กรณีศึกษา คูเวต ประเทศที่ รวยน้ำมัน แต่เงินกำลังจะหมด

กรณีศึกษา คูเวต ประเทศที่ รวยน้ำมัน แต่เงินกำลังจะหมด

17 ก.ย. 2020
กรณีศึกษา คูเวต ประเทศที่ รวยน้ำมัน แต่เงินกำลังจะหมด /โดย ลงทุนแมน
คูเวต ประเทศหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ที่ร่ำรวยจากการครอบครองทรัพยากรน้ำมันมาเป็นเวลานาน
แต่รู้ไหมว่า ในวันนี้ คูเวตกำลังเจอปัญหาใหญ่
คือ เงินในกองทุนสำรองของประเทศกำลังจะหมดลง
เกิดอะไรขึ้นกับคูเวต? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
คูเวต เป็นประเทศในทวีปเอเชีย ที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำมัน
ในปี 2019 คูเวตมีมูลค่า GDP เท่ากับ 4.3 ล้านล้านบาท และมีประชากรจำนวน 4.4 ล้านคน
ทำให้ GDP ต่อหัวของประชากรชาวคูเวต เท่ากับ 977,000 บาท
ซึ่งมากกว่า GDP ต่อหัวของคนไทยถึง 4 เท่า
คูเวตมีพื้นที่ 17,818 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 30 เท่า
แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 152 ของโลก
แต่คูเวตคือประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก
และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC)
โดย คูเวต มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองจำนวนสูงถึง 101,500 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองของทั้งโลก
ถ้าให้ราคาน้ำมันดิบ อยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของคูเวตจะมีมูลค่าสูงถึง 128 ล้านล้านบาท
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็หมายความว่า
ทรัพยากรน้ำมัน มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของ คูเวต อย่างมาก
ปี 2019 รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบของ คูเวต มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท
ซึ่งมูลค่าดังกล่าว คิดเป็น
90% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของคูเวต
90% ของรายได้ของรัฐบาลคูเวต
และ 35% ของ GDP ประเทศคูเวต
ในปี 2016
Anas Al-Saleh รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของคูเวตในสมัยนั้น ได้ออกมาเตือน ให้รัฐบาลลดงบประมาณรายจ่ายของประเทศลง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันจะตกต่ำในอนาคต
แต่คำเตือนของเขากลับถูกหลายคนหัวเราะเยาะ
เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ประเทศจะมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันอย่างมหาศาล แบบนี้ไปเรื่อยๆ
หลังจากนั้นมา
ในช่วงปี 2016-2018 ราคาน้ำมันดิบ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น
ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนมั่นใจว่า คำเตือนของ Anas Al-Saleh จะไม่เกิดขึ้นจริง
แต่แล้วการเกิดขึ้นของสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ในปี 2019 ก็เริ่มกดดันให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกชะลอตัวลง
และเหตุการณ์เริ่มเลวร้ายกว่านั้น
เมื่อต่อมา ทั่วโลก ก็เริ่มเกิดการระบาดของโรค COVID-19
โรคระบาดทำให้การเดินทางและการผลิตทั่วโลกลดลง
ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก จึงลดลงจากเดิม
นอกจากนั้นในเวลาต่อมายังเกิดสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ที่ทั้งคู่ไม่ยอมลดกำลังการผลิตทำให้ราคาน้ำมันยิ่งปรับตัวลง

ปี 2018 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ปี 2019 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 2020 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย อยู่ที่เพียง 41 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ
ที่คิดเป็น 90% ของรายได้รัฐบาลคูเวต ก็ลดลงจากเดิมอย่างมาก
ทำให้รัฐบาลมีเงินไม่พอที่จะนำมาจ่ายให้กับลูกจ้างของภาครัฐ
โดยปัจจุบัน ชาวคูเวตกว่า 80% หรือประมาณ 3.5 ล้านคน ทำงานเป็นลูกจ้างของรัฐบาล
ทำให้รัฐบาลต้องนำเงินในกองทุนสำรองของประเทศมาใช้จ่าย โดยในช่วง 3 เดือนหลังการระบาดของ COVID-19 เงินในกองทุน ได้ลดลงไปแล้วกว่า 411,000 ล้านบาท
ซึ่งถ้าหากราคาน้ำมันดิบยังไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม
จะทำให้รัฐบาลคูเวตเหลือเงินจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างของภาครัฐ ได้ถึงเดือนพฤศจิกายน ปีนี้เท่านั้น
พอเป็นแบบนี้ ในปีหน้า รัฐบาลคูเวตจำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล
ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1.4 ล้านล้านบาท
คิดเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปีงบประมาณ 2019-2020
และเป็นการขาดดุลงบประมาณเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2014
ที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้ารัฐบาลต้องกู้ยืมเงินมาใช้
ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ยังตกต่ำ คูเวต อาจมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันไม่เพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินที่กู้มา
ทำให้ในตอนนี้ คูเวต ต้องมีแนวคิดปฏิรูปประเทศ
ภายใต้สโลแกน Vision 2035 : New Kuwait
ที่มีประเด็นสำคัญ คือ พยายามลดการพึ่งพารายได้ จากอุตสาหกรรมน้ำมันลงจากเดิม
ซึ่งก็ต้องตามดูกันต่อไปว่า แผนการระยะยาวของคูเวตในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน
จากตัวอย่างเรื่องราวนี้ ของประเทศคูเวต
เป็นสิ่งที่เตือนเราว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศ บริษัทหรือบุคคล
การที่เราพึ่งพารายได้จากทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ถือเป็นความเสี่ยงที่สูง
เหมือนกรณีนี้ คูเวต พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ มากถึง 90% ของรายได้จากการส่งออก
ถ้าวันหนึ่ง รายได้หลักลดลงหรือหายไป
จากที่เคยร่ำรวยมานาน ก็อาจจะหมดเงินได้ง่ายๆ เหมือนกัน..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.