สรุป มาตรการช่วยเหลือของ AOT ต่อ คิงเพาเวอร์

สรุป มาตรการช่วยเหลือของ AOT ต่อ คิงเพาเวอร์

7 ส.ค. 2020
สรุป มาตรการช่วยเหลือของ AOT ต่อ คิงเพาเวอร์ / โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่นานมานี้ เราอาจได้ยินกระแสข่าวมาตรการเยียวยา
ผู้ประกอบการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT
กระแสที่หลายฝ่ายทั้งนักวิเคราะห์ นักลงทุน และประชาชน วิพากษ์วิจารณ์กัน ก็คือ มาตรการของ AOT เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม หรือไม่
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือบริษัท คิง เพาเวอร์ ผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ค้าปลีกรายใหญ่ในสนามบินของ AOT
ที่เป็นประเด็นที่สุดก็คงเป็นบริษัทหลักทรัพย์บางรายโจมตีว่าการเยียวยาควรผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น และให้ CG Discount หรือส่วนลดความมีธรรมาภิบาลแก่ AOT
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit
มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
อย่างไรก็ตามก็มีความเห็นอีกส่วนหนึ่งที่บอกว่า การกระทำดังกล่าวของ AOT ก็ไม่ต่างจากการที่ห้างศูนย์การค้าต่างๆ ซึ่งหลายรายก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมาตรการเยียวยาคู่ค้าของตน
หรือแม้แต่ธนาคารต่างๆ ก็ช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น ลดดอกเบี้ย ยืดเวลาชำระหนี้ ลดค่าธรรมเนียม โดยที่ไม่ต้องไปจัดประชุมถามผู้ถือหุ้นก่อน
การช่วยเหลือคู่ค้าในสถานการณ์วิกฤติ ก็เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้แบบระยะยาว ซึ่งการที่ไม่เรียกประชุมผู้ถือหุ้น ไม่เกี่ยวกับการไม่มีธรรมาภิบาล
ต่อมาบริษัทหลักทรัพย์นั้น
ก็ได้ไปคุยกับฝ่ายบริหารของ AOT และได้ลบบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลนั้นออกไป
และได้ออกบทวิเคราะห์ใหม่ที่ไม่มีส่วนลด CG Discount แล้ว
จนกระทั่งล่าสุด AOT ได้ออกหนังสือแถลงการณ์ถึงเรื่องดังกล่าว
แล้ว AOT ให้เหตุผลสำหรับมาตรการเยียวยา ว่าอะไรบ้าง?
ลงทุนแมนจะมาสรุปให้ฟัง
ประเด็นแรกก็คือ AOT มีหลักการดำเนินนโยบายอย่างไร
ทางบริษัทระบุว่าปัญหาวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรง
และแผ่เป็นวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย
สำหรับ AOT ที่ทำธุรกิจบริหารสนามบินหลักของประเทศไทย
ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสายการบิน ผู้ประกอบการร้านค้ารายเล็ก
และรายใหญ่ที่เช่าพื้นที่ในสนามบินที่มีการว่าจ้างงานรวมเกือบแสนชีวิต
ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน
เรื่องนี้จึงทำให้ AOT ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายบอกเลิกสัญญา
ได้ตามเหตุผลที่สมควรโดยต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 45 ถึง 90 วัน
อย่างไรก็ตาม ทาง AOT บอกว่าไม่ได้ต้องการให้มีการปิดกิจการลง
เพราะการปิดกิจการลงนอกจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว มันยังมีแนวโน้ม
ที่จะกลายมาเป็นปัญหาสังคมที่เกิดจากการเลิกจ้างได้ในอนาคต
โดยมาตรการดังกล่าว จะทำให้รายได้ของ AOT ลดลง
แต่มันก็ไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายที่ทางบริษัทต้องจ่ายออกไป
หรือนำภาษีประชาชนมาจ่ายให้ผู้ประกอบการแต่อย่างใด
สำหรับประเด็นถัดมาก็คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์
ประเด็นดังกล่าว AOT ระบุว่าเป้าหมายของทางบริษัทก็คือ การมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการในสนามบิน สามารถประคับประคองกิจการให้คงอยู่ต่อไปได้ตามความเหมาะสมของโครงสร้างต้นทุนของแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งแบ่งออกเป็น
กลุ่มธุรกิจสายการบิน
บริษัทได้เลื่อนการชำระค่าพื้นที่, ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร, ค่าบริการสนามบิน และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น
รวมถึงยกเว้นการเก็บค่า Parking Charges สำหรับสายการบินที่หยุดบิน โดยครอบคลุมตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนธันวาคม 2563
กลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์
บริษัทได้ยกเว้นการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 31 มีนาคม 2565 และเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร
รวมถึงการยกเว้นเก็บค่าเช่าพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการที่ขอหยุดกิจการชั่วคราว
และลดค่าเช่า 50% สำหรับผู้ประกอบการที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่
โดยหากสถานการณ์มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายแล้ว AOT ก็จะดำเนินการเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในอัตราเท่ากับช่วงก่อนวิกฤติ และจะปรับขึ้นตามสัญญาเมื่อสนามบินเริ่มมีผู้โดยสารเริ่มปรับตัวมากกว่าช่วงวิกฤติ
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการไม่เลิกจ้างงาน
ประเด็นสุดท้ายก็คือ กรณีสัมปทานของบริษัท คิง เพาเวอร์
สำหรับประเด็นดังกล่าว AOT ชี้แจงว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับมาตรการช่วยเหลือไม่ต่างอะไรไปจากผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์รายย่อยกว่า 1,000 สัญญา
โดยบริษัทได้แบ่งรายละเอียดเป็น 2 ข้อ คือ
1. การขยายระยะเวลาเตรียมการเพิ่มอีก 1 ปี
AOT ชี้แจงว่าการขยายระยะเวลาเตรียมการเพิ่มอีก 1 ปี นั่นก็เพราะว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทไม่สามารถเปิดดำเนินการในอาคารเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ได้ตามเป้าหมายที่ปรากฏในสัญญา
โดยทาง AOT คาดว่าจะเลื่อนการเปิดให้บริการจากเดิม 1 เมษายน 2564 เป็น 1 เมษายน 2565
ทำให้บริษัทมีมติให้มีการขยายระยะเวลาเตรียมการออกไปอีก 1 ปี รวมกับของเดิม 6 เดือน ซึ่งรวมเป็น 1 ปี 6 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดใช้งานอาคาร
ทั้งนี้ บริษัทก็จะมีรายได้แปรผันตามจำนวนพื้นที่ที่เปิดให้บริการ และหลังจากนั้นจะเรียกเก็บค่าบริการตามพื้นที่เต็มจำนวนตามสัญญาเป็นระยะเวลา 10 ปี
2. การปรับจำนวนผู้โดยสารในการคำนวณค่าตอบแทนขั้นต่ำ
เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องมีการจำกัดการเปิดน่านฟ้า ทำให้จำนวนผู้โดยสารน้อยลง
AOT จึงมีการปรับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในการคำนวณอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำโดยยังคงอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำ และอัตราส่วนแบ่งรายได้เดิมตามสัญญาทุกประการ
สำหรับค่าตอบแทนขั้นต่ำนั้น จะมีการถูกปรับขึ้นทันทีในปีถัดไปอิงตามการขยายตัวของผู้โดยสาร และเงินเฟ้อ โดยไม่ต้องรอให้ผู้โดยสารกลับมาในระดับก่อนวิกฤติเหมือนผู้ประกอบการรายอื่น
ทั้งนี้ โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศลดลงกว่าร้อยละ 99
ซึ่งทางบริษัท คิง เพาเวอร์ สามารถใช้สิทธิขอยกเลิกสัญญาได้โดยไม่มีค่าปรับ
รวมถึงถ้า AOT เปิดประมูลใหม่ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤติ ก็อาจจะกลายมาเป็นความเสี่ยงที่จะไม่มีผู้ประกอบการรายใดเสนอผลตอบแทนในอัตราที่สูงดังที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทคาดการณ์ว่าผลตอบแทนที่บริษัททำได้ จะลดลงอย่างมหาศาล
ในขณะเดียวกัน หาก AOT ปล่อยให้มีการยกเลิกสัญญาไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือใหญ่ มันก็จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานจำนวนมาก
ทั้งหมดนี้เป็นสรุปคำชี้แจงของ AOT ที่ได้โต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากการออกมาตรการเยียวยาของทางบริษัท
ซึ่งก็น่าคิดเหมือนกันว่า 2 ทางเลือก
1. การออกมาตรการเยียวยาให้คู่ค้าทุกฝ่ายรอดวิกฤติครั้งนี้ไปได้ แบบที่ AOT ทำ
หรือ 2. ปล่อยให้ผู้ประกอบการทั้งเล็ก และใหญ่ต่างพากันมายกเลิกสัญญา แล้วเปิดให้เช่า หรือประมูลใหม่ โดยไม่มีการรับประกันว่า จะมีคนมาเช่าหรือไม่ หรือผลการประมูลจะเป็นเช่นไร
ทางไหนจะเป็นทางที่เหมาะสมกว่ากัน..
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit
มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Reference
-จดหมายชี้แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม กรณี บริษัท คิง เพาเวอร์
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.