กรณีศึกษา Duolingo แอปเรียนภาษา ที่เป็นยูนิคอร์นแล้ว

กรณีศึกษา Duolingo แอปเรียนภาษา ที่เป็นยูนิคอร์นแล้ว

1 ธ.ค. 2020
กรณีศึกษา Duolingo แอปเรียนภาษา ที่เป็นยูนิคอร์นแล้ว /โดย ลงทุนแมน
สมัยก่อน ถ้าต้องการเรียนภาษาต่างประเทศ
เราอาจต้องหาซื้อหนังสืออ่านเอง หรือสมัครคอร์สเรียนพิเศษ
แต่ปัจจุบัน ทุกคนสามารถหาเรื่องเหล่านี้ได้บนโลกออนไลน์
ซึ่งสำหรับการเรียนภาษา
แอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีชื่อว่า “Duolingo”
แพลตฟอร์มนี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นไม่นาน
แต่มีผู้ใช้งานเป็นประจำถึง 40 ล้านราย
เรื่องราวของ Duolingo น่าสนใจอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Duolingo เป็นแอปพลิเคชันเรียนภาษา จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2012 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
ผู้ก่อตั้ง Duolingo คือคุณ Luis von Ahn ซึ่งเป็นทั้งนักธุรกิจ และอาจารย์คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน รัฐเพนซิลเวเนีย
หลายคนคงไม่คุ้นชื่อของเขาคนนี้
แต่หลายคนอาจคุ้นเคยกับสิ่งที่เขาเคยสร้างขึ้นมา นั่นก็คือ "reCAPTCHA" ระบบพิสูจน์ตัวตนที่ป้องกันไม่ให้เว็บไซต์ถูกโจมตีด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ ซึ่งถูก Google ขอซื้อไปแล้วเมื่อปี 2009
ต่อมา คุณ Luis von Ahn มีความคิดที่จะสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเรียนภาษาออนไลน์
เนื่องจากเคยเห็นปัญหาที่ผู้คนในประเทศกัวเตมาลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขานั้น ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษได้ เพราะมีราคาค่อนข้างแพง
จึงได้ร่วมมือกับลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อว่า คุณ Severin Hacker ก่อตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม Duolingo
จุดเด่นที่สำคัญของ Duolingo คือ ไม่ได้ออกแบบหลักสูตรให้เหมือนอยู่ในห้องเรียน
แต่เน้นสร้างประสบการณ์ที่ดี ผ่านการเล่นเกม ซึ่งทำให้การเรียนภาษาไม่น่าเบื่อจนเกินไป
รวมทั้งนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ข้อมูลผลการเรียน เพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
เดิมที Duolingo เปิดให้ใช้แอปได้ฟรี ตามความตั้งใจของคุณ Luis von Ahn
ซึ่งถือเป็นผลดีในช่วงแรก เพราะทำให้เกิดการแนะนำบอกต่อ จนแพลตฟอร์มเริ่มมีชื่อเสียงติดตลาด
โดยบริษัทมีการหารายได้ จากการแปลข่าวภาษาต่างประเทศให้กับสำนักข่าว มาทดแทน
แต่เมื่อแพลตฟอร์มเติบโตและมีต้นทุนสูงขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้โมเดลธุรกิจแบบ Freemium
คือ เปิดให้ใช้งานขั้นพื้นฐานฟรี แต่ถ้าสมัครสมาชิกราคาประมาณ 200 บาทต่อเดือน ก็จะมีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นมา เช่น ปิดโฆษณาได้ หรือ ปลดล็อกคอนเทนต์พิเศษได้
ด้วยรูปแบบการเรียนที่แปลกใหม่และน่าสนใจ จึงทำให้ Duolingo มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน Duolingo มียอดดาวน์โหลดกว่า 300 ล้านครั้ง ซึ่งมากที่สุดในบรรดาแอปพลิเคชันด้านการศึกษา
โดยมีจำนวนผู้ใช้งานประจำต่อเดือน (Monthly Active Users)
ปี 2018 อยู่ที่ 25 ล้านรายต่อเดือน
ปี 2019 อยู่ที่ 30 ล้านรายต่อเดือน
ปี 2020 อยู่ที่ 42 ล้านรายต่อเดือน
ทั้งนี้ Duolingo เปิดหลักสูตรสอนอยู่ 38 ภาษา ซึ่งภาษาที่มีคนลงเรียนมากสุด ได้แก่
ภาษาสเปน (28.5 ล้านราย), ภาษาฝรั่งเศส (16.6 ล้านราย) และภาษาเยอรมัน (8.9 ล้านราย)
ซึ่งก็น่าเสียดายว่า ยังไม่มีคอร์สภาษาไทยบนแพลตฟอร์มนี้
แล้วผลการดำเนินงานของ Duolingo เป็นอย่างไร?
เมื่อผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มยังคงเพิ่มขึ้น และผู้ใช้งานเดิมยังคงกลับมาเรียนต่อเรื่อยๆ
จึงทำให้ผลประกอบการของบริษัท มีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง
ปี 2018 รายได้ 1,090 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 2,600 ล้านบาท
ปี 2020 คาดการณ์รายได้ 5,400 ล้านบาท
หรือเติบโตถึง 5 เท่า ภายในเวลาเพียง 3 ปี
ซึ่งในปีนี้ Duolingo ถือว่าได้รับประโยชน์จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 พอสมควร
เพราะช่วงที่มีการปิดเมืองหรือปิดโรงเรียน ทำให้คนหันมาใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อหาข้อมูลความรู้กันมากขึ้น
โดยคุณ Luis von Ahn เปิดเผยว่า ถึงแม้สมาชิกแบบเสียค่าบริการ จะคิดเป็นเพียง 3% ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด แต่ธุรกิจภาพรวมของ Duolingo ก็ได้เลยจุดคุ้มทุนมาแล้ว
นอกจากนั้น บริษัทยังมีการหารายได้จากช่องทางอื่นๆ ด้วย เช่น
การเปิดสอบวัดระดับทางภาษา ในราคาเพียง 600 บาทต่อครั้ง ซึ่งถูกกว่าสถาบันอื่นๆ
และแจ้งผลสอบได้ภายใน 1-2 วัน ซึ่งมีมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ เริ่มให้ใช้ผลการทดสอบนี้ในการรับรองระดับความสามารถแล้วกว่า 2,000 แห่ง
นอกจากนั้นยังพัฒนาบริการ Duolingo for Schools สำหรับให้โรงเรียนใช้สอนและติดตามผลการเรียนของนักเรียน
และ Duolingo ABC สำหรับสอนเด็กเล็กวัย 3-6 ขวบ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักลงทุนแนว Venture Capital หลายราย เข้ามาลงทุนในบริษัท Duolingo, Inc.
เช่น A-Grade Investments ของนักแสดง แอชตัน คุชเชอร์ รวมถึงบริษัทร่วมลงทุนในเครือ Google
โดยที่ผ่านมา Duolingo ได้จัดระดมทุนไปแล้วทั้งหมด 6 รอบ รวมเป็นเงินกว่า 4,500 ล้านบาท
ซึ่งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 นั้น Duolingo ถูกประเมินมูลค่าธุรกิจไว้ที่ประมาณ 45,000 ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์น (สตาร์ตอัปที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท) ไปแล้วเรียบร้อย
และมีข่าวว่า บริษัทกำลังเตรียมตัวจะ IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในเร็วๆ นี้ด้วย
เรื่องราวความสำเร็จของ Duolingo แสดงให้เห็นว่า
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาความเร็วขึ้น
ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่ารูปแบบเดิมขึ้นมากมาย
อย่างกรณีธุรกิจสอนภาษา ที่เมื่อก่อนเจ้าของบริษัทอาจต้องลงทุนเปิดโรงเรียน และรับสอนนักเรียนจำนวนหนึ่ง
แต่ถ้าพัฒนาบริการไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ การผลิตคอร์สเรียนออกมาแต่ละครั้ง มันสามารถสเกลให้เข้าถึงคนทั่วโลกได้เป็นวงกว้าง ซึ่งจะมีโอกาสทำรายได้ได้มากตามไปด้วย
ดังนั้น คนที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดี
ก็มีโอกาสขยายฐานลูกค้า จากเดิมที่มีหลักร้อย หลักพัน
ให้เติบโตกลายเป็นผู้คนทั่วโลกได้ เหมือนกรณีของ Duolingo..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.