กรณีศึกษา ทำไม กฟผ. ถึงจริงจังกับธุรกิจ ชาร์จพลังงานรถไฟฟ้า

กรณีศึกษา ทำไม กฟผ. ถึงจริงจังกับธุรกิจ ชาร์จพลังงานรถไฟฟ้า

2 พ.ย. 2021
กฟผ. X ลงทุนแมน
หากพูดถึง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
เราก็จะนึกถึง รัฐวิสาหกิจ ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าและรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน
จากนั้นก็จะส่งพลังงานไฟฟ้าไปยัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง
เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าไปยังบ้านเรือน และบริษัทต่าง ๆ
ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจหลักที่ กฟผ. ทำมานานถึง 52 ปี
แล้วใครจะคิดว่าเวลานี้ กฟผ. กำลังจะมีธุรกิจใหม่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
นั่นคือ ธุรกิจบริการชาร์จพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจร
ตั้งแต่แท่นชาร์จ และตู้อัดประจุไฟฟ้า จนถึงการวางระบบบริหารสถานีชาร์จต่าง ๆ
โดยธุรกิจนี้มีชื่อว่า EGAT EV Business Solutions
ทำไม กฟผ. ถึงสนใจและจริงจังในธุรกิจนี้
และโมเดลธุรกิจนี้จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาดูอัตราการเติบโตของรถ EV Car กันก่อน
หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในปี 2010 ยอดขาย EV Car ทั่วโลกอยู่แค่พันกว่าคัน
จนมาถึงปี 2020 ยอดขาย EV Car ทั่วโลกอยู่ที่ 2.3 ล้านคัน หรือคิดเป็น 3.2%
จากยอดขายรถยนต์ทั้งหมดทั่วโลก
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีการคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า
EV Car จะมียอดขายแซงหน้ารถเครื่องยนต์สันดาป
ทีนี้เราลองนึกดู หากรวมรถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่บนท้องถนนอยู่แล้วก่อนหน้านี้
มาบวกกับยอดขาย EV Car ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี
นั่นแปลว่า ในอนาคตจำนวน EV Car จะวิ่งโลดแล่นเต็มท้องถนนทั่วโลก
แม้ในบ้านเราจะออกสตาร์ตช้ากว่าประเทศอื่น ๆ แต่การเติบโตก็เป็นไปตามเทรนด์โลก
โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา รถปลั๊กอิน ไฮบริด และ EV Car รวมกันมีจำนวน 1.8 แสนคันบนท้องถนน
และมีการคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2040 หรือ 20 ปีข้างหน้า
ประเทศไทยจะมีรถพลังงานไฟฟ้ารวมกันกว่า 2.5 ล้านคันบนท้องถนน
นั่นแปลว่าต่อจากนี้ไป ยอดขายรถปลั๊กอิน ไฮบริด และ EV Car จะเติบโตก้าวกระโดดทุกปี
ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยค่อย ๆ ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านในอนาคต เมื่อรถพลังงานไฟฟ้าต่าง ๆ จะมาแทนที่อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป อย่างไม่มีวันหวนกลับมา
พอมองเห็นภาพอนาคตชัดเจน กฟผ. รัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจในการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้า พัฒนาสาธารณูปโภคด้านระบบไฟฟ้า และมีเป้าหมายในการลดการปล่อย CO2 ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง จึงเลือกใช้ความแข็งแกร่งตรงนี้
มาต่อยอดทำธุรกิจชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
เพียงแต่ธุรกิจนี้ ก็ไม่ใช่ทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ
รู้หรือไม่ ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าหัวชาร์จเจอร์ ตู้อัดประจุไฟฟ้า
จนถึงแพลตฟอร์มบริหารจัดการสถานีชาร์จไฟจากต่างประเทศทั้งหมด
ซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง
นั่นแปลว่า ต้นทุนทางธุรกิจก็จะสูงตามไปด้วย
ผลที่ตามมาคือ กลายเป็นธุรกิจที่ยากต่อการทำกำไร
ซึ่งยังรวมไปถึงคนที่ต้องการซื้อเครื่องชาร์จไฟฟ้าไว้ที่บ้านที่ต้องจ่ายในราคาแพง
แล้ว กฟผ. จะเข้ามาช่วยคลายปัญหานี้ได้อย่างไร ?
วิธีที่ กฟผ. เลือกคือ ทำลายกำแพงตรงนี้
ด้วยการเป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นพันธมิตรกับบริษัททั้งใน และต่างประเทศ
เพื่อทำให้ หัวชาร์จเจอร์, ตู้อัดประจุไฟฟ้า และการวางระบบบริหารจัดการ มีราคาที่ถูกลง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
และเมื่อทำให้ต้นทุนวัตถุดิบหลักธุรกิจลดลง ก็ย่อมสร้างโอกาสในธุรกิจหลากหลาย
พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้อนาคตประเทศไทยมีสถานีชาร์จไฟฟ้าครอบคลุมทุกพื้นที่
แล้วมีวิธีไหนบ้าง ที่จะทำให้เป้าหมายที่วางไว้ประสบความสำเร็จ
โดยวิธีของ กฟผ. คือเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง Ecosystem ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
โดยแบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจหลัก
1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT”
รู้หรือไม่ว่า “EleX by EGAT” สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าได้ถึง 120 kW
และสามารถต่อยอดพัฒนาถึง 350 kW พร้อมกับมีแรงดันสูง 920 VDC
หลายคนอาจจะงงกับข้อมูลตัวเลขนี้
แต่ถ้าอธิบายให้เห็นภาพก็คือ หากชาร์จแบบกระแสตรง DC จากแบตเตอรี่หมดเกลี้ยงจนเต็ม 100%
จะใช้เวลาแค่ 20 นาที
โดยภายในสิ้นปีนี้ จะมีถึง 48 สถานี ขณะเดียวกัน กฟผ. ก็ยังเปิดรับบริษัทเอกชน
ที่ต้องการทำธุรกิจสถานีชาร์จเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันจะมีกลุ่มธุรกิจ โรงพยาบาล, สถานีบริการน้ำมัน,
ร้านอาหาร เข้าร่วมเป็นพันธมิตร

และยังมองว่า ในอนาคตอันใกล้ ก็จะมีกลุ่มธุรกิจขนส่งจนถึง Food Delivery
เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น รถบรรทุก, มอเตอร์ไซค์, รถยนต์
โดย กฟผ. ก็ได้เตรียมโมเดลธุรกิจไว้รองรับ
2. App Elexa
สิ่งที่จะทำให้ EV Car วิ่งเต็มท้องถนนเมืองไทยได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
คงไม่ใช่แค่การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว
แต่ต้องทำให้รู้สึกว่าการใช้รถ EV Car เป็นเรื่องง่าย สะดวกสบาย
จึงเป็นที่มาของ Application ที่ชื่อว่า “Elexa” ที่จะทำให้ผู้ใช้ EV Car สะดวกสบาย
ตั้งแต่ค้นหาสถานี และจองการชาร์จ หรือแม้แต่จ่ายเงินผ่าน App ก็สามารถทำได้
3. EGAT Wallbox
หลายคนคงถามว่า เจ้าสิ่งนี้คืออะไร
หากอธิบายง่าย ๆ ก็คือ EGAT Wallbox จะเป็นกล่องขนาดเล็กดีไซน์เรียบหรู ที่ติดตั้งไว้ในบ้านเพื่อชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้แก่ EV Car
หรือหากบริษัทร้านค้าต่าง ๆ ต้องการนำไปติดตั้งเป็นธุรกิจก็สามารถทำได้
โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 53,000-250,000 บาท
ส่วนฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ ก็จะแตกต่างกันไปตามราคาของเครื่อง
โดยทาง กฟผ. ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่าย ติดตั้ง และซ่อมบำรุงเพียงรายเดียวในประเทศไทย
4. ระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า BackEN
ระบบนี้จะทำการเชื่อมต่อทั้งผู้ใช้ EV Car, สถานีชาร์จไฟ จนถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ารวมกัน
เพื่อให้ภาพรวมการทำงานในระบบมีประสิทธิภาพ และมีความเสถียรสูง
ถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าโมเดลธุรกิจของ กฟผ.
คือการแก้ Pain Point ทำลายกำแพงรอบด้านในเรื่องการชาร์จไฟฟ้าลงสู่รถ EV Car
และผลลัพธ์จากธุรกิจนี้ก็คือ การพัฒนาสาธารณูปโภคด้านระบบไฟฟ้าที่สนับสนุนให้ EV Ecosystem เกิดขึ้น และการสนับสนุนประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องผลักดันเรื่องนี้จริงจัง
ก็คือ การที่ภาครัฐต้องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเรื่องนี้หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า
ควันไอเสียรถยนต์จนถึงพาหนะอื่น ๆ ทั่วโลกได้สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็น 75%
จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และนำมาซึ่งภัยธรรมชาติต่าง ๆ
เพราะฉะนั้นการจะทำให้ในอนาคตถนนเมืองไทย ไร้ควันพิษ ไร้เสียงดังกวนใจ จากเครื่องยนต์ต่าง ๆ
จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ กฟผ. ให้ความสำคัญ
แม้จะไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
แต่ กฟผ. กำลังทำให้คนในประเทศไทยตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
ด้วยการสร้าง Ecosystem ในการชาร์จพลังงานไฟฟ้า
ตั้งแต่ในบ้าน จนถึงทุกแห่งหนบนท้องถนนเมืองไทย..
References -https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=2892158981019017
-บทสัมภาษณ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
-เอกสารข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.