ปตท. มีกลยุทธ์ในการเติบโต ท่ามกลางวิกฤติโควิด อย่างไร ?

ปตท. มีกลยุทธ์ในการเติบโต ท่ามกลางวิกฤติโควิด อย่างไร ?

2 มิ.ย. 2021
ปตท. มีกลยุทธ์ในการเติบโต ท่ามกลางวิกฤติโควิด อย่างไร ?
ปตท. x ลงทุนแมน
ในปีที่ผ่านมา วิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ร่วงลงไปจนมีมูลค่าติดลบอยู่ช่วงหนึ่ง ผลที่ตามมาก็คือความตกต่ำของราคาน้ำมันที่ลากยาวต่อจากนั้นไปอีกหลายเดือน
เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงไปยังการขาดทุนสต็อกของบริษัทน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะปรับตัวดีขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก
แต่ในประเทศไทย เรากำลังอยู่ท่ามกลางการระบาดระลอกที่ 3 ที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังคงมีอยู่
และได้กดดันไปยังความต้องการใช้พลังงานที่ยังไม่ฟื้นกลับมา
แล้ว ปตท. บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
มีกลยุทธ์การเติบโตภายใต้วิกฤติอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หากเรามาดูผลประกอบการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
หรือ PTT ในปี 2563 จะพบว่า
รายได้ 1,615,665 ล้านบาท ลดลง 27.2%
กำไรสุทธิ 37,766 ล้านบาท ลดลง 59.4%
โดยสาเหตุสำคัญที่กำไรลดลงมากกว่ารายได้ ก็เพราะว่า
กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นของ ปตท. ได้รับผลกระทบจากการขาดทุน
สต็อกน้ำมันมูลค่าราว 19,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน
เป็นผลมาจากประสบปัญหาหลายอย่างตั้งแต่สงครามราคาน้ำมัน, สภาวะน้ำมันล้นตลาดในช่วงปิดเมือง และความต้องการใช้น้ำมันในช่วงโรคระบาดที่ลดลงกะทันหันตลอดทั้งปี
ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในช่วงที่สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ร่วงลงไปติดลบ
ปตท. ได้ระบุว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ไม่ได้ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันดิบของประเทศไทยมากนัก
โดยเฉพาะกับกลุ่ม ปตท. ที่มีการกระจายถือสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบหลายรูปแบบ ในขณะที่ประเทศไทยจะอิงราคาน้ำมันดิบดูไบเป็นหลัก ซึ่งมีการปรับตัวลดลงราว 33.5% ในปี 2563
อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ที่กลุ่ม ปตท. นำมาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด ก็คือการจัดตั้งทีม PTT Group Vital Center ขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรับหน้าที่วางแผนและดำเนินกลยุทธ์ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะสั้น คือการบริหารค่าใช้จ่ายที่ทำทันทีหลังวิกฤติ
ในขณะที่ระยะยาว คือการบริหารสินค้าคงคลัง
รวมไปถึงสภาพคล่องทางการเงิน, ลูกค้าและบุคลากรในองค์กร
แล้ววิกฤติโควิด กระทบเศรษฐกิจประเทศไทยขนาดไหน ?
จากการที่สภาพัฒน์ได้ออกมาประเมินว่า GDP ประเทศไทยปีนี้
จะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 2.5 ถึง 3.5% แต่ก็เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น
จากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ที่ GDP ประเทศไทย -6.1%
ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เราอาจได้เห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศไทยในปีนี้ที่ระดับ 1% หรืออาจจะต่ำระดับ 0% ได้เช่นกัน
ปตท. ได้ประเมินว่าปริมาณความต้องการน้ำมันและราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
โดยมีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564
อยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นมาราว 43% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของการกระจายวัคซีนทั่วโลกมีแนวโน้มจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว และท้ายที่สุดความต้องการใช้น้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นตามการเดินทางที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปตท. ได้มองว่าวิกฤติโรคระบาดในปีที่ผ่านมา
สามารถนำมามองให้เป็นโอกาสได้ในหลายมุม เช่นกัน
ปตท. ได้เล็งเห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเร่งดำเนินธุรกิจใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงการลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยได้ปรับพอร์ตการลงทุน เน้นไปที่ 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1. New Energy
2. Life Sciences
3. Mobility & Lifestyle
4. Specialty Materials
5. Logistics & Infrastructure
6. AI, Robotics & Digitalization
ปตท. มีการจัดตั้งบริษัท Innobic (Asia) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อมุ่งดำเนินในธุรกิจ Pharmaceutical, Nutrition และ Medical Devices ซึ่งจะสามารถต่อยอดและขยายการลงทุนไปยังตลาดยาด้านมะเร็งวิทยาในภูมิภาคอาเซียน ช่วยให้ผู้ป่วยในภูมิภาคดังกล่าวเข้าถึงยาสามัญได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ปตท. ก็เพิ่งประกาศว่าได้เข้าไปลงทุนใน Lotus Pharmaceutical บริษัทวิจัยและพัฒนายารักษามะเร็งที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มูลค่าราว 1,560 ล้านบาท โดยเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 6.66%
การลงทุนดังกล่าว ถือเป็นใบเบิกทางให้ทางบริษัทสามารถรุกเข้าสู่ธุรกิจวิจัยและพัฒนายาในระดับภูมิภาคอาเซียน
นอกจากจะเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ของทางบริษัทแล้ว การลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้จะทำให้ผู้ป่วยในระดับภูมิภาคเข้าถึงยารักษาโรคได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้มีแผนก่อตั้งโรงงานยารักษามะเร็งกับองค์การเภสัชกรรมให้แล้วเสร็จในปี 2565 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมถึงรุกเข้าสู่ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและวัสดุทางการแพทย์ ร่วมกับ IRPC ในรูปแบบบริษัทร่วมทุน
โดย ปตท. วางเป้าหมายให้ทั้ง 6 กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในแผนการลงทุน จะสร้างกำไรเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 15% จากกำไรทั้งหมดของบริษัทภายในปี 2573
สำหรับมุมมองต่อธุรกิจพลังงานใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า ปตท. ระบุว่าทิศทางพลังงานในอนาคตแน่นอนว่าพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นพลังงานหลักของโลก ซึ่งตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงรอยต่อสำคัญและก๊าซธรรมชาติจะกลายมาเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่านในช่วงนี้
ซึ่งบริษัทก็ได้ขยายขอบเขตธุรกิจจากเดิมที่เป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติ
มุ่งเข้าสู่การเป็นตัวกลางในการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระดับภูมิภาค หรือ LNG Hub เช่นกัน
ในขณะเดียวกัน ก็ได้กำหนดทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานระยะ 10 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2573 โดยคาดว่าจะลงทุนราว 1 ใน 5 ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดในพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่, แท่นชาร์จรถไฟฟ้า เช่นกัน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.