กรณีศึกษา กับดักหุ้น P/E ต่ำ

กรณีศึกษา กับดักหุ้น P/E ต่ำ

23 พ.ย. 2021
กรณีศึกษา กับดักหุ้น P/E ต่ำ /โดย ลงทุนแมน
ในโลกของการลงทุนในหุ้น เรามักได้ยินหลายคนพูดกันว่า
“ให้ลงทุนในหุ้นที่ยังมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง”
โดยหนึ่งในเครื่องมือที่นักลงทุน นิยมหยิบมาใช้ประกอบการตัดสินใจ
ว่าราคาหุ้น หรือมูลค่าบริษัทนั้น ถูกหรือแพงไปหรือไม่
คือ อัตราส่วนราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Price-earnings ratio)
หรือที่เราเรียกกันว่า “P/E Ratio”
หลายคนมีความเข้าใจมาโดยตลอดว่า
ต้องพยายามซื้อหุ้นที่มี P/E Ratio ต่ำ ๆ
และพยายามหลีกเลี่ยงหุ้นที่ P/E Ratio สูง ๆ
แต่หลายครั้ง การลงทุนในหุ้น P/E ต่ำ
ก็อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างที่เราคาดหวัง
และบางกรณี ก็อาจถึงขนาดทำให้เราขาดทุนหนัก ๆ ได้ด้วยซ้ำ
ถ้าเป็นแบบนี้ หมายความว่า
นักลงทุนกำลังตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “กับดักหุ้น P/E ต่ำ”
แล้วเรื่องนี้ มีรายละเอียดน่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
มาทำความเข้าใจกับคำว่าค่า P/E Ratio กันก่อนสักนิด..
P/E คือ ราคาตลาดของหุ้น เทียบกับ กำไรต่อหุ้น
เช่น ถ้าหุ้นบริษัท A ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1 บาท
ก็หมายความว่า P/E Ratio ของบริษัท A เท่ากับ 10 เท่า
ซึ่งถ้าตีความแบบตรง ๆ ก็จะได้ว่า
เราจะได้กำไรจนเท่าทุนที่ลงทุนไป เมื่อถือหุ้น A ครบ 10 ปี ถ้าหุ้นตัวนั้นทำกำไรเท่าเดิมไปเรื่อย ๆ
P/E Ratio ยังแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1) Trailing P/E (หรือค่า P/E ย้อนหลัง) ซึ่งคำนวณมาจาก กำไรย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุดของบริษัท
2) Forward P/E (หรือค่า P/E ล่วงหน้า) ซึ่งคำนวณจาก การคาดการณ์กำไรในอนาคต
โดยประโยชน์ข้อสำคัญของ P/E Ratio คือเราสามารถใช้อัตราส่วนนี้ เปรียบเทียบกันระหว่างบริษัทที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กัน หรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อดูว่าหุ้นของบริษัทไหน ถูกกว่าหรือแพงกว่าได้
ตัวอย่างเช่น
- หุ้นบริษัท A ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1 บาท P/E Ratio จะเท่ากับ 10 เท่า
- หุ้นบริษัท B ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2 บาท P/E Ratio จะเท่ากับ 5 เท่า
หมายความว่าถ้าเทียบกันแล้ว นักลงทุนให้มูลค่ากับหุ้นบริษัท A สูงกว่าบริษัท B โดยเปรียบเทียบ
และนี่ก็คือเหตุผลเชิงทฤษฎี ที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า ควรซื้อหุ้น P/E ต่ำ ๆ และหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น P/E สูง เพราะจะมีราคาแพง
แต่ในความเป็นจริง การซื้อหุ้น P/E ต่ำ ๆ อาจทำให้เราขาดทุนได้
เพราะ P/E Ratio ที่เราเชื่อว่าจ่ายในราคาถูกนั้น แต่ของที่เราได้มาอาจเป็นของที่ไม่ดี
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจอหุ้นตัวหนึ่ง ซื้อขายกันที่หุ้นละ 100 บาท ขณะที่กำไรต่อหุ้นปีล่าสุดเท่ากับ 10 บาท
P/E Ratio ในกรณีนี้จึงเท่ากับ 10 เท่า
สมมติว่า ค่าเฉลี่ยของ P/E Ratio ของหุ้นตัวนี้ ย้อนหลังไป 5 ปี เท่ากับ 15 เท่า
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เราจึงตัดสินใจซื้อหุ้นตัวนี้ไป
เพราะเชื่อว่ามูลค่าหุ้นปัจจุบันนั้น ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น
แต่ถ้ากำไรต่อหุ้นของบริษัทนี้ยังลดลงอีกในอนาคต เช่นเหลือ 5 บาทต่อหุ้น ก็จะทำให้ P/E 10 เท่าที่เราซื้อจะกลายเป็น 20 เท่า ซึ่งย่อมทำให้ราคาหุ้นต้องลดลงในเวลาต่อมา และนั่นแปลว่าเราได้ติดกับดักหุ้น P/E ต่ำ ไปเรียบร้อยแล้ว..
คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วหุ้นประเภทไหนบ้างที่อาจทำให้เราต้องติดกับดักที่ว่านี้ ?
ยกตัวอย่างก็เช่น
- หุ้นวัฏจักร
เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ หรือหุ้นที่มีเหตุการณ์บางอย่างมากระทบในระยะสั้น ๆ ทำให้ผลประกอบการขึ้นลงเป็นรอบ ๆ
ในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเป็นขาขึ้น กำไรของบริษัทอาจเติบโตมหาศาล ทำให้ P/E Ratio นั้นต่ำมาก จนเราเชื่อว่า ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น
แต่ประเด็นคือ หากเราประเมินผิด แล้วเข้าไปลงทุนในตอนที่กำไรของบริษัทกำลังอยู่ในจุดพีก และเตรียมจะปรับตัวลงตามรอบวัฏจักร
สิ่งที่จะตามมาก็คือ P/E Ratio ก็จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนนักลงทุนต้องเทขายหุ้นตัวนั้นออกไป และสุดท้ายก็จะสร้างความเสียหายอย่างหนักกับคนที่เข้าไปลงทุนผิดเวลา
- หุ้นของบริษัทที่กำลังอยู่ในอุตสาหกรรมถดถอย หรืออิ่มตัว
ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ ที่โดนสื่อในยุคดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์ จนทำให้หลายบริษัทบาดเจ็บอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายได้และกำไรค่อย ๆ ลดลง
เรื่องนี้ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง และทำให้ P/E Ratio นั้นสามารถมีค่าต่ำมาก ๆ ได้เช่นกัน
ซึ่งถ้าเราไม่ได้คำนึงถึง หรือไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงบางอย่างภายในอุตสาหกรรม แล้วไปซื้อหุ้นเพราะเห็นว่า P/E ต่ำ ก็อาจสร้างหายนะแก่ตัวเราได้เหมือนกัน
ดังนั้น ถ้าวันนี้เรากำลังเห็นหุ้นที่มี P/E Ratio ต่ำ
ให้คิดเสมอว่า ต้องวิเคราะห์สภาพธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้นอยู่ให้ดีด้วย
เพราะสุดท้ายมันก็คล้ายกับที่เราซื้อสินค้าในตลาด
ที่คนมักจะบอกกันว่า
ของดีมักไม่ถูก ของถูกมักไม่ดี..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.lehnerinvestments.com/en/value-traps-cheap-stocks-not-always-good-investments/
-https://www.set.or.th/set/education/html.do?innerMenuId=18&name=decode_search_invest_16
-https://www.investopedia.com/ask/answers/05/lowperatiostocksbetterinvestments.asp
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.