4 ปัญหาการทำงานเป็นทีม ที่เกิดจาก “อคติ”

4 ปัญหาการทำงานเป็นทีม ที่เกิดจาก “อคติ”

24 ส.ค. 2021
4 ปัญหาการทำงานเป็นทีม ที่เกิดจาก “อคติ” | THE BRIEFCASE
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคของการทำงานแบบทีมเวิร์กหรือก็คือการทำงานเป็นทีม ที่เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงาน และผลักดันองค์กรก้าวไปข้างหน้าได้
แต่สังเกตไหมว่า บางครั้งการทำงานเป็นทีม ก็สร้างปัญหาและความล้มเหลวในการทำงานได้เช่นกัน โดยมีหนึ่งต้นตอสำคัญมาจาก “อคติ” ที่เกิดขึ้นจากสมาชิกในทีมเอง
ที่น่าสนใจคือ อคติเหล่านี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกระบวนการทำงานเป็นทีมอีกด้วย
เราลองมาดูตัวอย่าง 4 อคติที่ต้องเจอ เมื่อต้องทำงานเป็นทีม แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขอคติจากการทำงานเป็นทีมเหล่านี้ ได้อย่างไร ?
1. มอง “ตนเองเก่ง” เกินความเป็นจริง
หลายครั้งที่สมาชิกในทีม ถูกคัดเลือกมาจากความเชี่ยวชาญหรือความถนัดแตกต่างกัน มาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างผลลัพธ์การทำงานที่มีคุณภาพมากที่สุด
จึงไม่แปลกใจ หากสมาชิกในทีมที่มีความเก่งกันคนละด้านนี้ จะมีความมั่นใจในความสามารถของตนเองเสียเหลือเกิน จนทำให้เกิดอคติที่เรียกว่า Dunning-Kruger Effect ซึ่งก็คือ การคิดว่าตนเองเก่ง จนเกินความเป็นจริง
เช่น คนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าทีม” เพราะมีผลงานดีเด่นในอดีตในด้านที่ตนเองถนัด
ซึ่งไม่ได้การันตีว่า ความสามารถในการบริหารทีมของเขาจะออกมาดีเด่นเช่นเดียวกัน ได้หรือไม่
ผลที่ตามมาก็คือ การมองไม่เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง เมื่อได้รับบทบาทใหม่ ๆ ในการทำงานเป็นทีม
ทางออกของอคตินี้ก็คือ ทันทีที่สมาชิกในทีมมองว่า ตนเองเก่งมากขึ้นเท่าไร ต้องฝึกให้เขารู้จักตั้งข้อสังเกต และจับผิดตนเองให้ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น
เพราะเมื่อเขาได้เห็นข้อผิดพลาดของตนเองบ่อย ๆ ก็จะช่วยลด Ego หรือ อัตตาของตนเองได้
2. ทำงานแบบยึดติด “อดีต” มากกว่าปัจจุบัน
ในการทำงานเป็นทีม ที่มีลักษณะคล้ายกัน หรือมีเป้าหมายคล้ายกัน สังเกตไหมว่า สมาชิกในทีมมักจะดึงประสบการณ์ หรือข้อมูลครั้งก่อน ๆ ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว มาบอกเล่าให้สมาชิกคนอื่น ๆ ในทีมฟัง และหลายครั้งก็ใช้เป็นหลักในการทำงานครั้งใหม่นี้ด้วย
ดังนั้น หากมีข้อมูลใหม่ ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ ที่ดูจะขัดแย้งกับครั้งก่อน จึงเลือกที่จะมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญใด ๆ เพื่อป้องกันความสับสนของข้อมูลและวิธีการทำงาน
จึงเป็นที่มาของอคติที่เรียกว่า Conservatism Bias ที่เกิดจากการยึดติด “เรื่องราวในอดีต” มากกว่าปัจจุบัน
ผลก็คือการทำงานแบบเดิม ๆ ที่ไม่มีการพัฒนา และยังปิดกั้นโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงานเป็นทีมอีกด้วย
ดังนั้น ทางออกของอคตินี้ก็คือ ลองท้าทายการทำงานเป็นทีมในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ, วิธีการทำงานใหม่ ๆ, สับเปลี่ยนบทบาทสมาชิกในทีม ที่จะช่วยให้สมาชิกในทีมกลับมาทำงานด้วยข้อมูลปัจจุบัน และบทบาทปัจจุบันของตนเอง
3. ประชุมแบบ “จมปลัก” เชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งมากเกินไป
การทำงานเป็นทีม จะประกอบด้วยคนจำนวนมาก จึงน่าจะได้แง่คิดหรือไอเดียที่หลากหลาย
แต่สงสัยไหมว่า ทำไมหลายครั้งที่มีการประชุมระดมสมอง ความคิดเห็นต่าง ๆ ของสมาชิกในทีมกลับไม่ได้รับความสนใจอย่างที่ควรจะเป็น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ สมองของคนเรา มักจะหลีกเลี่ยงข้อมูลที่มีความสับสน หรือมีปริมาณมากเกินไป แต่จะเลือกรับข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ได้คำตอบไวที่สุด
จึงเกิดอคติที่เรียกว่า Anchoring Effect ที่เกิดขึ้นจากการปักใจเชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งไปแล้ว
ดังนั้น หากการประชุมใดเกิดมีแนวคิด, ข้อมูล หรือวิธีทำงานที่สมาชิกในทีม “ปักใจเชื่อ” ไปแล้ว ก็จะทำให้การเปิดใจรับฟังข้อมูลอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ยากขึ้น
เราจึงเห็นการประชุมระดมสมองในหลาย ๆ ครั้ง มักจะจมปลักอยู่กับแค่แนวคิดเดียว หรือข้อมูลเพียงด้านเดียวที่สมาชิกในทีมปักใจเชื่อไปแล้ว ทำให้ความคิดเห็นอื่น ๆ ที่อาจจะดีกว่า หรือเวิร์กกว่า ถูกละเลยความสนใจไปในที่สุด
ทางออกของอคตินี้ก็คือ การประชุมด้วยคำถามปลายเปิด เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในทีมแสดงความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายให้ได้มากที่สุด
นอกจากนั้นยังควรต้องสร้างความตระหนักร่วมกันว่า ไม่ควรปักใจเชื่อในข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง ก่อนที่จะสรุปผลการประชุม
4. แผนงานพัง เพราะ “ประเมินเวลางานเสร็จเร็วไป”
ปกติเเล้ว การวางแผนหรือตารางงาน มักจะขึ้นอยู่กับขั้นตอนของการทำงานในทีมนั้น ๆ
เช่น ขั้นตอนออกแบบสินค้า, ขั้นตอนขึ้นแบบจำลองสินค้า, ขั้นตอนผลิตสินค้า
โดยไม่ได้คำนึงเลยว่า แต่ละขั้นตอนจะเกิดปัญหาหรือไม่ และต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหานานเพียงใด ซึ่งผลที่ตามมาคือความล้าช้าหากเกิดปัญหาระหว่างทาง ทำให้ไม่สามารถเป็นไปตามแผนที่วางไว้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของการเกิดอคติที่เรียกว่า The Planning Fallacy หรือก็คือ การประเมินเวลาทำงานให้ลุล่วงเร็วเกินความเป็นจริง
ผลเสียที่ตามมา นอกจากจะทำให้ตารางงานหรือแผนงานที่วางไว้นั้น พังทลายไม่เป็นท่าแล้ว ยังถูกมองว่า การทำงานเป็นทีมครั้งนี้ล้มเหลว และสูญเสียความน่าเชื่อถืออีกด้วย
ทางออกของอคตินี้ก็คือ การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ในงานนั้น ๆ เพื่อจะได้จัดเวลาทำงานให้สอดคล้องตามความเป็นจริง
รวมทั้งการวางแผนสำรองฉุกเฉิน และการจัดทีมงานสำรอง เพื่อรับช่วงต่อในกรณีที่งานมีปัญหาหรือล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนไว้ด้วย
มาถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่า การทำงานเป็นทีม จะกลายเป็นดาบ 2 คม..
ที่มี “คมแรก” คือประโยชน์จากการร่วมมือทำงานเป็นทีม ช่วยผลักดันองค์กรให้เดินหน้า
แต่ก็ต้องเตรียมรับมือกับ “คมสอง” คือปัญหาในการทำงานเป็นทีม
ที่มีสาเหตุมาจากอคติของสมาชิกในทีม ด้วยนั่นเอง..
References:
-https://www.zendesk.com/blog/8-cognitive-biases-affect-manage-team/
-https://www.managementstudyguide.com/conservatism-bias.htm
-https://www.investopedia.com/terms/a/anchoring.asp
-https://www.mentimeter.com/blog/the-science/how-to-deal-with-the-anchoring-effect-in-meetings
-https://thedecisionlab.com/biases/planning-fallacy/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.