คู่แฝด Winklevoss จากคู่อริ ซักเคอร์เบิร์ก สู่เศรษฐีบิตคอยน์

คู่แฝด Winklevoss จากคู่อริ ซักเคอร์เบิร์ก สู่เศรษฐีบิตคอยน์

31 พ.ค. 2021
คู่แฝด Winklevoss จากคู่อริ ซักเคอร์เบิร์ก สู่เศรษฐีบิตคอยน์ /โดย ลงทุนแมน
ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Social Network คงจะจำฝาแฝด ที่ฟ้องร้อง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ว่าขโมยไอเดียของพวกเขาไปสร้างเฟซบุ๊กกันได้
ทั้งสองคน คือ Cameron และ Tyler ฝาแฝดตระกูล Winklevoss
ซึ่งฉากสุดท้ายในภาพยนตร์ จบลงตรงที่พวกเขาเรียกร้องเงินชดเชยมูลค่ามหาศาล แลกกับการยอมคดีความ
แล้วชีวิตจริงหลังจากนั้นของคู่แฝด Winklevoss เป็นอย่างไรต่อ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ร่วมติดตามข่าวสารคริปโทเคอร์เรนซี จากมุมมองหลายเพจ ได้ในแพลตฟอร์ม Blockdit ลองอ่านตัวอย่างได้ที่ www.blockdit.com/explore/cryptocurrency
╚═══════════╝
คุณ Cameron และ Tyler Winklevoss เป็นนักลงทุนชาวอเมริกัน
เกิดเมื่อปี 1981 ปัจจุบันมีอายุ 39 ปี
พวกเขาเป็นคนที่มีความสามารถอยู่หลายด้าน
โดยด้านการศึกษา เรียนจบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard และปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัย Oxford
ส่วนด้านกีฬา ทั้งคู่เป็นตัวแทนนักกีฬาพายเรือทีมชาติสหรัฐอเมริกา ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี 2008 และทำเวลาได้เป็นอันดับ 6 ของรายการ
แต่เหตุการณ์ที่ทำให้สังคมรู้จักชื่อ Winklevoss
คงต้องย้อนไปเมื่อปี 2003 สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Harvard
ในขณะนั้น Cameron และ Tyler มีไอเดีย ต้องการสร้างเครือข่ายสังคมบนโลกออนไลน์ เพื่อเชื่อมต่อนักศึกษาทุกคนเข้าหากัน ชื่อว่า HarvardConnection
ซึ่งต่อมา พวกเขาได้รู้จักกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จึงชักชวนให้มาช่วยเขียนโปรแกรมเว็บไซต์ดังกล่าว
แต่ผ่านมาถึง เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2004 ขณะที่ HarvardConnection ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
ปรากฏว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้เปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ ชื่อว่า TheFacebook ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์ในลักษณะคล้ายกัน
และอย่างที่ทุกคนรู้ว่าเฟซบุ๊กเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลก มีผู้ใช้งานกว่า 2,800 ล้านบัญชี
ซึ่งคู่แฝด Winklevoss มองว่า พวกเขาถูกขโมยไอเดีย และโคดโปรแกรมบางส่วนถูกนำไปใช้สร้างเฟซบุ๊กจึงได้ตัดสินใจดำเนินการยื่นฟ้องร้องคดี บริษัทเฟซบุ๊ก
จนสุดท้ายในปี 2008 ก็ได้มีการตกลงยอมความกัน โดยฝั่ง Winklevoss ได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 630 ล้านบาท และหุ้นเฟซบุ๊ก มูลค่า 1,400 ล้านบาท

ต่อมา หลังจากจบปัญหากับเฟซบุ๊กแล้ว
พวกเขานำเงินที่ได้รับชดเชย ไปก่อตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อหาโอกาสลงทุนในสตาร์ตอัป อย่างไรก็ตามไม่มีบริษัทไหนอยากได้เงินลงทุนจากพวกเขาเลย
แต่อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาก็พบสินทรัพย์ที่น่าสนใจ และสามารถลงทุนได้เองทันที
สิ่งนั้นก็คือ “บิตคอยน์”
Winklevoss วิเคราะห์ว่าในอนาคต บิตคอยน์จะก้าวขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งรักษาความมั่งคั่งได้ เหมือนกับทองคำ
จึงทยอยเข้าซื้อบิตคอยน์ ด้วยเงิน 340 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงปี 2012-2013 และถือลงทุนแบบระยะยาว
โดยพวกเขาอ้างว่า พวกเขาถือครองบิตคอยน์ อยู่จำนวน 1% ของเหรียญทั้งหมดในตลาดตอนนี้ หรือเกือบ 180,000 เหรียญ ซึ่งถ้าเป็นจริงตามคำกล่าวอ้างของพวกเขานั้น ก็จะประมาณการได้ว่า ต้นทุนเฉลี่ยต่อเหรียญของพวกเขา อยู่ที่เพียง ไม่ถึง 1,900 บาทต่อเหรียญ เท่านั้น

ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าโลกจะหมุนไปตามที่พวกเขาคาดการณ์ไว้
เพราะหลายฝ่าย ต่างเริ่มยอมรับและใช้ประโยชน์จากบิตคอยน์กันมากขึ้น
ทำให้ราคาซื้อขายบิตคอยน์พุ่งสูงขึ้น จนมีราคาเหนือหลักล้านบาท
ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้น “หลายร้อยเท่า” จากประมาณการต้นทุนเฉลี่ยของพวกเขา
ส่งผลให้คู่แฝด Winklevoss กลายเป็นมหาเศรษฐีในระดับ Billionaire
โดยในปี 2020 นิตยสาร Forbes ประเมินว่า ทั้งคู่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน อยู่ที่ราว 188,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น พวกเขายังทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ คริปโทเคอร์เรนซีด้วย

ในปี 2014 ทั้งคู่ได้ก่อตั้ง Gemini แพลตฟอร์มตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
ซึ่งในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มชั้นนำของโลก มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 16,500 ล้านบาทต่อวัน
และในปี 2019 บริษัท Gemini ได้เข้าซื้อกิจการของ Nifty Gateway แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Non-Fungible Token (NFT) ที่กำลังมาแรงในขณะนี้
โดยอ้างอิงข้อมูลจาก CryptoArt.io แพลตฟอร์ม Nifty Gateway ถือเป็นตลาดซื้อขาย NFT ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 มีมูลค่าการซื้อขาย 2,300 ล้านบาท คิดเป็น 82% ของตลาดซื้อขาย NFT
เดือนมีนาคม ปี 2021 มีมูลค่าการซื้อขาย 4,100 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของตลาดซื้อขาย NFT
ซึ่ง Nifty Gateway มีการเก็บค่าคอมมิชชันจากผู้ขาย NFT ที่อัตรา 15% ของมูลค่าการซื้อขาย
ทั้งนี้ Winklevoss มีแผนที่จะเชื่อมต่อแพลตฟอร์ม Gemini และ Nifty Gateway เข้าด้วยกัน
เพื่อต่อยอดให้บริการสินเชื่อคริปโทเคอร์เรนซี ที่ค้ำประกันด้วยสินทรัพย์ NFT ได้
ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของระบบการเงินไร้ตัวกลาง หรือ Decentralized Finance (DeFi) ที่มีโอกาสเติบโตสูงมากในอนาคต
แน่นอนว่า คู่แฝด Winklevoss คงเสียดายโอกาสในการก่อตั้งธุรกิจโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่หากเกิดขึ้นก่อน อาจมาแทนที่เฟซบุ๊กทุกวันนี้ ก็เป็นได้
แต่ประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะพลาดไป แต่พวกเขาก็ยังไม่หยุดมองหาโอกาสที่น่าสนใจใหม่ ๆ จนพวกเขาได้รู้จักและลงทุนในบิตคอยน์ในช่วงเริ่มต้น
ทำให้ค่าชดเชยที่พวกเขาได้รับจากการฟ้องร้องเฟซบุ๊กในตอนนั้น เป็นแค่เศษเสี้ยวของ มูลค่าทรัพย์สินของพวกเขาในตอนนี้..
คำเตือน: บทความนี้ไม่ได้เป็นการแนะนำการลงทุน การซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
╔═══════════╗
ร่วมติดตามข่าวสารคริปโทเคอร์เรนซี จากมุมมองหลายเพจ ได้ในแพลตฟอร์ม Blockdit ลองอ่านตัวอย่างได้ที่ www.blockdit.com/explore/cryptocurrency
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.entrepreneur.com/article/369372
-https://www.celebritynetworth.com/articles/billionaire-news/what-have-the-winklevoss-twins-been-up-to/
-https://www.cnbc.com/2017/12/04/winklevoss-twins-may-have-become-first-bitcoin-billionaires.html
-https://coinmarketcap.com/rankings/exchanges/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Tyler_Winklevoss
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.