บังกลาเทศ ทำอย่างไร ให้รวยแซงหน้าอินเดียและปากีสถาน

บังกลาเทศ ทำอย่างไร ให้รวยแซงหน้าอินเดียและปากีสถาน

20 มิ.ย. 2021
บังกลาเทศ ทำอย่างไร ให้รวยแซงหน้าอินเดียและปากีสถาน /โดย ลงทุนแมน
ในอดีต ถ้าเราเอา 3 ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกันในเอเชียใต้
คือบังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน
มาเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของประชากรกัน
จะเห็นว่า บังกลาเทศ เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับสุดท้าย
แต่รู้ไหมว่าวันนี้ บังกลาเทศ คือประเทศที่รวยแซงหน้าอินเดียและปากีสถานไปแล้ว
บังกลาเทศทำอย่างไร ให้รวยแซงประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียและปากีสถาน
และในอนาคตพวกเขาตั้งเป้าจะพัฒนาประเทศเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรามาดูรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของประชากรใน 3 ประเทศนี้
ในอดีตเทียบกับปัจจุบัน อ้างอิงจาก World Bank
ปี 1980
- ปากีสถาน 9,400 บาท
- อินเดีย 8,300 บาท
- บังกลาเทศ 7,100 บาท
ปี 2020
- บังกลาเทศ 69,000 บาท
- อินเดีย 60,000 บาท
- ปากีสถาน 48,000 บาท
รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวบังกลาเทศเติบโต 9.7 เท่า
ขณะที่อินเดียเติบโต 7.2 เท่า และปากีสถานเติบโต 5.1 เท่า
เรียกได้ว่า วันนี้บังกลาเทศคือประเทศร่ำรวยแซงหน้าอินเดียและปากีสถานไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อวัดจากรายได้ต่อหัวของประชากร
จริง ๆ แล้วบังกลาเทศถือเป็นประเทศที่เกิดหลังจากอินเดียและปากีสถาน
เนื่องจากในปี 1971 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว บังกลาเทศ มีชื่อเดิมคือ ปากีสถานตะวันออก ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองกับปากีสถานตะวันตก
ในช่วงแรกที่ปากีสถานตะวันออกต้องการแยกตัวออกจากปากีสถานตะวันตกนั้น
ทางปากีสถานตะวันตกไม่ยินยอม และใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการปัญหา
แต่กลับมีตัวละครอีกตัวคือ อินเดีย
ที่ได้ส่งกองทัพเข้าไปช่วยปากีสถานตะวันออกรบกับปากีสถานตะวันตก

จนสุดท้ายปากีสถานตะวันออกได้รับชัยชนะ
และประกาศเอกราชมาเป็นประเทศบังกลาเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ส่วนปากีสถานตะวันตกก็เป็น ประเทศปากีสถาน จนถึงวันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้บังกลาเทศจะสามารถแยกออกมาตั้งเป็นประเทศได้สำเร็จ แต่ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่แร้นแค้นอย่างหนัก ความไม่มั่นคงทางการเมือง มีการทุจริตในวงกว้าง ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม
จึงทำให้ผู้คนนับล้านคน ไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พวกเขาจึงต้องอพยพเข้าไปอยู่อินเดีย และบางส่วนอพยพด้วยช่องทางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยถูกทหารปากีสถานสังหาร
ความยากจนแร้นแค้นของประชาชน ทำให้ครั้งหนึ่งบังกลาเทศเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยเฉพาะช่วงแรกหลังจากประกาศเอกราชนั้น ประชากรกว่า 90% ของบังกลาเทศนั้นอาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจของบังกลาเทศเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อรัฐบาลได้นำเอาแผนปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่มาใช้
โดยมีเรื่องสำคัญในแผนฉบับนั้นคือ
นโยบายการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ หรือ “Trade Liberalization”
ซึ่งนโยบายนี้ มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อมาช่วยให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้อย่างเสรีมากขึ้น
ผลของการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ ทำให้การค้าและการลงทุนของประเทศนั้นเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว
อัตราการเติบโตของ GDP บังกลาเทศ เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในช่วงปี 1980-1989 มาอยู่ที่ 4.7% ในช่วงปี 1990-1999
นโยบายดังกล่าว ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ
ที่นำไปสู่การปฏิรูปหลายภาคส่วนของบังกลาเทศ
เช่น นโยบายการค้า, ภาคอุตสาหกรรม, ภาคการเงิน รวมไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวลาต่อมา
ในปี 2000 มูลค่า GDP ของบังกลาเทศ เท่ากับ 1.7 ล้านล้านบาท
ในปี 2019 มูลค่า GDP ของบังกลาเทศ เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 10 ล้านล้านบาท
ทำให้บังกลาเทศถูกมองว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วมากที่สุดในโลก
และการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบติดจรวด ทำให้จากประเทศที่เคยยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางแล้วในวันนี้
และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีแซงหน้าอินเดียและปากีสถาน 2 ประเทศเพื่อนบ้านที่รวยกว่าในอดีตไปแล้ว
จุดเด่นอีกเรื่องในโครงสร้างเศรษฐกิจของบังกลาเทศ คือ การมีแรงงานจำนวนมาก โดยปัจจุบันบังกลาเทศ มีจำนวนแรงงานกว่า 67 ล้านคน หรือประมาณ 41% ของจำนวนประชากร
จึงทำให้มีความได้เปรียบทางด้านค่าแรงที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากจุดนี้คือ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย
อุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนสูงกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ ที่เท่ากับ 1.4 ล้านล้านบาทในปี 2019
ข้อได้เปรียบด้านแรงงาน จึงดึงดูดให้บริษัทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายระดับโลก เข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในบังกลาเทศหลายบริษัท เช่น
- H&M แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกจากสวีเดน
- Primark แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายชื่อดังจากไอร์แลนด์
- ZARA แบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลกจากสเปน
- GAP แบรนด์เครื่องแต่งกายจากสหรัฐอเมริกา
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงปี 2011-2019
การส่งออกของบังกลาเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.6% ทุกปี
เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่โตเฉลี่ย 0.4%
และตอนนี้บังกลาเทศ ยังกลายมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องแต่งกายอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่จีนประเทศเดียว
การมีตลาดแรงงานที่ใหญ่ และจำนวนประชากรของบังกลาเทศที่มีมากถึง 165 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก เมื่อรวมกับการที่รายได้ชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ตลาดผู้บริโภคของที่นี่จะมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายก็ออกมาบอกว่า
ความท้าทายของบังกลาเทศ ก็จะคล้ายกับประเทศกำลังพัฒนาที่เคยอาศัยข้อได้เปรียบด้านแรงงานถูก
เพราะในอนาคต ถ้าจุดเด่นเรื่องแรงงานราคาถูกค่อย ๆ หายไป
บังกลาเทศ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเน้นการผลิตและส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น แทนอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานอย่างอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายเหมือนในวันนี้
ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลของบังกลาเทศได้เตรียมการรองรับเรื่องดังกล่าว
ด้วยการออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า “Bangladesh Vision 2041” ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2021 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจคือ
- เพิ่มสัดส่วนมูลค่าการลงทุนต่อ GDP จาก 34% มาอยู่ที่ 47%
- เพิ่มมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจาก 297,600 ล้านบาท มาอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท
- เพิ่มมูลค่าเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจาก 3.1 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 36 ล้านล้านบาท
- เพิ่มมูลค่าการส่งออกจาก 1.5 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 9.3 ล้านล้านบาท
โดยทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายก็เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตในประเทศ
และเพื่อทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวบังกลาเทศ เพิ่มไปอยู่ที่ 496,000 บาท
จนกลายเป็นประเทศ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายได้สูง ภายในปี 2041 นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.business-standard.com/article/economy-policy/bangladesh-rises-to-be-south-asia-s-standout-star-as-india-pak-fall-behind-121060100237_1.html
-https://www.piie.com/commentary/speeches-papers/evaluating-success-trade-liberalization-bangladesh
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD?locations=IN-PK-BD
-https://data.worldbank.org/country/bangladesh
-https://www.worldstopexports.com/bangladeshs-top-10-exports/
-https://data.worldbank.org/indicator/SL.TLF.TOTL.IN?locations=BD
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://en.wikipedia.org/wiki/Bangladesh_Vision_2041
-https://blogs.worldbank.org/opendata/new-world-bank-country-classifications-income-level-2020-2021
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.