กรณีศึกษา เว็บไซต์ Pantip ยังมีกำไร แต่เจ้าอื่นขาดทุน

กรณีศึกษา เว็บไซต์ Pantip ยังมีกำไร แต่เจ้าอื่นขาดทุน

20 ต.ค. 2020
กรณีศึกษา เว็บไซต์ Pantip ยังมีกำไร แต่เจ้าอื่นขาดทุน /โดย ลงทุนแมน
“ไม่มีใครรู้ในทุกสิ่ง เรารู้ในสิ่งที่ผู้อื่นอาจจะไม่รู้ เช่นเดียวกับที่เรา ที่อาจจะไม่รู้ในสิ่งที่ผู้อื่นรู้”
นี่คือแนวคิดของผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ชื่อดังของไทย “Pantip”
หรือที่คนทั่วไปเรียกกันสั้นๆ ว่า “พันทิป”
เว็บไซต์ ที่เป็นพื้นที่ให้คนมาแชร์ความรู้ และเรื่องราวมากมาย
ท่ามกลางกระแสโซเชียลมีเดียที่เติบโตขึ้น
จนทำให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์หลายแห่งกำลังขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่รู้ไหมว่า Pantip กลับยังมีกำไรโตสวนกระแสได้
Pantip ทำแบบนี้ได้อย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
เว็บไซต์ Pantip ก่อตั้งขึ้นโดย คุณวันฉัตร ผดุงรัตน์
อดีตมนุษย์เงินเดือนที่เคยทำงานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์
เมื่อตัดสินใจออกมาทำธุรกิจด้วยตัวเอง คุณวันฉัตร เริ่มต้นด้วยการลงทุนร่วมกันกับเพื่อน เพื่อนำเข้าอุปกรณ์ต่อพ่วงเครื่องคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย
ธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้คุณวันฉัตร ได้รู้จักและคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากต้องติดต่อประสานงานกับคู่ค้าผ่านอีเมล
หลังจากคุ้นเคยกับโลกออนไลน์
คุณวันฉัตร เริ่มแบ่งเวลามาทำคอนเทนต์ด้านคอมพิวเตอร์และไอที
และได้เริ่มพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่คอนเทนต์ดังกล่าว
โดยตั้งชื่อเว็บไซต์ว่า “พันทิป” โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 200,000 บาท
คำว่า พันทิป มาจากคำว่า พัน และคำว่า ทิป
โดยคำว่า พัน มาจาก จำนวน 1,000 ส่วนคำว่า ทิป ก็มาจาก Tip ที่แปลว่าเคล็ดลับ
รวมกันแล้ว มีความหมายประมาณว่า “เว็บไซต์ที่เป็นศูนย์รวมเคล็ดลับนับพัน สำหรับคอมพิวเตอร์”
อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์ด้านคอมพิวเตอร์และไอที กลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก และเมื่อเวลาผ่านไป เงินที่ลงทุนไปก็เริ่มหดหายไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเงินก้อนนี้หมดลง คุณวันฉัตร ก็ตัดสินใจแล้วว่าจะเลิกทำเว็บไซต์
แต่เมื่อคุณวันฉัตร ทำการปรับรูปแบบการใช้งาน ให้พันทิปมีลักษณะเป็นกระดานข่าว และสามารถโต้ตอบกันได้ระหว่างคนสร้างกระทู้และคนอ่าน เว็บไซต์ Pantip ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยมา
คุณวันฉัตร จดทะเบียนบริษัทภายใต้ชื่อ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในปี พ.ศ. 2540
และในปัจจุบัน นอกจาก Pantip แล้ว ก็ยังมีเว็บไซต์ในเครืออีก 4 แห่งคือ
1. PantipMarket เว็บไซต์ที่ให้บริการลงประกาศขายสินค้าทั้งมือหนึ่งและมือสอง รวมทั้งการประกาศรับสมัครงาน
2. BlogGang เว็บไซต์ให้บริการพื้นที่สำหรับเขียนบล็อก
3. Pantown เว็บไซต์ที่บริการเว็บสำเร็จรูป สำหรับสร้างเว็บบอร์ด ห้องสนทนา
4. MagGang แพลตฟอร์มที่ให้นักเขียนสร้างบล็อกเป็นของตัวเอง และสามารถมีรายได้จากการเขียนคอนเทนต์ได้
ปัจจุบัน เว็บไซต์ Pantip มีผู้ใช้งานกว่า 4.2 ล้านคนต่อวัน
โดยพื้นที่สำหรับการสนทนา ถูกแบ่งเป็น 38 ห้องตามหมวดหมู่ที่หลากหลาย เช่น
ห้องสินธร จะเป็นกระทู้เกี่ยวกับ หุ้น เศรษฐกิจ การลงทุน
ห้องราชดำเนิน จะเป็นกระทู้เกี่ยวกับ การเมือง รัฐศาสตร์ กฎหมาย
ห้องบางขุนพรหม จะเป็นกระทู้เกี่ยวกับ ละคร นักแสดง ซีรีส์
นอกจากนี้ Facebook เพจ Pantip ยังมีผู้ติดตามมากกว่า 2.6 ล้านคน
และจากการจัดอันดับเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมของประเทศไทยในปี 2563 โดย We Are Social และ Hootsuite ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านดิจิทัลเอเจนซี Pantip ถูกจัดเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับที่ 4 ในไทย รองจาก Google.com, Facebook.com และ Youtube.com เท่านั้น
โดย Pantip มีรายได้หลักมาจากการขายพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ รวมทั้งการเขียนบทความโฆษณาให้แก่ผู้สนับสนุน
แล้ววันนี้ ผลประกอบการของ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของ Pantip เป็นอย่างไร
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 115 ล้านบาท กำไร 27 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 129 ล้านบาท กำไร 39 ล้านบาท
เมื่อลองเทียบกับเจ้าของเว็บไซต์อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันในไทย
บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ Dek-D.com
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 115 ล้านบาท ขาดทุน 8 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 126 ล้านบาท ขาดทุน 14 ล้านบาท
บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ Kapook.com
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 94 ล้านบาท ขาดทุน 6 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 86 ล้านบาท ขาดทุน 12 ล้านบาท
บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ Sanook.com
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 1,077 ล้านบาท ขาดทุน 59 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 1,263 ล้านบาท ขาดทุน 66 ล้านบาท
(เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) อาจมีรายได้หลักมาจากแหล่งอื่นที่บริษัทเป็นเจ้าของ เช่น แพลตฟอร์มมิวสิกสตรีมมิง JOOX, ธุรกิจเกม PUBG, ธุรกิจคลาวด์)
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายๆ เว็บไซต์อื่นในทุกวันนี้กำลังขาดทุน
คือการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญ
ที่กำลังดึงเวลาจากผู้ใช้งานเว็บไซต์ไป
นอกจากนั้น บริษัทผู้พัฒนาเว็บไซต์ยังต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนา ดูแลเว็บไซต์ และผลิตคอนเทนต์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยเลย
แล้วทำไม Pantip ถึงยังมีกำไรโตสวนกระแสได้?
คำตอบคือ Pantip อาจไม่ได้ใช้งบลงทุนหนักเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มเหมือนเจ้าอื่น และตอนนี้ Pantip มีผู้ใช้งานที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในขณะที่เจ้าอื่นยังมีผู้ใช้งานไม่มากเท่า Pantip
และอีกข้อก็คือ Pantip มีแบรนด์ที่ดี เพราะแบรนด์นี้เป็นเหมือนศูนย์รวมข้อมูล ความรู้ และแหล่งแชร์ประสบการณ์ จนสังเกตว่า บางครั้งเราอยากรู้อะไร ก็จะเสิร์ชเรื่องนั้น แล้วตามหลังด้วยคำว่า “Pantip”
อย่างไรก็ตามความท้าทายก็มีเช่นกัน
เพราะโซเชียลมีเดียเจ้าอื่นๆ นับวันจะสามารถแย่งเวลาผู้ใช้งานไป
ซึ่งการถูกแย่งเวลา มันก็เหมือนการถูกแย่งรายได้ไปนั่นเอง..
----------------------
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.