ธุรกิจ เรือด่วนเจ้าพระยา

ธุรกิจ เรือด่วนเจ้าพระยา

13 ต.ค. 2017
ธุรกิจ เรือด่วนเจ้าพระยา / โดย เพจลงทุนแมน
เรือด่วนเจ้าพระยา
ผู้ให้บริการเรือประจำทาง ในแม่น้ำเจ้าพระยา
เชื่อมต่อผู้คนหลายหมื่นคนต่อวัน
ธุรกิจนี้มีรายได้เท่าไร
ธุรกิจนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นใดบ้าง วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบันธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยาบริหารโดย คุณ สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม
แต่หากย้อนกลับไปที่จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจแล้วนั้น ก็ต้องพูดถึงคุณแม่ของคุณสุภาพรรณ ซึ่งก็คือ คุณหญิง สุภัทรา สิงหลกะ ผู้ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าแม่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
คุณหญิง สุภัทรา สิงหลกะ ถวายงานรับใช้ราชสำนักตั้งแต่วัยเยาว์ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีหน้าที่ในการตั้งเครื่องเสวย โดยใช้ชีวิตอยู่ในวังเรื่อยมา จนกระทั่งอายุ 18 ปี ในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณหญิงสุภัทราก็ได้ออกมาอยู่บ้าน และรับธุรกิจท่าเรือต่อจากครอบครัวเมื่ออายุครบ 20 ปี
ในขณะนั้นมีเพียงธุรกิจเดินเรือข้ามฟาก ที่ใช้เรือแจวเพียง 3-4 ลำ รับส่งผู้โดยสารระหว่างพระนครและฝั่งธน และได้พัฒนาขึ้นเป็นเรือยนต์ในเวลาต่อมา เก็บค่าโดยสารคนละ 25 สตางค์
ต่อมาในปี 2514 เรือโดยสารประจำทางที่ดำเนินงานภายใต้กรมเจ้าท่า ได้ขายกิจการการเดินเรือให้แก่ครอบครัวของคุณหญิงสุภัทรา นับตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยาที่เรารู้จักในปัจจุบัน
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือธุรกิจการเดินเรือของครอบครัวนี้แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ
1.ธุรกิจการเดินเรือโดยสารประจำทาง ภายใต้บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด
2.ธุรกิจการเดินเรือข้ามฟาก ภายใต้บริษัท สุภัทรา จำกัด
เรือด่วนเจ้าพระยาให้บริการในเส้นทางตั้งแต่ท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี จนถึงท่าเรือวัดราชสิงขร ถ.เจริญกรุง มีเรือด่วนรวมทั้งสิ้น 65 ลำ ให้บริการเป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร ผ่าน 38 ท่าเรือ โดยมีท่าเรือที่สำคัญๆ เช่น
- ท่าเรือนนทบุรี หรือที่เรียกกันว่าท่าน้ำนนท์ เป็นจุดเชื่อมใหญ่แห่งนนทบุรี
- ท่าเรือวังหลัง เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช และฝั่งตรงข้ามคือ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- ท่าเรือสาทร เชื่อมเข้าสู่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) และยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับ BTS สะพานตากสินอีกด้วย
ปัจจุบันเรือด่วนเจ้าพระยาให้บริการผู้โดยสารมากถึง 4 หมื่นคนต่อวัน
นอกจากเรือด่วนเจ้าพระยาที่เป็นเรือประจำทาง ก็ยังมีธุรกิจย่อยก คือ เรือโดยสารท่องเที่ยว (tourist boat) ซึ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยมีผู้ใช้งานประมาณ 3-4 พันคนต่อวัน รวมถึงให้บรการเรือเช่าเหมาลำสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการเดินทางทำกิจกรรมโดยเรือ
การเดินทางด้วยเรือด่วนนั้นเป็นช่องทางที่สะดวกสำหรับผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ด้วยค่าโดยสารที่ถูกกว่าช่องทางอื่นๆ และสามารถคำนวณเวลาเดินทางได้อย่างชัดเจน เพราะการจราจรทางน้ำนั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดขัด จึงทำให้ได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจุบันเรือด่วนเจ้าพระยามีรายได้เท่าไร?
ปี 2557 มีรายได้ 219 ล้านบาท มีกำไร 31 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 204 ล้านบาท มีกำไร 41 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 198 ล้านบาท มีกำไร 26 ล้านบาท
นอกจากธุรกิจการโดยสารทางเรือ
ครอบครัวนี้ก็ยังมีธุรกิจอื่น ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำสายหลักแห่งนี้อีกมากมาย เช่น โครงการท่ามหาราช ซึ่งเป็น community mall ริมน้ำ เปิดให้บริการเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังมีโรงแรมริมแม่น้ำอีก 2 แห่งได้แก่ Riva Surya และ Riva Arun
หากวิเคราะห์ธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยาแล้วนั้น
เนื่องจากแม่น้ำนั้นไม่เหมือนถนน การขยายเส้นทางการเดินเรือเพื่อขยายฐานลูกค้านั้นทำได้ยาก และการขยายตัวของ BTS หรือ MRT ถือเป็นคู่แข่งสำคัญที่อาจจะดึงส่วนแบ่งลูกค้าของเรือด่วนไป
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนี้ก็อาจกลายเป็นโอกาส
เช่นรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ MRT ที่มีสถานีสะพานพระนั่งเกล้า ซึ่งก็มีแผนที่จะสร้างท่าเรือพระนั่งเกล้าเพื่อเป็น Hub การขนส่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2561
เท่ากับว่าการขยายตัวของคู่แข่งก็อาจสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจได้เช่นเดียวกัน เพราะจุดแข็งคือใครจะมาใช้บริการเรือด่วนก็ต้องมาใช้ของบริษัทนี้เท่านั้น สรุปแล้วการมาของรถไฟฟ้าก็อาจเป็นเรื่องเสริมกันกับธุรกิจเรือด่วน
ธุรกิจก็เป็นเช่นนี้แหละ มีเค้กอยู่ก้อนเดียว มักจะมีคู่แข่งมาแย่งกินเค้กเราอยู่เสมอ
แต่เราก็อย่ามัวแต่หวงเค้กเกินไป จนลืมว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่กินเค้กคนเดียว ไม่งั้นคงเหงาตาย
เวลากินเค้ก แย่งกันกิน มักอร่อยกว่า กินคนเดียวเสมอ
เค้กสามารถแบ่งกันกินได้ และ เค้กไม่ได้มีขนาดเท่าเดิมตลอดไป
สุดท้ายถ้าเค้กใหญ่ขึ้น ทุกคนก็คงได้กินมากกว่าเดิม..
----------------------
<ad> รีไฟแนนซ์ บ้าน คอนโด กับ REFINN ประหยัดเงินได้เป็นล้าน ประหยัดเวลาได้เป็นปี ไม่มีค่าบริการ คลิก https://goo.gl/2KgGWa
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.