทย
ที่มีผู้เล่นหลักๆ คือ Lazada และ Shopee
ต่างฝ่ายต่างแข่งกันทุ่มงบประมาณมหาศาล
ส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน
ให้ตอบโจทย์การใช้งาน ดึงดูดให้คนมาใช้มากที่สุด
อีกส่วนเพื่อสนับสนุนแคมเปญส่งเสริมการขาย
เช่น คูปองส่วนลด โค้ดส่งฟรี กิจกรรมสินค้าราคาพิเศษตามวัน หรือช่วงเวลาต่างๆ
แม้ว่าทั้ง Lazada และ Shopee จะสร้างรายได้ ได้มากขึ้นทุกปี
แต่ต้นทุนที่ต่างฝ่ายต่างเผาแข่งกันก็เป็นเม็ดเงินจำนวนมากไม่แพ้กัน
ความรุนแรงในการแข่งขัน สะท้อนออกมาด้วยตัวเลขขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ของทั้งคู่
Lazada ประเทศไทย
ปี 2017 รายได้ 1,757 ล้านบาท ขาดทุน 568 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 8,163 ล้านบาท ขาดทุน 2,645 ล้านบาท

Shopee ประเทศไทย
ปี 2017 รายได้ 140 ล้านบาท ขาดทุน 1,400 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 165 ล้านบาท ขาดทุน 4,100 ล้านบาท
หรือแม้แต่ในธุรกิจที่อยู่มานานแล้วอย่างสายการบิน ก็มีการตัดราคาเพื่อแย่งลูกค้าเช่นกัน
บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2018 รายได้ 19,740 ล้านบาท ขาดทุน 3,975 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 19,969 ล้านบาท ขาดทุน 3,095 ล้านบาท
บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
ปี 2018 รายได้ 40,199 ล้านบาท กำไร 127.5 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 41,551 ล้านบาท ขาดทุน 871.5 ล้านบาท
จะเห็นว่าบริษัทที่เป็นคู่แข่งกัน มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง
โดยมีเป้าหมายคือเป็น “ผู้ชนะ” ที่จะได้ครองส่วนแบ่งตลาดให้มากที่สุด
เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า การแข่งขันกันในตลาดผู้ขายน้อยราย
มีความเข้มข้น ดุเดือด และรุนแรงมากขึ้นทุกที
และดูเหมือนว่าผู้เล่นในตลาดนี้จะขาดทุนหนักกว่า ผู้เล่นในตลาดแข่งขันโดยสมบูรณ์เสียอีก..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-งบการเงิน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)
-งบการเงิน บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.